โลกาภิวัตน์ของการวิจัยและพัฒนา : ความรู้ และวิธีการสร้างความรู้

โลกาภิวัตน์ของการวิจัยและพัฒนา : ความรู้ และวิธีการสร้างความรู้

เวทีเครือข่ายนักวิจัยเพื่อสังคม (Rnet Forum) ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดเวทีพูดคุยเรื่อง “โลกาภิวัฒน์ของการวิจัยและพัฒนา : ความรุ้และวิธีการสร้างความรู้” ซึ่งเปิดประเด็นด้วยทัศนะ มุมมอง จากอาจารย์เสน่ห์ จามริก ด้วยเรื่อง การขอให้นักวิชาการ นักวิจัยลองทบทวน ประเมิน และชี้ถึงที่มาของสิ่งที่เรียกว่า “สภาวะความรู้” ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งเป็นความรู้ที่เราเอาเข้ามาจากสังคมอุตสาหกรรมเป็นหลัก สภาวะความรู้นั้นได้นำไปสู่อะไรบ้าง ถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่ เพราะอะไร

ประเด็นต่อมาคือ เมื่อจะเอาความรู้นี้มาประยุกต์ใช้กับสังคมไทย ทางเลือกควรจะเป็นอย่างไร จึงจะเหมาะสมในสภาพความเป็นจริง โดยเฉพาะในประเด็นหลัง ในวงเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์ กันอย่างกว้างขวาง อาทิ การตั้งโจทย์ในการวิจัยหรือโจทย์ในกระบวนการเรียนการสอน เรื่องของกระบวนการที่ทำให้การเรียนรู้หรือสร้างความรู้นั้น สอดคล้องกับความเป็นจริง และตอบสนองต่อสังคม เรื่องการสร้างผลกระทบหรือการนำผลงานวิจัยไปใช้ เป็นต้น เพราะฉะนั้นเรื่องระบบความรู้นั้นเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่ง ในยุคที่เรียกกันว่า “สังคมฐานความรู้”

จุดบอดของสภาวะความรู้

อาจารย์เสน่ห์ ชี้ว่า ด้วยวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ในการจัดระบบความรู้ ระบบการศึกษาแบบแยกสาขา แยกศาสตร์ (Discipline) ต่างๆ ทำให้ระบบการศึกษาหรือการวิจัยของบ้านเราถูกจำกัดอยู่เฉพาะด้าน เฉพาะสาขา เหมือนม้าแข่ง ที่ถูกบังคับให้วิ่งแต่ในลู่ กลายเป็นจุดบอดของสภาวะความรู้ที่เราเป็นอยู่ ซึ่งได้สร้างความเสื่อมให้กับชีวิตของผู้คนในสังคม รวมทั้งฐานทรัพยากรและสภาพแวดล้อมด้วย รากฐานของสภาวะความรู้ดังกล่าวย่อมมีที่มา และจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดการปฏิวัติทางความคิดครั้งใหญ่ และเกิดการคิดค้นความรู้ในทางฟิสิกส์ขึ้น สิ่งที่เรียกว่า วัฒนาธรรมทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นผลจาการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ก็คือ การแยกจิตกับสสารออกจากกัน อันเป็นการแตกหักจากการเรียนรู้ในอดีต ที่เรื่องจิตกับสสารหรือวัตถุไม่ได้แยกออกจากกัน วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องวัตถุแท้ๆ เป็นเรื่องที่อยู่นอกจิตใจ หรือมีสภาวะเป็นกลาง นอกจากนี้ยังมองว่า สิ่งที่เป็นสสาร เป็นกายภาพ เป็นสิ่งที่เราใช้ความรู้ไปควบคุม หรือ ล้วง รีด ความจริงจากธรรมชาติได้ รวมทั้ง ความรู้นี้ก็สามารถวัดได้ และความรู้จากฟิสิกส์นี้เอง

ต่อมาก็เป็นฐานให้กับศาสตร์อื่นๆ ทางด้านสังคม โดยสาขาวิชาแรกก็คือ เศรษฐศาสตร์ ฉะนั้นจากลัทธิทางวิทยาศาสตร์ก็นำมาสู่กระบวนทัศน์ทางสังคม ที่ให้คุณค่าความสำคัญของคนในฐานะที่เป็นปัจเจก เกิดความเชื่อมั่นในตนเองว่า สามารถที่จะควบคุมธรรมชาติได้ แล้วก็เอาเรื่องของแรงจูงใจ ที่อยากได้ใคร่มีของมนุษย์มาเป็นปมสำคัญในการศึกษาเรื่องเศรษฐกิจ

คำถามคือ ทำไมโลกของวิทยาศาสตร์ หยุดอยู่กับที่ การมองเห็นเรื่องของสสาร วัตถุ เป็นเรื่องที่แยกออกจากจิตใจ

วิทยาศาสตร์เป็นกลาง ทั้งๆ ที่จริง ในความรู้ทางฟิสิกส์ การเกิดขึ้นของทฤษฎีควอนตัมได้ช่วยหักล้างความคิดเดิม โดยชี้ให้เห็นว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้อยู่อย่างอิสระ แต่โยงกับจิตใจของคน แต่การคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ในกระบวนการเรียนรู้แบบควอนตัม ก็ถูกทำให้ชะงักลง อ.เสน่ห์ มองว่า เป็นเพราะเกิดเหตุการณ์สำคัญคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรม และโลกมาถึงจุดเปลี่ยนเข้าสู่ยุคล่าอาณานิคม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จึงได้ถูกทุนอุตสาหกรรมเอาไปใช้เพื่อแผ่อำนาจ

ดังนั้นด้วยการเรียนรู้ตามวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ของตะวันตก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มองชีวิตในลักษณะที่แยกส่วน ก็เป็นที่มาที่ไปของการจัดระบบการเรียนรู้แบบแยกศาสตร์ แยกคณะ ส่งเสริมความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านขึ้น ขณะเดียวกันความรู้ตรงนี้ก็ไปประสานเข้ากับระบบอำนาจเศรษฐกิจการเมือง อันเป็นปมสำคัญ ที่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์แบบควอนตัม

ทุกวันนี้เราจึงเห็นว่า การค้นคว้าวิจัยทดลองทางวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้ที่อยู่ภายใต้การครอบงำของลัทธิทุนอุตสาหกรรมนิยมเป็นหลัก ที่มีเป้าหมายคือ การสร้างผลกำไรสูงสุดหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ พร้อมๆ กับที่ระบบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ที่เป็นกระบวนการวิถีชีวิตร่วมกันก็หายไปจากระบบการเรียนรู้ของเรา

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาจัดระบบความรู้เสียใหม่ ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้สอดคล้องกับความจริง ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจาก Discipline หรือวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่แยกส่วน แล้วเอาชีวิตจริง เอาชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องขององค์รวม วิถีชีวิต วัฒนธรรม ธรรมชาติแวดล้อม เป็นเป้าหมายของการศึกษาและวิจัย พร้อมทั้งให้คุณค่ากับความรู้ในวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะ “ความรู้ประเพณี” ( traditional knowledge) แล้วผสมผสานกับความรู้สมัยใหม่ นำมาเชื่อมโยงกับชีวิตที่เป็นองค์รวมให้ได้ ตรงนี้เองที่อาจารย์เน้นย้ำความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า “ฐานคิด” ในการศึกษา วิจัย ซึ่งต้องมาจากฐานทางความคิดของเรา ในวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่มองเป็นองค์รวม สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยที่เป็น “สังคมฐานทรัพยากรเขตร้อนของโลก”

——————————————————————————–

ทำความรู้จักกับศักยภาพภายใน : การสร้างความรู้ในทิศทางไท

ที่สำคัญในการศึกษา วิจัย จะต้องเน้นความสำคัญของการตั้งโจทย์แบบ Inside out หมายถึง เรียนให้รู้จักตัวเอง เพื่อที่จะได้สามารถคัดสรรสิ่งที่เป็นไปภายนอกมาเป็นประโยชน์กับตัวเอง แต่ที่ผ่านมา กระบวนการเรียนรู้ของเราเป็นแบบ outside in หรือการเอาสิ่งที่เป็นความต้องการภายนอกมาเป็นตัวกำหนดการเรียนรู้ กำหนดนโยบายของประเทศเรา และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมไทยถลำลงไปในวิถีการพัฒนา เพราะการไม่เรียนรู้ และรู้จักตัวเอง

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นในการวิจัยหรือในกระบวนการเรียนการสอนของเรา จะต้องตั้งโจทย์ที่ทำความรู้จัก กับศักยภาพภายในของสังคมเราให้มากๆ ในเรื่องของการศึกษา การวิจัย นอกจากประเด็นเรื่อง “ฐานคิด” ต่อการมองสถานการณ์ ความเข้าใจในแผ่นดินหรือบริบทของสังคมไทย เราเอง ที่ทำให้เราตั้งโจทย์และวิจัยตอบสนองความเป็นจริงของสังคม ได้มากกว่าแล้ว

ประเด็นที่พูดถึงกันมาก คือเรื่องกระบวนการ วิธีการ ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ดังกล่าว ก็คือ การเข้าไปสัมผัสกับชีวิตชุมชน ความเป็นจริงทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นในระดับของการวิจัย หรือการเรียนรู้ของนักศึกษาก็ตาม เช่น ในการวิจัยมีการพูดถึง Research methodology ที่เรียกว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ที่ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น รวมไปถึงการรายงาน ผลการวิจัยกลับไปยังชุมชน ในระดับการเรียนการสอนแบบให้นักศึกษาตั้งโจทย์หรือคำถาม ฝึกแสวงหาความรู้หรือสำรวจความรู้ที่มีอยู่แล้ว ฝึกทำงานวิจัย หรือการประยุกต์งานวิจัยเข้ามาสู่กระบวนการเรียนการสอน กระบวนการค่าย ที่ทำให้นักศึกษาออกไปสัมผัสชีวิตชุมชน เป็นต้น

และอีกประเด็นที่มีการพูดถึงกันมาก็คือ การใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ที่สำคัญคือ ในกระบวนการทำวิจัยนั้นน่าจะได้ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้กับคนที่เราไปทำวิจัย ในจุดนั้น พื้นที่นั้น จุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนหรือทำอย่างไรที่จะสื่อสารความรู้จากงานวิจัยให้เป็นประโยชน์กับนโยบายสาธารณะ หรือให้เกิดปฏิบัติการทางสังคม

ในประเด็นนี้ อาจารย์เสน่ห์ ได้ชี้ให้เห็นว่า เราจำเป็นต้องมองว่า “การวิจัยเป็นกระบวนการทางสังคม” ดังนั้น ในการวิจัยเราจำเป็นต้องตื่นต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง แล้วเอามาเป็นองค์ประกอบในการตั้งโจทย์ ด้วยเหตุนี้การสร้างความรู้ กระบวนการเรียนรู้ไม่มีทางจะหยุดนิ่งได้ และที่สำคัญก็คือ การวิจัยนั้นได้นำไปสู่นโยบายสาธารณะ ที่ไม่ใช่เพียงการนำเสนอให้ผู้มีอำนาจทำ แต่หมายถึงการสร้าง “กระบวนการทางสังคม” นั่นคือ การสร้างชุดความรู้ให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ให้กับชุมชน.

Be the first to comment on "โลกาภิวัตน์ของการวิจัยและพัฒนา : ความรู้ และวิธีการสร้างความรู้"

Leave a comment

Your email address will not be published.