ในบทนิยามของกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม

“ผลงานวิจัยและนวัตกรรม หมายความว่า ข้อค้นพบหรือผลที่เกิดขึ้นจากการวิจัยหรือ การสร้างนวัตกรรม โดยการค้นคว้า การทดลอง การสำรวจหรือการศึกษา รวมถึงองค์ความรู้ การประดิษฐ์ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ กระบวนการบริการ หรือการจัดการในรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่หรือพัฒนา ให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญและนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ก็ตาม”
มีข้อสังเกตว่าถ้อยคำว่า “องค์ความรู้…กระบวนการบริการ หรือการจัดการในรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นสิ่งใหม่หรือพัฒนา …” ควรมีการระบุให้ชัดเจนมากกว่านี้ เนื่องจากปัจจุบันองค์ความรู้เกี่ยวกับ“กระบวนการบริการหรือการจัดการในรูปแบบใหม่” ถือว่าเป็นศาสตร์ทั่วไปที่มีการศึกษาหรือการวิจัย และอยู่ในหลักสูตรการศึกษาของสถาบันการศึกษาต่างๆเป็นจำนวนมาก หากระบุไว้ในลักษณะเช่นนี้ อาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายในอนาคตมีการตีความที่แตกต่างกัน และกระทบต่อผลแห่งการบังคับใช้กฎหมายได้ในระยะยาว
รวมถึงคำว่า “ข้อค้นพบ” ก็ควรให้ครอบคลุมงานลักษณะที่เป็นข้อค้นพบทางผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรหรืออื่น ๆ เช่น ข้อค้นพบวิธีการปรับปรุงพันธุ์พืช งานวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช-สัตว์ หรือข้อค้นพบอื่น ๆ เป็นต้น
ในด้านผู้รับทุน สาระสำคัญของข้อสัญญาระหว่าง “ผู้ให้ทุน” กับ “ผู้รับทุน” ตามมาตรา 6 มีข้อเสนอแนะให้แยกเป็น 2 แนวทางเพื่อให้การบริหารจัดการมีความชัดเจน ดังนี้
แนวทางที่ ๑ เปิดโอกาสให้บุคคล ซึ่งมิใช่ผู้มีตำแหน่งทางวิชาการ ร่วมเป็นผู้รับทุนหรือร่วมวิจัยด้วย เนื่องจากเป็นผู้ที่มีอาชีพหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรงของเรื่องนั้นๆ เช่น กรณีเกษตรกรผู้ค้นพบเครื่องขุดมันสำปะหลัง หรือกรณีเกษตรกรปาล์มน้ำมันผู้ค้นพบเมล็ดสายพันธุ์ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ให้ทุน อาจเลือกผู้รับทุนในกรณีมิใช่ผู้ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ ให้สามารถเข้าสู่ระบบทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้
แนวทางที่ ๒ สำหรับผู้มีตำแหน่งทางวิชาการ นักวิจัยหัวหน้าโครงการ ต้องมีตำแหน่งทางวิชาการในระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไป โดยทำงานเป็นทีม มีผู้ร่วมวิจัยตั้งแต่ ๘ คนขึ้นไป และควรระบุให้หัวหน้าโครงการต้องมีประสบการณ์ในการทำงานวิจัย ตั้งแต่ ๖ – ๑๐ ปี
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง และเพื่อป้องกันและขจัดการให้ทุนวิจัยแก่นักวิจัยในเชิงอุปถัมภ์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และนำไปใช้ได้อย่างแท้จริง.
ในส่วนของนักวิจัย ควรต้องระบุเงื่อนไขคุณสมบัติที่ชัดเจนว่า
(๑) มีการพัฒนาโจทย์วิจัยมาจากผู้ประกอบการโดยตรง (๒) ศึกษาถึงช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ (๓) สามารถสร้างผลงานวิจัยที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ได้จริง (๔) ให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยและร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ผลงานวิจัยออกมาในแบบที่ต้องการและให้เกิดความภาคภูมิใจของผู้ประกอบการ (๕) สร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจกับผู้ประกอบการว่าผลงานวิจัยที่ออกมาสามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้จริง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า(ร่าง)พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ…มีเจตนารมณ์ที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ในร่างมาตรา 4 ก็ยังมีงานวิจัยอีกส่วนหนึ่งที่ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายฉบับนี้
ในบางสถานการณ์ เช่นการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 หรือภาวะสงคราม ประเทศชาติอาจจำเป็นต้องใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเหล่านี้ แต่เนื่องจากกระบวนการขั้นตอนในการดำเนินการขอใช้ประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในร่างมาตรา 18 มีความยุ่งยากและไม่สามารถดำเนินการได้ทันต่อสถานการณ์ จึงเสนอแนะให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้หน่วยงานรัฐหรือมหาวิทยาลัยนั้นๆสามารถอนุญาตให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยเป็นเจ้าของหรือใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นได้โดยตรง หากเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยเฉพาะการให้บริการของภาครัฐ.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 4 ต.ค. 2564