กลยุทธ์แห่ง จูเลียส ซีซาร์

Table of Contents

จุดกำเนิดกรุงโรม

บริเวณที่ตั้งและภูมิประเทศของกรุงโรม ตั้งอยู่ทางตอนกลางของคาบสมุทรอิตาลี เป็นหุบเขาขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 3 ตารางไมล์ ประกอบด้วยเนินเขา 7 ลูกและแม่น้ำ 2 สายมาบรรจบกัน มีชุมชนขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำไทเบอร์ (Tiber) และแม่น้ำอานีอาเน่ (Aneane) ห่างจากฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน 24 กิโลเมตร

การศึกษาทางโบราณคดียืนยันว่า ในบริเวณนี้เคยมีมนุษย์ตั้งถิ่นฐานอยู่มานานตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ ไม่ต่ำกว่า 14,000 ปี

ตามตำนานกล่าวว่า กรุงโรมตั้งขึ้นเมื่อ 753 ปี ก่อนคริสตกาล โดยพี่น้องฝาแฝดชื่อ รอมิวรุสและรีมัส ซึ่งเป็นบุตรของเทพเจ้ามาร์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม เมื่อตอนเป็นทารกทั้ง ๒ ถูกลุงจับลอยน้ำในแม่น้ำไทเบอร์ เพื่อให้จมน้ำตาย แต่หมาป่าได้ช่วยเหลือและนำไปเลี้ยงดู เมื่อทั้ง๒ เจริญเติบโตขึ้นจึงกลับมาฆ่าลุงและสร้างกรุงโรม

นักประพันธ์ ชื่อซิเซโร บรรยายจุดเริ่มต้นของกรุงโรมไว้ดังนี้  “ในที่สุดแล้วดูเหมือนว่ารอมิวรุสคงได้นิมิตรจากสวรรค์ตั้งแต่แรกว่าเมืองนี้ในวันหนึ่งจะเป็นที่ตั้งและเป็นบ้านของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ เพราะมีน้อยนักที่เมืองจะตั้งอยู่ในตำแหน่งใดๆ ของอิตาลีที่จะทำให้การบำรุงรักษาดินแดนในการปกครองอันกว้างใหญ่ไพศาลของเราในปัจจุบันทำได้อย่างง่ายดายไปกว่านี้”

ต่อมาบ้านเมืองเจริญขึ้น จึงมีผู้คนเข้ามาตั้งรกรากสมทบขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นเมือง กรุงโรม ศูนย์กลางของอำนาจการปกครองจักรวรรดิโรมันที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก มีบันทึกว่ากรุงโรมก่อตั้งในวันที่ 21 เมษายน ปี -752 B.C. หรือ 752 ปีก่อนค.ศ. มีประชากรอาศัยอยู่ในบริเวณรอบๆนั้นประมาณ 2.5-4.3 ล้านคน

กรุงโรม ในประเทศอิตาลี ครั้งหนึ่งเคยมีกษัตริย์ปกครอง ต่อมา ๕๐๙ ก่อนคริสตกาล กษัตริย์ทาควิน ผู้เย่อหยิ่งถูกขับออกจากเมืองทำให้โรมกลายเป็นสาธารณรัฐ ตั้งแต่นั้นมาโรมก็เข้มแข็งขึ้นและมีอำนาจปกครองประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นจักรวรรดิโรมันก็ขยายอาณาเขตไปทั่วทั้งยุโรป แอฟริกาเหนือและทั่วทั้งเอเชีย ปัจจุบันการใช้กำลังเพื่อยึดครองประเทศอื่นถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ชาวโรมันเชื่อว่าการนำเอาอารย-ธรรมไปสู่คนป่าเถื่อน 1 ตำนานการเกิดจักรวรรดิโรมัน

ตามตำนานของโรมันนั้น กรุงโรมตั้งขึ้นเมื่อ 753 ปี ก่อนคริสตกาล โดยพี่น้องฝาแฝดชื่อ รอมิวรุสและรีมัส ซึ่งเป็นบุตรของเทพเจ้ามาร์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม เมื่อตอนเป็นทารกทั้งสอง ถูกลุงจับลอยน้ำในแม่น้ำไตเบอร์ เพื่อให้จมน้ำตาย แต่หมาป่าได้ช่วยเหลือและนำไปเลี้ยงดู เมื่อทั้งสอง เจริญเติบโตขึ้นจึงกลับมาฆ่าลุงและสร้างกรุงโรม นักประพันธ์ ชื่อซิเซโร บรรยายจุดเริ่มต้นของกรุงโรมไว้ดังนี้  “ในที่สุดแล้วดูเหมือนว่ารอมิวรุสคงได้นิมิตรจากสวรรค์ตั้งแต่แรกว่าเมืองนี้ในวันหนึ่งจะเป็นที่ตั้งและเป็นบ้านของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ เพราะมีน้อยนักที่เมืองจะตั้งอยู่ในตำแหน่งใดๆ ของอิตาลีที่จะทำให้การบำรุงรักษาดินแดนในการปกครองอันกว้างใหญ่ไพศาลของเราในปัจจุบันทำได้อย่างง่ายดายไปกว่านี้”

 

การปกครองของอาณาจักรโรมัน

แม้ว่าจะไม่สามารถระบุได้ว่า ระบอบการปกครองโรมเริ่มตั้งแต่เมื่อไร และผู้ปกครองคนแรกคือใคร แต่กล่าวกันว่า กรุงโรมครั้งหนึ่งเคยมีกษัตริย์ปกครอง ต่อมา 509ปี ก่อนคริสตกาล กษัตริย์ทาควิน ผู้เย่อหยิ่งถูกขับออกจากเมืองทำให้โรมกลายเป็นสาธารณรัฐ ตั้งแต่นั้นมาโรมก็เข้มแข็งขึ้นและมีอำนาจปกครองประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นจักรวรรดิโรมันก็ขยายอาณาเขตไปทั่วทั้งยุโรป แอฟริกาเหนือและทั่วทั้งเอเชีย ปัจจุบันการใช้กำลังเพื่อยึดครองประเทศอื่นถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ชาวโรมันเชื่อว่าเป็นการนำเอาอารยธรรมไปสู่คนป่าเถื่อน

ระบอบราชาธิปไตยของกรุงโรมมาสิ้นสุดในปี -509 ก่อนคริสตกาล(B.C.) เมื่อกรุงโรมเปลี่ยนมาเป็นระบอบสาธารณรัฐ (Republic) ปกครองโดยสภา Senate หรือ วุฒิสภา อันเป็นคณะพรรคที่ประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มผู้ปกครองที่เป็นชนชั้นสูง ซึ่งจะเข้ามาใช้อำนาจบริหารและปกป้องผลประโยชน์ของชั้นชั้นสูงและส่วนรวม

และยุคของสาธารณรัฐของโรมัน ซึ่งประชาธิปไตยของชนชั้นสูงและคณะพรรค ก็มาสิ้นสุดลงจากการจุดประกายและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของบุรุษผู้มีชื่อว่า จูเลียส ซีซาร์ ในปี – 44 B.C. เมื่อเขาได้ประกาศตนเป็นผู้เผด็จการ Dictator ตลอดพระชนม์ชีพ ตามมาด้วยการถูกลอบสังหารและการพ่ายแพ้ของมาร์ค แอนโทนี ผู้เป็นทายาททางการเมือง ที่สมรภูมิแอคตาวิอุม และการประกาศของสภาซีเนท สถาปนาอ็อกตาวิอุส ผู้ชนะสงครามกลางเมือง เป็นจักรพรรดิออกุสตุสพระองค์แรกในปี -27 B.C. นับเป็นจุดเปลี่ยน จากสาธารณรัฐสู่ยุคจักรวรรดิโรมัน

จักรวรรดิโรมันที่มีกรุงโรมเป็นศูนย์กลางอำนาจ ได้ครองความยิ่งใหญ่เรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 5 จึงเปลี่ยนไปเป็นจักรวรรดิไบแซนไทม์ และย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งยังคงความเจริญรุ่งเรืองต่อมาอีกหนึ่งพันปี จนถึงศตวรรษที่ 15 ก็ถูกจักรวรรดิอ็อตโตมานของชาวเติร์กเข้ามาแทนที่(ค.ศ.1453)

 

สภาพสังคมโรมัน

Rome  มีพลเมืองมากกว่า 1 ล้านคน  ชาวโรมเป็นทาสเสียประมาณร้อยละ 5  พวกชนชั้นสูงสุด ได้แก่ ตระกูล เซเนเตอร์ มีความเป็นอยู่โอ่อ่า  คนจนมีความเป็นอยู่แร้นแค้น  ชาวโรมันนิยมที่อาบน้ำสาธารณะและการกีฬา  กีฬาที่นิยมกันมากได้แก่การแข่งขันรถศึกที่ Circus Maximus  ซึ่งเป็นสถานที่จุคนดูประมาณ 150,000  คน

กีฬาที่นิยมกันแต่ถือว่าป่าเถื่อนคือการต่อสู้แบบกลาดิเอเตอร์  ตามสนามแข่งขันสนามใหญ่ที่สุดได้แก่ โคลอสเซียมในกรุงโรม  ในการบันเทิงแบบนี้มีการต่อสู้ระหว่างสัตว์กับนักสู้ถืออาวุธ  หรือแม้แต่ชายกับหญิงมือเปล่าซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตแล้ว  ต่อสู้กันถึงตาย

Credit Photo by  https://tnahra.files.wordpress.com/2008/11/circusmaximus.jpg

 

Circus Maximus  Credit Photo by https://tnahra.files.wordpress.com/2008/11/circus1.jpg

 

จูเลียส ซีซาร์

จูเลียส ซีซาร์ เป็นวีรบุรุษนักรบที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรโรมันในสมัยโบราณ ชื่อเสียงของซีซาร์ถูกเล่าขานและบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกกว่า 2000 ปีมาแล้ว

ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า  จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) เป็นทั้งรัฐบุรุษ แม่ทัพ และผู้ประพันธ์ร้อยแก้วอันเลื่องชื่อชาวโรมัน  เขามีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์อันนำไปสู่การสิ้นสุดสาธารณรัฐโรมันและความเจริญของจักรวรรดิโรมัน ในยุค 60 ปีก่อน ค.ศ.

ชัยชนะของซีซาร์ในสงครามกอล  ทำให้สามารถขยายดินแดนของโรมันไปจนถึงช่องแคบอังกฤษและแม่น้ำไรน์  ซีซาร์เป็นแม่ทัพโรมันคนแรกที่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำไรน์และบุกครองบริเตน  ความสำเร็จเหล่านี้ทำให้เขามีอำนาจทางทหารซึ่งไม่มีผู้ใดเทียม  แต่เมื่อสงครามกอลยุติ วุฒิสภาสั่งซีซาร์ให้ลงจากตำแหน่งบังคับบัญชาทหารของเขาและกลับกรุงโรม

ซีซาร์ปฏิเสธคำสั่งนั้นและท้าทายโดยการข้ามรูบิคอน พร้อมด้วยทหารหนึ่งลีเจียน  ทิ้งมณฑลของเขาและเข้าอิตาลีภายใต้อาวุธอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย  จึงเกิดสงครามกลางเมืองตามมา และชัยชนะของซีซาร์ในสงครามทำให้เขามีฐานะอำนาจและอิทธิพลโดยไร้คู่แข่ง

หลังเข้าควบคุมรัฐบาล ซีซาร์เริ่มโครงการปฏิรูปสังคมและรัฐบาล รวมทั้งการสถาปนาปฏิทินจูเลียน เขารวมระบบข้าราชการประจำของสาธารณรัฐเข้าสู่ศูนย์กลางและสุดท้ายประกาศตนเป็น “ผู้เผด็จการตลอดชีพ” ทำให้เขายิ่งมีอำนาจมากขึ้นไปอีก แต่ความขัดแย้งทางการเมืองใต้น้ำยังไม่สงบ

 

ในที่สุด ซีซาร์ถูกกลุ่มสมาชิกวุฒิสภากบฏลอบสังหาร มีบรูตุส บุตรบุญธรรมของเขาร่วมอยู่ด้วย  จึงปรากฏคำพูดของเขาเป็นประโยคสุดท้าย ที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ เป็นภาษาละตินว่า “Et tu Brute” (เจ้าเองหรือ บรูตุส)

คนรู้จักชีวิตส่วนมากของซีซาร์จากบันทึกการทัพของเขาเองและจากแหล่งข้อมูลร่วมสมัยอื่น ส่วนใหญ่เป็นจดหมายและสุนทรพจน์ของกิแกโรและงานเขียนประวัติศาสตร์ของแซลลัสต์ (Sallust)  นักประวัติศาสตร์หลายคนถือซีซาร์เป็นผู้บัญชาการทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์คนหนึ่ง

นามของซีซาร์ถูกใช้ในความหมายถึงสิ่งที่ยิ่งใหญและเป็นแรงบันดาลใจที่นำไปใช้เรียกตำแหน่งจักรพรรดิซาร์ แห่งจักรวรรดิรัสเซีย และจักรพรรดิไกเซอร์ แห่งจักรวรรดิปรัสเซียหรือเยอรมัน

 

จูเลียส ซีซาร์ มีกลยุทธ์อะไร และสามารถสร้างความยิ่งใหญ่เช่นนี้ ขึ้นมาได้อย่างไร

จูเลียส ซีซ่าร์ เป็นลูกผู้ดี เป็นชนชั้นปกครองของกรุงโรม แต่ต้องมาตกอับเพราะผู้เป็นพ่อเลือกข้างผิดในสงครามกลางเมืองของโรมในยุคนั้น เมื่อพ่ายแพ้จึงทำให้ถูกยึดทรัพย์สินทั้งหมด ครอบครัวถูกดูถูกเหยียดหยาม สู้ทน

รับสภาพความขมขื่น และยากลำบากจนถึงที่สุด

ซีซาร์ ในวัย 16 ปี มีความเจ็บแค้น ขมขื่นฝังลึกอยู่ในจิตใจ และมีความทะเยอทะยานที่จะฟื้นคืนชื่อเสียง เกียรติภูมิของวงค์ตระกูลอยู่ตลอดเวลา เมื่อบวกกับลักษณะนิสัยที่มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เขาเลือกเส้นทางสร้างความสำเร็จโดยผ่านการเป็นนักรบที่ห้าวหาญในกองทัพโรมัน และไต่เต้าขึ้นมาจากทหารชั้นเลว

เมื่ออายุ 26 ปี เขามีผลงานการรบมากมายจนได้รับการยอมรับและไว้วางใจ รับแต่งตั้งให้เป็นนายทหารผู้กุมกองกำลัง พอดีในช่วงนั้นมีสถานการณ์กบฏทาสทางภาคใต้ ที่กำลังคุกคามความมั่นคงของกรุงโรม

เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่โด่งดังมาก  นำโดยสปาร์ตาคัส วีรบุรุษนักรบของชนชั้นทาสยุคโบราณ

 

กบฏทาส

กองทัพโรมัน เป็นเครื่องจักรสงครามที่ทรงพลานุภาพมาก สำหรับการรุกรานและขยายอาณาจักร ทำให้อำนาจกรุงโรมขยายออกไป จากพื้นที่ 3 ตารางไมล์ในหุบเขา กลายเป็น 720,000 ตารางไมล์ในยุคแรก และ 3.2 ล้านตารางไมล์รอบฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียนจนถึงตะวันออกกลาง ในระยะต่อมา

นอกจากทรัพย์สินสงครามที่ปล้นสะดมภ์กลับมาเข้าท้องพระคลัง และที่ดินทำกินที่นำมาแจกจ่ายเป็นรางวัลแก่บรรดาแม่ทัพ นายกองและทหารที่ไปร่วมรบแล้ว ยังมีเชลยสงครามและชาวบ้านฝ่ายตรงข้ามที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นทาส อีกราว 2 ล้านคน

ทาสเหล่านี้ เมื่อมาอยู่ที่กรุงโรม มีงานในสามอย่างที่ให้ทำ คือ

1)เป็นคนรับใช้ เป็นทาสรับใช้ในบ้าน

2)เป็นแกลดิเอเตอร์ รับใช้สังคมด้วยการสร้างความบันเทิง เพื่อแลกกับชีวิตและอิสรภาพ

3)เป็นแรงงานก่อสร้างโบสถ์ วิหาร บ้านเมืองและถนนหนทาง

ถนนเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอาณาจักร กองทัพโรมันได้ใช้กำลังแรงงานทาสในการสร้างถนน เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนพลออกรบ ส่งกองกำลังทหารไปควบคุมดูแล และใช้ขนส่งพืชพันธุ์ธัญญาหารส่งมาหล่อเลี้ยงกรุงโรม

กล่าวกันว่าวิศวกรรมการสร้างถนนแบบโรมันมีความก้าวหน้ามาก สามารถสร้างถนนได้โดยไม่ต้องปรับพื้น ซึ่งประมาณว่า ถนนที่กองทัพโรมันได้สร้างไว้เพื่อการเหล่านี้ มีความยาวรวมทั้งสิ้นถึง 50,000 ไมล์เลยทีเดียว

-81 B.C. หรือเมื่อ 81 ปีก่อนคริสตกาล (ค.ศ.) ทาสกลุ่มหนึ่งที่ทนต่อการกดขี่ข่มเหงไม่ไหว ลุกฮือขึ้นมาก่อกบฏ มีผู้นำเป็นทาสนักต่อสู้แกลดิเอเตอร์ที่เก่งฉกาจ ชื่อ สปาร์ตาคัส  การลุกขึ้นสู้ของกองทัพทาสได้ปลุกเร้าให้ทาสคนอื่นๆลุกขึ้นมาร่วมต่อสู้เพื่ออิสรภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กองกำลังจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีกำลังรวมราว 100,000 คน จนเป็นที่หวาดผวาของบรรดาทหารโรมัน

 

กองทัพกบฏทาส เริ่มก่อตัวจากคาบสมุทรอิตาลีตอนใต้ ขยายพื้นที่การต่อสู้ออกไป ยกกำลังเข้าโจมตีกองทหารโรมันจนแตกพ่ายครั้งแล้วครั้งเล่า มีจุดมุ่งหมายรุกคืบหน้ามุ่งเข้าสู่กรุงโรมด้วยความฮึกเหิม แต่ทว่าระหว่างทางยังมีกองทัพโรมัน 35,000 คนขวางทางอยู่ มีแม่ทัพใหญ่ คือ แคร็กซุส Craxus ส่วนจูเลียส ซีซาร์ ก็เป็นทหารประจำการในระดับนายกอง

 

การศึกที่ไซลาริอุส

B.C.-73 กองทัพทาสได้รุกคืบมาถึงเมือง Silalius  ฝ่ายทหารโรมัน ซึ่งกำลังขวัญเสียจากการพ่ายแพ้ฝ่ายกบฏอย่างต่อเนื่อง กำลังต้องตัดสินใจเลือกว่า จะตั้งมั่นปะทะกองทัพทาสเพื่อสะกัดกั้นไว้ที่นั่น ป้องกันไม่ให้บุกเข้าถึงกรุงโรม กับการยกกำลังถอยกลับไปสมทบกำลัง ร่วมกันปกป้องกรุงโรมจากการบุกเข้าตีเมืองหลวงของกองทัพทาส

แม่ทัพใหญ่ แคร็กซุส เรียกประชุมแม่ทัพนายกอง ส่วนใหญ่เห็นว่าคงสู้กองทัพทาสไม่ไหว ควรถอยกลับไปตั้งหลักป้องกันกรุงโรม รวมทั้งแคร็กซุสด้วยที่เห็นเช่นนั้น แต่ซีซาร์กลับเห็นต่าง โดยให้เหตุผลว่า “ ที่ผ่านมาโรมันรบในเกมที่สปาร์ตาคัสกำหนด เราต้องเปลี่ยนเป็นฝ่ายรุกเข้าโจมตีบ้าง”

 

เขาจึงเสนอยุทธวิธีใหม่ ให้เข้าโจมตีกองทัพกบฏแบบสายฟ้าแลบ แบบไม่ทันให้ตั้งตัว พร้อมกันนั้นก็เสนอตัวที่จะขอเป็นผู้นำกองกำลังที่แข็งแกร่งจำนวนน้อย บุกเข้าจู่โจมในเวลากลางดึก

ด้วยเคยเห็นในผลงานและความห้าวหาญของซีซาร์ ทำให้แม่ทัพแคร็กซุสเปลี่ยนใจ ยอมทำตามยุทธวิธีของซีซาร์ จึงเป็นที่มาของศึกครั้งสำคัญที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ที่ชื่อ Silalius Battle

ก่อนออกปฏิบัติการรบ ซีซาร์ ผู้มีภรรยาและลูกสาวสุดที่รักอายุ 15 ปี รออยู่ที่บ้าน ได้กล่าวปลุกขวัญทหารว่า   “ กองทัพทาสไม่มีอะไรจะสูญเสีย แต่พวกเรามีภรรยา ลูกสาว และครอบครัวอยู่ที่โรมเป็นเดิมพัน ถ้าเราแพ้ พวกเขาจะถูกข่มเหง ทุกข์ทรมานถึงที่สุด พวกเจ้าจะไปสู้กับข้าไหม เราจะสู้เพื่อภรรยาของเรา ลูกสาวของเรา และกรุงโรมของเรา”

และแล้ว ซีซาร์ได้เคลื่อนกำลังอย่างเงียบเชียบในเวลากลางคืน บุกเข้าจู่โจมกองทัพของสปาร์ตาคัสแบบไม่ให้ตั้งตัวทัน ในเวลาก่อนรุ่งสาง จนกองทัพทาสแตกพ่าย บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ที่เหลือถูกจับกุมเป็นเชลย ส่วนสปาร์ตาคัสถูกฆ่าตายแต่ไม่มีใครเห็นศพเขา จึงมีข่าวลือหนาหูว่าเขาสามารถหนีรอดไปได้ ทหารโรมันพยายามค้นหาตัวเท่าไร เค้นถามนักรบทาสคนไหน ต่างก็บอกว่าตัวเองคือสปาร์ตาคัสทั้งสิ้น

เมื่อจนปัญญาที่จะหาตัวสปาร์ตาคัสมาลงโทษ ดังนั้นเพื่อเป็นการลงโทษทัณฑ์ ตัดรากสปาร์ตาคัส และข่มขู่มิให้พวกกบฏทั้งหลายเอาเยี่ยงอย่าง แคร็กซุสจึงสั่งให้ประหารนักรบทาสทุกคนที่จับตัวได้ ด้วยการตอกแขนขาตรึงไม้กางเขนไปตลอดเส้นทางที่เข้าสู่กรุงโรม จำนวน 6,000 คน เว้นระยะห่างทุก 100 ฟุต เป็นระยะทางยาว 60 ไมล์พอดี

เรื่องนี้ซีซาร์เห็นต่าง แต่ขัดแคร็กซุสไม่ได้

 

การเมืองในกรุงโรม

ยังมีแม่ทัพใหญ่อีกคนหนึ่ง คุมกองทัพโรมันทางภาคตะวันออก ชื่อปอมปีย์ แมกนุส Pompey Maxnus เขาผู้นี้ก็มีเป้าหมายที่อยากจะสร้างผลงานเพื่อเป็นกงสุลแห่งกรุงโรม (นายกรัฐมนตรี) เป็นคู่แข่งกับแคร็กซุส

เมื่อทราบข่าวว่าสปาร์ตาคัสแตกพ่ายแล้ว และมีทหารทาสจำนวนหนึ่งแตกทัพออกมา ปอมปีย์จึงสั่งให้ทหารรีบสืบข่าวและส่งกำลังไปตามตีซ้ำ เข่นฆ่าและจับกุมทหารทาสไว้ได้จำนวนหนึ่ง จากนั้นจึงรีบคว้าเป็นผลงานแล้วยกกองทัพกลับเข้ากรุงโรม เคลมว่าตนเป็นผู้ปราบปรามกบฏทาสได้สำเร็จ สามารถรักษาโรมไว้ได้ ขอให้จัดงานเฉลิมฉลอง

เมื่อแคร็กซุสและซีซาร์กลับมาถึงกรุงโรม ทราบข่าวถูกปล้นชัยชนะ แคร็กซุสเดือดดาลเป็นที่สุดจนเกือบจะเปิดศึกฆ่ากันกลางงาน แต่ซีซาร์เห็นว่าเป็นฝ่ายเสียเปรียบจึงห้ามศึกไว้ทัน และต้องเล่นบทคนกลางเจรจา mediator ระหว่างแม่ทัพผู้ทรงอำนาจทั้งสองของกรุงโรม เป็นที่มาของศึกการเมืองสำคัญในวุฒิสภา senate ในยุคนั้น

จากชัยชนะทางการทหารไซลาริอุส เมื่อประกอบเข้ากับการเป็นตัวกลางระหว่างพยัคฆ์สองตัวในศึกการเมืองในศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรโรมัน ทำให้ซีซาร์สามารถฟื้นสถานะของตัวเองและวงศ์ตระกูลขึ้นมาได้อีกครั้ง

 

อำนาจสามเส้า

ระบอบสาธารณรัฐแห่งโรม เป็นระบอบที่ปกครองโดยมีวุฒิสภา หรือ senate เป็นองค์กรปกครองสูงสุด ซึ่งสมาชิกประกอบไปด้วยตัวแทนของชนชั้นสูง ผู้ปกครอง ผู้มีอันจะกิน และขุนศึกแม่ทัพของโรม เป็นศูนย์กลางอำนาจบริหาร ซึ่งผิดกับระบอบราชาธิปไตยที่อำนาจทุกอย่างอยู่ที่พระบรมมหาราชวัง โดยพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถืออำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว

การแต่งตั้งแม่ทัพโรมัน เพื่อออกไปทำศึก หรือ ไปดูแลรักษาดินแดนอาณานิคม จะต้องผ่านการนำเสนอ อภิปรายและมีมติแต่งตั้งจากสภาsenate แม่ทัพที่ได้รับการแต่งตั้งจะมีสถานะเป็นสมาชิกไปด้วย หรือ ส่วนใหญ่มักจะเป็นสมาชิกอยู่แล้ว

แม่ทัพแคร็กซุส เป็นผู้มั่งคั่ง มีธุรกิจการค้าขายมากมายอยู่ในกรุงโรม เขามุ่งหวังที่จะให้วุฒิสภาออกกฎหมายลดภาษีให้กับธุรกิจของตน แต่ทำไม่สำเร็จเพราะในรัฐสภาแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน เช่นเดียวกับแม่ทัพปอมปีย์ ซึ่งต้องการออกกฎหมายจัดสรรที่ดินทำกินในดินแดนที่รบชนะมา เพื่อให้เป็นรางวัลตอบแทนครอบครัวทหารที่ร่วมรบก็ทำไม่ได้เพราะอีกฝ่ายจะคอยคัดค้าน จนทำให้การเมืองมาถึงทางตัน ถึงขั้นที่แคร็กซุสตัดสินใจจะก่อสงครามกลางเมืองกับฝ่ายปอมปีย์เพื่อตัดสินชี้ขาด จึงยื่นคำขาดกับซีซาร์ว่า “เจ้าจะอยู่ข้างใด”

ซีซาร์ บัดนั้นมีเครดิตในทางการเมืองขึ้นมาแล้ว ในวันพิธีศพของภรรยาสุดที่รักซึ่งเกิดป่วยและเสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน ทั้งแคร็กซุสและปอมปีย์ต่างมาร่วมงานศพด้วย ซีซาร์จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะผ่าทางตันทางการเมืองในครั้งนั้นด้วยวิถีทางของตน

เขาเขียนจดหมายลับถึงแต่ละคน โดยนัดหมายให้มาพบกับเขากลางดึกในที่ลับแห่งหนึ่ง โดยไม่บอกว่าเป็นเรื่องอะไร เมื่อเสือสองตัวมาถึงจุดนัด เห็นอีกฝ่ายหนึ่งเข้าก็ตกใจ ซีซาร์จึงเผยความในใจถึงสภาพทางตันทางการเมืองของทุกฝ่าย พร้อมกับข้อเสนอว่า

“ ขืนสู้กันต่อไปจะมีแต่สูญเสีย และไม่มีใครได้อะไรเลย…สู้มาร่วมกันแก้ปัญหาและจัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัวจะดีกว่า”

จากจุดนั้นเอง จึงเป็นที่มาของยุค “อำนาจสามเส้า” Triumvirate ประกอบด้วย ปอมปีย์ แคร็กซุส และซีซาร์ โดยมีซีซาร์เป็นคนกลางไกล่เกลี่ย Mediator จนทำให้สามารถคลี่คลายวิกฤติทางการเมือง หลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองมาได้หวุดหวิด ในขณะที่ตัวซีซาร์เองก็มีบทบาท สถานะและความมั่งคั่งกลับคืนมาอีกครั้ง ภายหลังความพ่ายแพ้ล้มเหลวในยุคพ่อ

 

กงสุลแห่งโรม

เมื่อจัดการความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสองเสือกรุงโรมได้แล้ว ซีซาร์ยังมีความทะเยอทะยานที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งอำนาจบริหารสูงสุด เขาขอร้องให้สองเสือสนับสนุนให้เขาได้เป็นกงสุลแห่งโรม เพื่อที่จะช่วยผลักดันกฎหมายของทั้งสองฝ่ายให้ผ่านรัฐสภาได้สะดวกขึ้น

ระบบอำนาจการปกครองของโรมในสมัยนั้น ประกอบด้วย 3 อำนาจใหญ่ที่คอยถ่วงดุลกัน ได้แก่

1) รัฐสภา Senate  เป็นสภาขุนนาง ขุนศึกและชนชั้นสูงของโรม เป็นสภาตัวแทนของคณะพรรค

ที่กลุ่มอำนาจต่างๆส่งคนเข้ามาดูแลรักษาผลประโยชน์ของพวกเขาที่เป็นส่วนประชากร 10% ของกรุงโรม มี สว.จำนวน 300 คน

2) สภาสามัญ Pleabian council เป็นสภาตัวแทนของพวกชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นตัวแทนส่วน 90% ของประชากรโรม สภานี้มีสมาชิกเพียงแค่ 10 คนเท่านั้น แต่มีอำนาจในการวีโต้กฎหมายและการแต่งตั้งกงสุล

3) กงสุล Consul เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร คือนายกรัฐมนตรีนั่นเอง มี 2 คน เป็นระบบให้สามารถดุล-คานกันได้

ในที่สุด เมื่อซีซาร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลแห่งโรมจริง เขาพยายามเสนอกฎหมายเพื่อช่วยแคร็กซุส แต่ไม่สำเร็จ เสนอกฎหมายเพื่อช่วยปอมปีย์ ก็มีเสียงคัดค้านตลอดเวลา ทั้งสองเสือซึ่งอยู่ในรัฐสภาด้วยกันก็เริ่มทำใจได้ แต่ซีซาร์บอก “ข้ามีวิธีแก้ปัญหาของข้าเอง”

ซีซาร์เลือกใช้วิถีอันธพาลการเมือง โดยส่งนักเลงไปข่มขู่ ซ้อมและทำร้ายร่างกายบรรดา สว .ที่คัดค้าน จนถึงขั้นคางเหลือง ในที่สุดการประชุมพิจารณากฎหมายของสองเสือในครั้งต่อๆมาจึงผ่านฉลุย

แต่จากจุดนั้นเป็นต้นมา ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของซีซาร์ก็กลายเป็นผู้เผด็จการและนักเลงอันธพาล เขามีศัตรูในรัฐสภาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เขาก็ไม่กลัว เพราะมีทั้งกำลังกองทัพและอำนาจกงสุลอยู่ในมือแล้ว

 

แม่ทัพปราบกอล

เมื่อจูเลียส ซีซาร์ เริ่มมีอำนาจมากขึ้น มีความมั่งคั่งกลับคืนมา ภรรยาก็เสียชีวิต เขาได้ยกลูกสาวสุดที่รักให้แต่งงานกับปอมปีย์เป็นการผูกสัมพันธ์ทางสายเลือด เขาจึงอยู่โดดเดี่ยว มีความสัมพันธ์กับสตรีมากหลาย รวมทั้งกับภรรยาผู้อื่น โดยเฉพาะนางเซอร์วิเลีย Servilia ซึ่งเป็นนักการเมืองสตรี ผู้มีบทบาททางการเมืองหลังฉากในกรุงโรม ในที่สุดได้มาอยู่ด้วยกันอย่างเปิดเผยพร้อมกับลูกชายที่ติดมาด้วยคนหนึ่ง ซึ่งกลายมาเป็นบุตรบุญธรรมของเขา ชื่อ บรูตุส Brutus (ผู้นี้เป็นผู้ซึ่งเข้าร่วมการลอบสังหารซีซาร์ในภายหลัง)

เมื่อศัตรูทางการเมืองในรัฐสภามีมากขึ้น ทุกคนทุกฝ่าย รวมทั้งแคร็กซุสและปอมปีย์ ต่างก็กลัวว่าซีซาร์จะมีอำนาจมากเกินและเป็นเผด็จการอันธพาลที่ควบคุมไม่ได้ ในที่สุดจึงใช้อำนาจรัฐสภาบีบให้เขาพ้นตำแหน่งกงสุลแห่งโรม โดยออกไปรับผิดชอบสร้างกองทัพอยู่นอกเมือง มีภารกิจขยายอาณาจักรไปทางภาคเหนือ อันเป็นพื้นที่ที่กำลังมีปัญหากับชนเผ่ากอล Gaul หรือ ชาวฝรั่งเศส

เขายอมรับสภาพแต่โดยดี ตัดสินใจออกไปตั้งกองทัพทางทิศเหนือของโรม ด้วยกำลังทหาร 20,000 คน แบ่งเป็น 4 กองทัพ รับภารกิจบุกดินแดนที่ยากที่สุดในเวลานั้น เพื่อปราบกองกำลังของพวกกอล ชนเผ่าที่เป็นอริกับกองทัพโรมันมาอย่างยาวนานและทหารโรมันก็กลัวพวกกอลอยู่ในกระแสเลือดหรือจิตใต้สำนึก

ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า ปรกติกองทัพโรม 1 กองทัพหรือ Legion จะมีกำลังรบประมาณ 5,000  คน แต่ละลีเจียนจะมีผู้บัญชาการ คือ Legate และมี Tribune ถูกเลือกให้เป็นผู้บังคับบัญชากองทัพอีกหกคน  ทหารลีเจียนนี้จะต้องเป็นพลเมืองโรมันแท้และรับราชการอยู่ 20 ปีเมื่อลาออกก็จะได้บำเหน็จเป็นดินแดนที่ตนตีได้

กองทหารลีเจียน  ถือเป็นกระดูกสันหลังของกองทัพ  พวกทหารเหล่านี้จะได้รับการฝึกฝนอย่างดี  นอกจากถือดาบและใส่เสื้อเกราะแล้ว  พวกนี้ยังจะต้องถือหอกซัดอีกคนละสองอัน  ซึ่งจะได้รับการฝึกหัดให้ขว้างได้ทั้งสองอันภายใน 30 วินาที  นอกจากนี้พวกนี้ก็จะได้รับการฝึกหัดวิธีการตรวจสอบภูมิประเทศ  สร้างถนนและสะพาน  รวมทั้งการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผลด้วย

ชาติพันธุ์กอล เป็นชนเผ่าที่แยกกระจายกันอยู่เป็นแคว้นๆ มี 30 ชนเผ่า ทหารโรมันกลัวพวกกอลเป็นพื้นฐาน ซีซาร์ใช้ยุทธวิธี ”ตีทีละเผ่า” หรือ “กินทีละคำ” จนพวกกอลรวมตัวกันไม่ติด ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ถึงกับสรุปไว้ว่า ยุทธวิธีนี้ของซีซาร์ เป็นต้นตำรับของกลยุทธ์”แบ่งแยกแล้วปกครอง” ของโลกในปัจจุบัน

 

การศึกที่อเล็กเซีย

หลังจากถูกแยกตีจนเสียขบวน ชาวกอลเริ่มรวมตัวกันได้ โดยมีแม่ทัพชื่อเวอร์ซินเกอเรรักซ์ Verzingerarux เป็นผู้นำ ชาวกอลเริ่มตีโต้ด้วยการดักซุ่มโจมตีกองทัพโรมัน ทำให้เป็นอุปสรรค สู้กันไปมาอย่างนี้จนกระทั่งในที่สุดกองกำลังของชาวกอลก็ถูกไล่ต้อนไปรวมกันอยู่ที่เมืองอเล็กเซีย Alesia จึงเป็นที่มาของการศึกครั้งสำคัญที่ชี้ขาดแพ้ชนะระหว่างโรมันกับฝรั่งเศส ที่เรียกว่า Alesia Battle

แม่ทัพเวอร์ซินใช้ยุทธศาสตร์ตั้งรับ โดยยึดเมืองอเล็กเซียเอาไว้ ใช้ยุทธวิธี “อึดเอาไว้ในนาน 1 ปี” เพราะรู้ดีว่าซีซาร์มีจุดอ่อนอยู่ที่ไม่เคยสนใจการส่งเสบียงของกองทัพจากแนวหลัง เพราะมั่นใจว่ากองทัพสามารถ”ตีไป สะสมเสบียงไป” ก็เพียงพอแล้ว กลยุทธ์ตั้งมั่น 1 ปีของเวอร์ซินจึงมีเป้าหมายให้กองทัพซีซาร์ต้องอดตาย ยอมแพ้ หรือ ถอยทัพกลับบ้านไปมือเปล่า

ฝ่ายซีซาร์ ซึ่งมักจะเป็นคนคิดแบบนอกกรอบ สวนกระแส และทำสิ่งที่คนอื่นคิดไม่ถึงอยู่เสมอ เขาใช้ยุทธวิธี “ก่อกำแพง ปิดล้อมเมืองทั้งเมือง”อย่างแข็งแรง มีบันทึกไว้ว่า กำแพงที่ซีซาร์สร้างมีความยาวถึง 11 ไมล์ เป้าหมายคือไม่ให้ใครเข้า-ออกเมืองได้เลย

เวอร์ซิน มีกำลังทหารอยู่ในเมือง 60,000 คน เป็นจำนวนที่เท่าๆกับทหารโรมันของซีซาร์ จึงต้องส่งข่าวไปและรอคอยเวลาที่กองทัพกอลส่วนอื่นๆจะมาหนุน ในที่สุดกองกำลังของเผ่ากอลก็มาจริง มีจำนวนมากถึง 230,000 คน แต่แทนที่จะตกใจกลัว ซีซาร์กลับสั่งให้ทหารโรมันตั้งกำแพงขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ปิดล้อมเมืองอเล็กเซียไว้เป็นวงที่สอง โดยมีช่องว่างระหว่างวงขนาดกว้างครึ่งไมล์ และมีทหารโรมัน 60,000 คนอยู่ระหว่างกำแพงสองวงนั้น

ซีซาร์ นำการรบในสภาวะที่ถูกขนาบด้วยกำลังฝ่ายกอลทั้งสองด้านได้อย่างไร

ซีซาร์ใช้ยุทธวิธีตั้งมั่นอยู่ภายในกำแพง ใช้กำแพงเป็นเกราะกำบังและใช้พลธนูเป็นแนวต้านทานทั้งสองฝาก แต่ในที่สุดกองทัพกอลด้านนอก สามารถพบจุดอ่อนของกำแพงและบุกทะลวงเข้ามาได้สำเร็จ ในนาทีนั้นซีซาร์ตัดสินใจใช้กลยุทธ์กองกำลัง “ทหารม้าอัจฉริยะ” บุกตีฝ่าออกไป แล้ววกกลับมาตีตลบหลังทหารกอลจากด้านหลัง จนแตกพ่ายและยอมจำนนทั้งหมด

จากชัยชนะในการรบที่อเล็กเซีย ทำให้ซีซาร์สามารถเอาชนะชนเผ่ากอลที่เหลือได้ทั้งหมด ณ จุดเดียว ทำให้สามารถแผ่ขยายดินแดนยึดครองไปจรดมหาสมุทรแอตแลนติคและเกาะอังกฤษ รวมเนื้อที่ 230,000 ตารางไมล์

ในสมรภูมิกอล ได้เกิดแม่ทัพคู่ใจของซีซาร์ที่โดดเด่นขึ้นมาอีกคนหนึ่ง ชื่อมาร์ค แอนโทนี่ Mark Antony

ทางฝ่ายแคร็กซุส ก็ถูกรัฐสภาบีบให้ออกไปตั้งกองทัพนอกเมืองเช่นกัน เขาเลือกไปทางภาคตะวันออกและตะวันออกกลาง ที่เป็นฐานเดิมของปอมปีย์ แต่ประสบความพ่ายแพ้หลายครั้ง สูญเสียทหารไปถึง 20,000 คน จนควบคุมกองทัพไม่ได้ ถูกทหารของตนจับตัวไว้ด้วยความเคียดแค้น เอาทองหลอมละลายเทกรอกใส่ปาก จนถึงแก่ความตายอย่างน่าอเน็จอนาจ

 

นักรบ นักสื่อสาร

เป็นที่น่าสังเกตุว่า ในตำราประวัติศาสตร์โลก นอกจากสรรเสริญซีซาร์ในฐานะวีระบุรุษนักรบ และความเป็นนักการเมืองแห่งกรุงโรมแล้ว ยังได้ระบุสถานภาพของจูเลียส ซีซาร์ ไว้อีกบทบาทหนึ่ง ที่คนมักไม่จดจำ คือเป็น “นักกวีร้อยแก้ว”

เนื่องเพราะเขาเป็นผู้ใช้การเขียนเล่าเรื่องราวจากแนวหน้า ส่งข่าวมาให้ชาวเมืองในกรุงโรมได้ติดตามรับรู้อยู่อย่างต่อเนื่อง ด้านหนึ่งเป็นการสร้างสัมพันธภาพผูกพันกับประชาชนที่อยู่แนวหลัง อีกด้านหนึ่ง เป็นการเขียนบันทึกประวัติศาสตร์และเรื่องราวการทำงานด้วยตัวเอง

บทรายงานข่าวสถานการณ์จากแนวหน้า มักมีเรื่องราวที่น่าสนใจให้ชาวบ้านชาวเมืองติดตาม มากกว่าเรื่องราวที่จำเจของนักการเมืองในกรุงโรม ข่าวชัยชนะที่เล่ามาจากแนวรบปราบปราบพวกกอลกลุ่มต่างๆ ปัญหาอุปสรรคและการผจญภัย รวมทั้งเรื่องราวแปลกๆของชาวบ้านในต่างเมือง สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลทำให้ซีซาร์ได้รับความนิยมจากประชาชนชาวโรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นี่คืออีกกลยุทธ์หนึ่งของซีซาร์ ที่น่าสนใจ เป็นกลยุทธ์ทางการสื่อสารสาธารณะ public communication เมื่อยุค 2500 ปีล่วงมาแล้ว

 

ปอมปีย์ทิ้งกรุงโรม

ข้างฝ่ายปอมปีย์ เสืออีกตัวผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุล ครองอำนาจอยู่ในโรม คุมกำลังทหารในโรมทั้งหมดไว้ในมือ ในขณะที่สองเสือถูกผลักออกไปทำสงครามอยู่ภายนอก เขาโน้มน้าวให้รัฐสภาโรมลงมติเป็นเอกฉันท์ตามข้อเสนอของเขา ที่ให้ปลดจูเลียส ซีซาร์ ออกจากการคุมกองทัพ โดยตั้งข้อกล่าวหามากมาย และสั่งให้กลับมารับโทษในกรุงโรม ซึ่งในเกมนี้ บรูตัส บุตรบุญธรรมของซีซาร์ ก็เลือกที่จะอยู่ข้างปอมปีย์

ในเชิงกำลังอำนาจ ปอมปีย์ ในฐานะกงสุลแห่งโรม เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เขามีจำนวนทหารมากกว่าซีซาร์ถึง 3 เท่าตัว แต่ให้เกิดหวั่นไหว เกรงกลัวว่าซีซาร์จะกลับมาคิดบัญชีแค้นและยึดกรุงโรม เขาจึงเรียกประชุมแม่ทัพ เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนรับมือกับกองทัพของซีซาร์

ในที่สุด ด้วยเหตุผลความเป็นวีระบุรุษสงครามหมาดๆและนิสัยความห้าวหาญของซีซาร์ ทำให้ปอมปีย์ต้องตัดสินใจ “ทิ้งเมือง” โดยถอยกำลังทหารส่วนสำคัญออกจากกรุงโรม นับเป็นกลยุทธ์ “ทิ้งโรม”อันลือลั่น ที่ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โรมันอีกเช่นกัน

ทางด้านซีซาร์ เมื่อได้รับทราบคำสั่งปลดและเรียกตัวให้กลับไปรับโทษ ในฐานที่ก่อศึกสงครามโกลไปโดยพลการ ทั้งๆที่รัฐสภายังไม่ได้มีมติให้ทำกระทำการ ซีซาร์รู้ตัวดีว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับตน เขาจึงยกพลเคลื่อนกลับกรุงโรม จนได้มาถึงแม่น้ำรูบิคอน Rubicon ทางตอนเหนือของโรม ห่างออกไป 200 ไมล์ และหยุดตั้งสติตรงฝั่งแม่น้ำดังกล่าว

ในขณะที่เขาตั้งทัพชั่วคราวอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ในใจต้องเผชิญกับทางสองแพร่งของชีวิต ทางหนึ่งคือการหยุดอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองระหว่างทหารโรมันทั้งสองฝ่าย ส่วนอีกแพร่งหนึ่ง เป็นการยกพลข้ามแม่น้ำรูบิคอน มุ่งเข้าสู่กรุงโรม อันจะเป็นการเปิดฉากสงครามกลางเมือง ทำศึกยึดกรุงโรม และตั้งตัวเป็นจักรพรรดิ

ฝ่ายปอมปีย์ เมื่อหันหลังทิ้งโรมแล้ว มีแผนมุ่งหน้าข้ามทะเลไปปักหลักที่กรีซและทำการสั่งการกองทัพอยู่นอกโรม และเรียกระดมกองทัพโรมันจากส่วนภูมิภาคอื่นๆ ให้มารวมตัวสู้กับซีซาร์ แต่ซีซาร์รู้ทัน จึงรีบนำกำลังเคลื่อนที่เร็ว เดินทางทั้งวันทั้งคืน ใช้เวลาสามเดือนเต็มๆ จึงมาถึงเมืองท่าบรุนดีเซีย Brundesia จุดที่จะข้ามทะเลไปฝั่งกรีซ แต่ไปไม่ทันปอมปีย์เสียแล้ว

 

ศึกโรมสู้โรม

ปอมปีย์เป็นฝ่ายข้ามฟากไปได้ก่อน มาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองฟาซาลุส Phasalus  เขาส่งคำสั่งเรียกกองทัพโรมันทั่วภูมิภาคให้มาสมทบกำลัง ระหว่างนั้นก็ฝึกทหารเตรียมทำศึกแตกหัก

ฝ่ายซีซาร์ สั่งให้มาร์ก แอนโทนี เร่งต่อเรือ แล้วยกกำลังไปตามตีจนถึงฝั่งกรีซ มีทหารติดตามไปด้วย 22,000 คน โดยให้มาร์ค แอนโทนี ตั้งทัพรออยู่ที่นั่น

ปอมปีย์ เมื่อชั่งกำลังดูแล้ว เขามีทหาร 45,000-65,000 คน ซึ่งมากกว่าซีซาร์ ในสัดส่วน 3:1 แต่ก็คิดว่าคงกินกันไม่ลง เพราะทหารซีซาร์แม้จะมีจำนวนน้อยกว่า แต่ก็มีระเบียบวินัยสูง ยิ่งเพิ่งชนะศึกใหญ่มาหมาดๆ ขวัญสู้รบจึงสูงกว่ากันมาก จึงเสนอเจรจา แต่สุดท้ายการเจรจาครั้งนั้นล้มเหลว เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ศึกโรมสู้โรมจึงระเบิดขึ้นที่นั้น เรียก Phasalus Battle

ในด้านยุทธวิธี ยกแรกปะทะกันโดยตรง ซีซาร์เป็นฝ่ายมีชัย พอยกสองปอมปีย์เปลี่ยนกลยุทธ์มาใช้กำลังทหารม้า 2,000 คน บุกเข้าตีจากด้านข้าง แต่ซีซาร์พลิกเกมสู้ด้วยการใช้กองกำลังอีกปีกหนึ่ง ให้เคลื่อนมาโอบล้อม เหมือนกับบานประตูที่หนีบเข้ามา ในที่สุดซีซาร์เป็นฝ่ายชนะศึก ปอมปีย์สูญเสียชีวิตทหารไป 50,000 คน ถูกจับอีก 20,000 คน ในจำนวนนั้น มีบรูตุส ลูกบุญธรรมของซีซาร์ถูกจับมาด้วย ส่วนปอมปีย์สามารถหนีไปที่เมืองอเล็กซานเดรีย เมืองหลวงของอิยิปต์ และถูกฆ่าตายในสถานการณ์ศึกแย่งชิงอำนาจภายในของที่นั่น

เมื่อซีซาร์ได้รับชัยชนะเหนือปอมปีย์ที่สมรภูมิฟาซาลุส ได้กล่าวคำพูดที่โด่งดัง เป็นวาทะทางประวัติศาสตร์ว่า “ ข้ามาถึง ข้าได้เห็น และข้าได้ชัยชนะ ”

ซีซ่าร์เป็นห่วงเหตุการณ์ในกรุงโรม จึงสั่งการให้ มาร์ก แอนโทนี กลับไปคุมสถานการณ์ไว้ก่อน ส่วนตนเองคุมกองทัพไล่ล่าปอมปีย์ไปถึงอียิปต์

ที่กรุงโรม เมื่อขาดอำนาจรัฐปกครอง บ้านเมืองอยู่ในสภาพไร้ขือแป อยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มนักเลงอันธพาล ประชาชนอดอยาก ขาดอาหาร เกิดจราจลปล้นจี้กันทุกวัน มาร์ค แอนโทนี่ไม่สามารถปกครองได้ เพราะขาดประสบการณ์ทางการเมืองและชอบใช้กำลังควบคุมแบบทหาร จนทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

 

ติดหล่มศึกภายในอียิปต์

จูเลียส ซีซาร์ สั่งการให้ไว้ชีวิตบรูตุส ก่อนที่จะยกกำลังตามตีปอมปีย์ไปจนถึงเมืองอเล็กซานเดรีย แต่แล้วต้องติดหล่มอยู่ที่นั่น ด้วยสถานการณ์ศึกแย่งชิงอำนาจกันเองระหว่างพี่สาวกับน้องชายในอาณาจักรอียิปต์

อียิปต์เป็นอาณาจักรโบราณ มีอารยธรรมความเจริญมาเก่าแก่กว่าโรมและเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่พึ่งพาอาศัยกันมานาน พืชพันธุ์ธัญญาหารที่หล่อเลี้ยงชาวกรุงโรม ล้วนนำเข้ามาจากที่นั่น

กษัตริย์อียิปต์ในขณะนั้นชื่อ ปโตเลมี Ptoleme อายุเพียง 14 ปี ขึ้นครองราชย์คู่กันกับพี่สาว คือ พระนางคลีโอพัตรา ทั้งคู่แต่งงานกันระหว่างพี่น้องตามราชประเพณีโบราณ แต่ต่อมาเกิดแตกแยกและกำลังต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเอง

 

เมื่อปอมปีย์ไปถึงก่อน ได้เข้าเฝ้าปโตเลมี จึงทูลขอกำลังทหารอียิปต์มาช่วยรบกับซีซาร์ แต่ปโตเลมีกลับรู้ทันว่า ปอมปีย์ คือ ผู้ที่เคยปล้นชัยชนะในสงครามปราบทาสสปาร์ตาคัส และเพิ่งพ่ายแพ้ศึกที่ฟาซาลุสแตกหนีมา จึงสั่งให้จับตัวไว้ แล้วตัดหัวเอามาส่งมอบให้ซีซาร์ เพื่อหวังเอาใจและขอแรงช่วยปราบคลีโอพัตรา แต่ซีซาร์ไม่ยอมร่วมมือ จึงถูกกักตัวไว้เป็นเวลาเนิ่นนาน

ต่อมาคลีโอพัตรา ได้ส่งคนบุกเข้าไปช่วยเอาตัวซีซาร์ออกมาจากที่กักบริเวณ ซีซาร์จึงตัดสินใจช่วยคลีโอพัตราปราบกษัตริย์ปโตเลมีลงได้สำเร็จ พระนางคลีโอพัตราได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทน เป็นพระราชินีคลีโอพัตรา

และด้วยเสน่ห์ที่เย้ายวนขององค์ราชินี พระนางคลีโอพัตรา สองคนจึงได้ครองรักครองบัลลังก์ร่วมกันอยู่ที่อียิปต์ จนกระทั่ง ได้รับทราบข่าวจากกรุงโรมว่า ที่นั่นเกิดเหตุการณ์จลาจลวุ่นวายอย่างต่อเนื่อง จนมาร์ค แอนโทนี่ ไม่สามารถจัดการได้ ซีซาร์จึงขอตัวกลับกรุงโรมเพื่อแก้ปัญหา

 

ผู้เผด็จการแห่งโรม

เมื่อซีซาร์กลับถึงโรมแล้ว เรื่องแรกที่เขาต้องทำ คือ การฟื้นอำนาจการปกครองของระบบรัฐสภา Senate  เพื่อเป็นกลไกการบริหารบ้านเมืองและขับเคลื่อนระบอบสาธารณรัฐ เขาตั้งตนเองเป็นกงสุลแห่งโรมและต่อมาได้สถาปนาตนเองเป็นผู้เผด็จการถาวรตลอดชีพ นับเป็นการสร้างระบอบจักรพรรดิ (Emperor) ขึ้นมาแทนที่ระบอบสาธารณรัฐ (Republic) เดิม ที่ใช้ปกครองยาวนานเกือบ 500 ปี

ในระบอบสาธารณรัฐของโรมัน โดยปกติรัฐธรรมนูญของเขาจะออกแบบให้มีกงสุลระบบคู่ คือมีกงสุล 2 คนในเวลาเดียวกัน เพื่อให้สามารถถ่วงดุล-คานอำนาจและเกื้อหนุนกันได้ แต่บางคราว ในยามที่เกิดวิกฤติ รัฐสภาสามารถตั้งกงสุล คนใดคนหนึ่ง ให้เป็นตำแหน่งผู้เผด็จการ dictator  แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นๆเท่านั้น คือ 6 เดือน หรือ มีกงสุลเพียงคนเดียว

แต่ซีซาร์ไม่หยุดอยู่แค่นั้น เขากลับให้รัฐสภาแต่งตั้งเขาเป็นผู้เผด็จการที่ยืดยาวออกไปเรื่อย เป็น 10 ปีและเป็นตลอดชีพในที่สุด

นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้กลุ่มคนที่มีอุดมการณ์แห่งระบอบสาธารณรัฐจะเกิดความหวาดระแวงว่าจะเป็นการทำลายระบอบสาธารณะ ซึ่งบรูตัส ลูกบุญธรรมของเขา ก็ร่วมอยู่ในจำนวนนั้นด้วย

 

การปฏิรูปของซีซาร์

ต่อคำถามที่น่าสนใจว่า ในช่วงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผู้เผด็จการถาวร จูเลียส ซีซาร์ ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์แห่งโรม ซึ่งสามารถออกกฎหมายได้ทุกชนิดโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา ช่วงนั้นเขาได้สร้างอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันบ้างหรือไม่

เรื่องนี้ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ค่อนข้างผิดหวังที่ไม่ค่อยเห็นผลงานอะไรมากนัก แต่ก็ไม่ถึงกับจะไม่มีมรดกตกทอดอะไรเสียเลย เพราะสิ่งที่นักประวัติศาสตร์รวบรวมไว้เรื่องใหญ่ๆและสามารถหยิบยกมาเป็นตัวอย่างได้ ก็เช่น

1)แก้ปัญหาความยากจนในช่วงสงครามกลางเมืองและยุคบ้านเมืองเกิดจราจล

2)การให้แว่นแคว้นบริวารทั้งหลาย มีการปกครองและการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ

3)สร้างบ้านแปงเมืองขนานใหญ่ มีการขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพื่อจ้างงานประชาชน

4)การออกกฎหมายที่จำเป็น

5)การใช้มหกรรมการต่อสู้ของเหล่าทาสแกลดิเอเตอร์ เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความบันเทิง ประชานิยม และสร้างประชามติหนุนระบอบการปกครอง

6)เปลี่ยนระบบปฏิทินจากจันทรคติ มาเป็นสุริยคติ ปฏิทินจูเลียน

 

จุดจบของซีซาร์

1 ปีหลังจากที่ซีซาร์กลับกรุงโรม พระนางคลีโอพัตราได้เดินทางมาเยี่ยมพระสวามี พร้อมด้วยพระราชบุตรที่เกิดด้วยซีซาร์ ชื่อซีซาเรียน เหตุการณ์ครั้งนั้นได้เปลี่ยนสถานการณ์ความขัดแย้งภายในโรมให้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก จนถึงขั้นที่ สว. กลุ่มหนึ่งทนต่อไปไม่ไหว เดินหน้ารวมกำลัง วางแผนอย่างจริงจัง เพื่อลอบสังหารซีซาร์และยุติสถานการณ์

สาเหตุที่ต้องวางแผนฆ่า เพราะยิ่งนานวันเข้า คะแนนนิยมของซีซาร์ยิ่งเพิ่มมากขึ้น จนวุฒิสมาชิก หรือ สว. เริ่มพากันร้อนรน อยู่ไม่เป็นสุข เพราะมันหมายถึง การลดทอนอำนาจของรัฐสภาและจำกัดระบอบอภิสิทธิ์ชนของพวกเขาไปในตัว จึงต้องหาทางกำจัดซีซ่าร์ให้จงได้

บรูตุส บุตรบุญธรรมของเขาก็เป็นหนึ่งในพวกอุดมการณ์สาธารณรัฐนิยม ที่ต้องการโค่นล้มระบอบเผด็จการถาวรหรือระบอบจักรพรรดิของซีซาร์ อันอยู่ตรงข้ามกับระบอบสาธารณรัฐของพวกเขา

ซีซาร์เองเสียอีก ที่เป็นฝ่ายให้ความรักและฝากความหวังไว้ที่ตัวบรูตุส ในฐานะเป็นทายาททางการเมืองของเขา ในด้านหนึ่ง คงเป็นเพราะซีซาร์ไม่มีลูกชาย ส่วนหลานตาของเขาที่เกิดจากลูกสาวกับปอมปีย์ แม้ทราบว่าเป็นผู้ชายแต่ก็ไม่เคยได้เห็นหน้ากัน อีกด้านหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความรักผูกพันที่มีต่อนางเซอร์วิเลีย แม่ของบรูตุส

ในวันที่เขาประกาศเป็นผู้เผด็จการตลอดชีพหรือนัยหนึ่งจักรพรรดิแห่งโรม นั้นเอง โรคลมชักหรือลมบ้าหมู Epilepsy เกิดกำเริบขึ้นกระทันหัน ซีซาร์มีอาการชักกระตุกต่อหน้าที่ประชุมรัฐสภา เป็นการเผยจุดอ่อนแอต่อหน้าศัตรูและสาธารณชน ทำให้ฝ่ายต่อต้านมั่นใจว่า ใกล้ถึงกาลอวสานของเขาแล้ว

ต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม ปี -44 B.C. ซีซาร์มีแผนที่จะประกาศสงครามบุกตะวันออกกลาง จึงเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อจะให้มีมติส่งทหารบุกฟาเถียน Phatian ซึ่งเป็นดินแดนในอาณาจักรแถบเอเชียกลาง วันนั้นจึงกลายเป็นวันทีนัดหมายปฏิบัติการ D Day ของเหล่าบรรดาวุฒิสมาชิกฝ่ายตรงข้าม

ในขณะที่เขากำลังเดินเข้าสู่ห้องประชุมรัฐสภา กลุ่ม สว. ที่เตรียมอาวุธซ่อนติดตัวมา พากันรุมกันจ้วงแทงซีซาร์ด้วยมีดปลายแหลม คนละหมุบละหมับ รวม 23 แผล จนถึงแก่ความตาย ซึ่งบรูตุสก็ลงมือกับเขาด้วย เป็นที่มาของประโยคสุดท้ายของซีซ่าร์ที่กล่าวว่า “บรูตุส เจ้าก็เอากับเขาด้วยรึ”

เหตุการณ์รุมสังหารซีซาร์ในวันนั้น ส่งผลให้เกิดสูญญากาศขึ้นอีกครั้งในกรุงโรม เหตุการณ์เลวร้ายลงจนรัฐสภาไม่สามารถแก้ปัญหาได้

บรูตุส กับ มาร์ก แอนโทนี่ ต่อสู้กันอย่างหนักทั้งต่อหน้าและลับหลัง ในที่สุดบรูตุสเป็นฝ่ายแพ้ จนต้องฆ่าตัวตายหนีความอัปยศ ส่วนโรมเข้าสู่ยุคอำนาจสามเส้าอีกครั้ง คราวนี้มี”เสือสามตัว”ชุดใหม่ เข้ามาอยู่ในสมการอำนาจ คือ Mark Antony , Lapidus และ Octavius  ซึ่งคนหลังนี้เป็นหลานของซีซาร์เอง

อ็อกตาวิอุส  มีเชื้อสายมาจากสายขุนนางเก่าแก่และมั่งคั่ง เดิมเป็นตระกูลสามัญชน มีศักดิ์เป็นหลานตาของซีซาร์  กล่าวกันว่าเมื่อซีซ่าร์ถูกลอบสังหาร อ็อกตาวิอุสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบุตรบุญธรรมและทายาททางการเมืองตามพินัยกรรมของซีซาร์

อ็อกตาวิอุส เข้าร่วมกองกำลังกับมาร์ก แอนโทนี และมาร์กุส แลปิดุส ในการปกครองระบอบเผด็จการทหารซึ่งรู้จักกันในชื่อคณะผู้สำเร็จราชการชุดที่สอง

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการ อ็อกตาวิอุสมีอำนาจปกครองเหนือโรมและอีกหลายจังหวัดของสาธารณรัฐ แต่ในที่สุดคณะผู้สำเร็จราชการดังกล่าวก็ล่มสลายลงเพราะความทะเยอทะยานของผู้ร่วมคณะทั้งสามเอง

 

Mark Antony พลาดท่าเสียทีจนต้องหนีไปอยู่ที่อียิปต์และได้แต่งงานกับพระนางคลีโอพัตรา รวบรวมกองทัพกลับมาต่อสู้ใหม่ แต่ในที่สุดกลับมาพ่ายแพ้สงครามทางทะเลครั้งใหญ่ต่อกองทัพโรมที่อยู่ภายใต้บัญชาการของ Octavius ที่สมรภูมิ แอคตาวิอุม Actavium ประเทศกรีซ จนทำให้ต้องฆ่าตัวตายสังเวยความพ่ายแพ้ไปด้วยกันทั้งคู่ ส่วนลูกชายของซีซาร์กับคลีโอพัตรา ที่ชื่อซีซาเรียน ได้ขึ้นครองราชย์แต่เยาว์วัย แต่อยู่ได้เพียง 2 สัปดาห์ก็ถูก Octavius สำเร็จโทษ

ส่วนแลปิดุส เสืออีกตัวหนึ่ง ก็ถูกเนรเทศไปแล้ว ดังนั้น เมื่อฝ่าย Octavius มีชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จแล้ว จึงได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการโดยสภาซีเนท senate ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจักรวรรดิโรมัน เรียกตำแหน่งนี้ว่า ออกุสตุส Augustus

จากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ นักประวัติศาสตร์เกิดความเห็นที่ไม่ลงตัวว่า ยุคจักรวรรดิโรมันควรเริ่มนับตั้งแต่ปีไหน ระหว่าง

ปี -44 B.C. ที่ซีซาร์ประกาศตนเป็นผู้เผด็จการถาวร

หรือปี -31 B.C. 2 กันยายน ที่อ็อกตาวิอุส มีชัยชนะเหนือมาร์ก แอนโทนี ในการศึกที่แอคตาวิอุม

หรือปี -27 B.C. 16 มกราคม ที่สภาซีเนทมีพิธีประกาศสถาปนาอ็อกตาวิอุส เป็นจักรพรรดิหรือออกุสตุสพระองค์แรก

ในช่วงเวลาที่อ็อกตาวิอุสปกครองโรมัน สภาซีเนตได้มอบชื่อออกุสตุสให้เขา พร้อมกับตำแหน่ง อิมเพอเรเตอร์ หรือ “จอมทัพ” ด้วย ซึ่งต่อมาภายหลังได้กลายเป็น เอ็มเพอเรอร์’ หรือ “จักรพรรดิ” ในที่สุด

ตำแหน่งออกุสตุสมัก จะถูกเรียกแทนว่า ซีซาร์ ซึ่งเป็นนามสกุลของเขา นอกจากนั้น คำว่าซีซาร์ยังถูกใช้เรียกจักรพรรดิในราชวงศ์อื่นๆในภายหลัง เช่น ราชวงศ์จูลิโอ-คลอเดียน ราชวงศ์ฟลาเวียน จักรพรรดิเวสปาเซียน จักรพรรดิทิทุส และจักรพรรโดมิเชียนด้วย และยังเป็นรากศัพท์ของคำว่า ซาร์ (รัสเซีย:czar) และ ไกเซอร์ (เยอรมัน:kaiser)

 

สรุปประเด็นกลยุทธ์ที่น่าศึกษา

จากเรื่องราวโดยสังเขปของจูเลียส ซีซ่าร์ ตามที่เล่ามา มีประเด็นมุมมองส่วนตัวในเชิงกลยุทธ์ หรือ ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีของนักรบนักปกครองยุคโบราณ หนึ่งเดียวคนนี้ ที่มีความยิ่งใหญ่มาก ดังนี้

1.ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้สูง ทะเยอทะยานไม่ลดละ

มองในด้านหนึ่ง นี่อาจเป็นเพียงแค่บุคลิกนิสัยส่วนตัวของซีซ่าร์ ที่เกิดจากความรู้สึกเก็บกดส่วนตัว อันเป็นผลมาจากชะตาชีวิตของครอบครัวที่พลิกผันจากความพ่ายแพ้ของรุ่นพ่อ ในเกมการต่อสู้ทางการเมืองในกรุงโรม แต่ในอีกแง่หนึ่ง การใครสักคนตั้งเป้าหมายชีวิตทางการเมืองเอาไว้สูงและมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงนั้น ย่อมมีความหมายต่อยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีการทำงานและการใช้ชีวิตของเขาผู้นั้นด้วยเช่นกัน

เพราะการกำหนดเป้าหมายที่มีความยิ่งใหญ่ ท้าทายและอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ ย่อมทำให้เกิดความใฝ่ฝัน ความหวัง และแรงบันดาลใจที่จะไปให้ถึง เมื่อประกอบเข้ากับความทะเยอทะยานที่ไม่ลดละ ไม่จำนน ไม่ยอมแพ้ ก็ยิ่งเป็นปัจจัยของความสำเร็จ

 

2.คิดนอกกรอบ ทำสวนกระแส

ซีซ่าร์ เป็นคนที่ชอบคิดนอกกรอบ จึงทำให้เขาประเมินสิ่งต่างๆในมุมมองที่แตกต่างไปจากคนอื่น ยิ่งไปกว่านั้น เขายังชอบทำอะไรในสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการสวนกระแส คนทั่วไป โดยเฉพาะคู่ต่อสู้จึงมักคาดการณ์เขาได้ยาก กรณีเสนอกลยุทธ์กลวิธีปรามกองทัพทาสที่กำลังแข็งแกร่ง หรือกรณีนัดหมายปอมปีย์กับแคร็กซุสมาเจรจาตกลงยุติศึก หรือกรณีการตั้งกำแพงปิดล้อมเมืองฟาซาลุสและการตั้งรับกองทัพกอลตีขนาบในเวลาเดียวกัน

 

3.โจมตีแบบสายฟ้าแลบ ทำลายจุดแข็งคู่ต่อสู้

ตัวอย่างการศึกที่ไซลาลิอุส  ด้วยความที่ซีซ่าร์เชื่อมั่นในกลยุทธ์การโจมตีแบบสายฟ้าแลบและความแข็งแกร่งของกองทหารม้าของตน เมื่อลงมือปฏิบัติการ จึงทำให้เขาสามารถบุกทะลวงถึงศูนย์บัญชาการของสปาร์ตาคัสโดยไม่ทันให้ตั้งตัว ทำเอานักรบแกลดิเอเตอร์ที่เก่งฉกาจในการต่อสู้แบบประชิดตัว ไม่สามารถพลิกเกมสู้ได้เลย กองทัพจึงแตกพ่ายกระเจิดกระเจิงแบบไม่เป็นท่า

 

4.มีรุก มีถอย ยืดหยุ่นพลิกเแพลง

ในชีวิตการต่อสู้ ทั้งในสนามรบและในเวทีทางการเมือง ซีซ่าร์มักประเมินสถานการณ์ได้แม่นยำ เขามีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว แต่ไม่ใช่คนมุทะลุดุดัน ในคราวที่ถูกปอมปีย์ปล้นชิงชัยชนะต่อกองทัพกบฏทาส แคร็กซุสเก็บความแค้นไม่ไหว จะเปิดศึกฆ่าแกงกลางงานเลี้ยงฉลอง แต่ซีซ่าร์เป็นฝ่ายที่ห้ามปรามและบอกให้ยอมถอย

หรือ เมื่อตอนที่เป็นกงสุลโรมช่วงแรก เมื่อรู้ตัวว่าเป็นที่เกลียดชังและหวาดระแวงของนักการเมืองในสภาซีเนท จนถูกบีบให้พ้นจากตำแหน่ง และให้ออกไปตั้งกองทัพทางภาคเหนือเพื่อปราบพวกชาติพันธุ์กอลและขยายดินแดน เขายอมรับความพ่ายแพ้ทางการเมืองในสภา ถอยไปอยู่นอกเมืองแต่โดยดี แต่เขาไม่ลดเป้าหมายสูงสุดของตน มุ่งหน้าบุกเบิกงานกองทัพจนประสพความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในอีกแนวรบหนึ่ง ก่อนที่จะหวนกลับมากรุงโรมในสถานะใหม่

 

5.ถือดุลในอำนาจสามเส้า

ในสภาวะของอำนาจสามเส้า ด้านหนึ่งเป็นแคร็กซุส ผู้ร่ำรวย มีกองทัพอยู่ในมือ และเป็นผู้บังคับบัญชาเก่า กับอีกด้านหนึ่งคือปอมปีย์ ผู้เป็นแม่ทัพเกรียงไกรจากภาคตะวันออกและทรงอิทธิพลในโรม  ซีซ่าร์ เป็นตัวกลาง เป็นกันชน และเป็นผู้คอยถ่วงดุลระหว่างสองขั้วอำนาจ

แต่ด้วยความที่ เป็นผู้เข้าใจในบทบาทของคนกลางและสามารถแสดงบทถ่วงดุลได้อย่างเหมาะเจาะ เขาจึงเติบโตแข็งแรงขึ้นทุกวัน จนในที่สุดกลายเป็นผู้ถือดุลอำนาจขึ้นมาในระดับที่เสมอกันหรือเป็นฝ่ายที่เหนือกว่า

 

6.กล้าได้ กล้าเสีย

กล้าได้ กล้าเสีย เป็นเรื่องของการตัดสินใจ

ในสถานการณ์ปกติ คนส่วนใหญ่มักตัดสินใจเมื่อมีความมั่นใจและความแน่นอนในระดับที่สูง แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน ก็มักจะไม่กล้าเสี่ยง

แต่ซีซ่าร์ไม่ใช่คนแบบนั้น ความกล้าได้กล้าเสียน่าจะเป็นนิสัยส่วนตัวของเขาอยู่แล้ว ดูจากที่เขาสามารถไต่เต้าขึ้นมาจากพลทหารเลวในกองทัพของแคร็กซุสได้ก็เพราะนิสัยที่กล้าได้กล้าเสียในการตัดสินใจ

เมื่อบวกกับความห้าวหาญและทักษะฝีมือการต่อสู้ รวมทั้งความสามารถในการนำกองทหารเข้าสู้รบ จึงส่งให้เขามีความก้าวหน้าในตำแหน่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

 

7.เขียนประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง

ในประวัติศาสตร์ นอกจากบันทึกว่าซีซ่าร์เป็นวีระบุรุษนักรบแล้ว ยังระบุว่าเขาเป็นกวีร้อยแก้วอีกด้วย แต่คนมักไม่สังเกตุหรือจดจำเขาในเรื่องหลังเอาเสียเลยก็ว่าได้

กวีร้อยแก้ว คือการเป็นศิลปิน ประเภทนักเขียนเรื่องราว เป็นนักสื่อสาร เป็นนักบันทึกเหตุการณ์

เขาใช้วิธีการเขียนเล่าเรื่องราวของชุมชน สังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ฯลฯในบ้านเมือง ในแนวหน้า ที่เขาเคลื่อนกองทัพผ่านไป โดยส่งมาถึงกรุงโรมเพื่อให้ชาวโรมได้อ่านได้ติดตามสถานการณ์ที่กองทัพบุกขยายดินแดนออกไป

ในคราวที่เขาถูกสภาซีเนทบีบให้ออกไปทำศึกปราบพวกชนเผ่ากอลทางภาคเหนือ เรื่องราวจากแนวหน้าของเขาที่รายงานตรงต่อสาธารณชน ช่วยทำให้เขาสามารถรักษาคะแนนนิยมในกรุงโรมเอาไว้ และยิ่งเมื่อได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ๆก็ยิ่งมีกระแสสนับสนุนเพิ่มขึ้น

การเขียนเรื่องเล่าจากชีวิตจริง ในสถานการณ์จริง ด้านหนึ่งเป็นการสื่อสารสาธารณะ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ในส่วนที่ตนเกี่ยวข้องด้วยตนเอง แทนที่จะรอให้ใครมาบันทึกให้และเกิดความบิดเบี้ยวไปตามข้อจำกัดของคนที่อยู่นอกวงและส่วนใหญ่จะมีอคติส่วนตัวของผู้เขียนมาเจือปน

 

8.สื่อสารสาธารณะ

การสื่อสาร หมายความว่า การส่งข้อมูลหรือสาร จากผู้ส่งสาร ผ่านสื่อและช่องทางหรือเครื่องมือการสื่อสาร ไปสู่ผู้รับสาร ซึ่งผู้รับสารก็มีปฏิกิริยาสะท้อนกลับมายังผู้ส่งสารได้ด้วย

การสื่อสารสังคม หมายความว่า การสื่อสารระหว่างบุคคล หรือกลุ่มคน  ซึ่งมีผู้ริเริ่มเป็ดประเด็นและโน้มน้าวให้ผู้อื่นคล้อยตามไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

การสื่อสารสาธารณะ หมายความว่า การสื่อสารกับกลุ่มคนขนาดใหญ่ กว้างขวาง หรือเป็นสื่อสารทางไกล โดยผ่านเครื่องมือหรือเทคโนโลยี่การสื่อสารที่เหมาะสม

ซีซ่าร์ เป็นนักสื่อสารที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ เขาสามารถสื่อสารสังคมและสื่อสารสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิผล เขาเป็นคนที่มีวาทศิลป์มาก ดูจากการที่เขาพูดกับนักรบโรมันที่อยู่ใต้บังคับบัญชาก่อนออกรบ ทั้งพูดในที่ประชุมของแม่ทัพนายกองและการพูดปลุกระดมคนทั้งกองทัพ เขาสามารถเลือกใช้คำพูดที่กินใจ สร้างความฮึกเหิม แรงบัลดาลใจและพลังสู้รบไปพร้อมๆกัน

ส่วนเรื่องการเป็นนักเขียนเล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่และสถานการณ์จากแนวหน้านั้น สะท้อนถึงความเป็นนักสื่อสารสาธารณะที่มีทักษะพื้นฐานที่ดี มีความรอบรู้ในเรื่องที่จะสื่อ และมีความเชี่ยวชาญในการเลือกใช้เทคโนโลยี่และช่องทางการสื่อสารได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย

 

9.กินทีละคำ แบ่งแยกแล้วปกครอง

กล่าวกันว่า การปราบชนเผ่ากอล 30 เผ่า ที่กระจัดกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ ด้วยวิธีการตีกินไปทีละเผ่า เข้าปกครองทีละหย่อม นับเป็นยุคแรกของกลยุทธศาสตร์ “แบ่งแยก แล้วปกครอง” ที่ซีซ่าร์นำมาใช้ก่อนเป็นยุคแรกๆ

การตัดแบ่งทีละส่วน ทำให้ชนเผ่ากอลรวมตัวกันไม่ติด กว่าจะรู้ตัวก็ถูกยึดครองไปมากแล้ว การยึดครองทีละส่วนของซีซ่าร์ยังทำให้เขาสามารถสะสมกำลังและเสบียงอาหารเพื่อรุกไปข้างหน้าได้อีกด้วย เพราะวิสัยของซีซ่าร์ เขาจะไม่คิดเรื่องการส่งกำลังบำรุงไปจากโรม เขาไปหาเอาข้างหน้าทั้งสิ้น

 

10.ตั้งรับแรงกระหนาบ ด้วยวงแหวนสองชั้น

ในคราวศึกที่อเล็กเซีย กลยุทธ์ที่เอาชนะศึกของซีซ่าร์น่าสนใจมาก จะเป็นการวางแผนแบบรู้ล่วงหน้า ทำนายสถานการณ์ได้ถูกต้องแม่นยำ หรือว่าเป็นการไหลตามสถานการณ์ ก็สุดคาดเดา แต่เขาเอาชนะการศึกครั้งนั้นมาได้ และนำมาสู่การชนะสงครามปราบชนเผ่ากอลได้ทั้งหมดจากจุดเดียว

เมื่อแม่ทัพเวอร์ซินของเผ่ากอล เข้าไปปักหลักในเมืองอเล็กเซียได้ และใช้ปัจจัยด้านเสบียงอาหารที่ได้เปรียบ มาเป็นตัวแปรกดดันกองทัพโรมันที่ไร้ระบบส่งกำลังบำรุงให้อดอยากและพ่ายแพ้  แต่ซีซ่าร์กลับใช้กลยุทธ์ตั้งกำแพงปิดล้อมเมืองไว้ทั้งเมือง ไม่ให้มีใครเล็ดลอดออกไปได้

ระหว่างนั้นต่างฝ่ายต่างหาวิธีที่จะเอาชนะกัน ทางเวอร์ซินรีบส่งข่าวให้กองทหารกอลจากเมืองต่างๆเข้ามาช่วย หวังเข้าตีกระหนาบ ซึ่งเมื่อทหารกอลจากเมืองอื่นมาสมทบจริงตามนัดหมายและมีจำนวนมากเสียด้วย  ซีซ่าร์กลับสั่งให้สร้างกำแพงวงแหวนล้อมอีกชั้น โดยทหารโรมันอยู่ระหว่างนั้นและใช้กำแพงเป็นที่กำบังศาสตราวุธ สู้ด้วยอาวุธธนูเป็นหลัก จนเมื่อกำแพงแตก ข้าศึกบุกเข้ามาได้ จึงตัดสินใจส่งกองทหารม้าที่แข็งแกร่งตีฝ่าออกไป แล้วกลับมาตีตลบหลัง กองทัพกอลไม่ทันต่อกลศึกของซีซ่าร์จึงเป็นฝ่ายปราชัย ทั้งที่มีกำลังพลเหนือกว่ามาก

 

จักรวรรดิโรมัน หลังยุคจูเลียส ซีซ่าร์

Octavius ได้ครองอำนาจเป็นจักรพรรดิแห่งโรม หรือ ออกุสตุส อยู่นานถึง 41 ปี ในยุคของออกุสตุส ได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคทองของโรมัน  ฐานะของจักรพรรดิได้รับการยกย่องเชิดชูชึ้นเป็นเหมือนกษัตริย์ มีสิทธิเลือกรัชทายาทด้วยพระองค์เอง  ในรัชสมัยของออกุสตุสพระองค์นี้ ในมลฑลจูเดียมีเหตุการณ์สำคัญอันหนึ่งเกิดขึ้นคือ พระเยซูคริสต์ประสูติ ที่นครเบธเลเฮม

โรมมั่งคั่งขึ้นมากในสมัยออกุสตุส  มีความสงบสุขทั่วทั้งจักรวรรดิเป็นเวลาประมาณ 200 ปี กษัตริย์ออกุสตุสได้ทรงจัดวางระเบียบการเงินอันมีประสิทธิภาพ  ส่งเสริมการลงทุนการค้า  สร้างถนนใหม่  เพิ่มจำนวนประชาชนโรมัน (Citizenship ) และกำหนดให้มีองค์การด้านตำรวจและการดับเพลิงขึ้น

จักรวรรดิโรมัน มีการสืบสันติวงศ์เรื่อยมา  จากจักรวรรดิโรมันที่ 1 ที่มีกรุงโรมเป็นศูนย์กลาง มาเป็นจักรวรรดิ์โรมันที่ 2 หรือ ไบแซนไทม์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล  ต่อมาในปี A.D.1453 ก็ถูกโค่นลงและแทนที่โดยจักรวรรดิ Ottoman ของชาวเติร์ก.

 

ข้อมูลในวิกิพีเดียระบุไว้ว่า จักรวรรดิโรมันเคยมีดินแดนอยู่ในการครอบครองมากมาย ได้แก่ อังกฤษและเวลส์ ยุโรปส่วนใหญ่ (ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไรน์และทางใต้ของเทือกเขาแอลป์) ชายฝั่งของแอฟริกาเหนือ บริเวณมณฑลใกล้เคียงของอียิปต์ แถบบอลข่าน ทะเลดำ เอเชียไมเนอร์ และส่วนใหญ่ของบริเวณลีแวนท์  ซึ่งดินแดนเหล่านี้จากตะวันตกสู่ตะวันออกในปัจจุบันได้แก่ โปรตุเกส สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี แอลเบเนียและกรีซ แถบบอลข่าน ตุรกี ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกของเยอรมนี

ทางภาคใต้จักรวรรดิโรมันได้รวบรวมตะวันออกกลางไว้ซี่งในปัจจุบันก็ได้แก่ซีเรีย เลบานอนอิสราเอล จอร์แดน จากนั้นในภาคตะวันตกเฉียงใต้ จักรวรรดิได้รวบรวมอียิปต์โบราณไว้ทั้งหมด และได้ทำการยึดครองต่อไปทางตะวันตกซึ่งเป็นบริเวณชายฝั่งทะเลซี่งในปัจจุบันคือประเทศลิเบีย ตูนิเซีย แอลจีเรียและโมร็อกโก จนถึงตะวันตกของยิบรอลตาร์

ประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในจักรวรรดิโรมันเรียกว่าชาวโรมัน และดำเนินชีวิตภายใต้กฎหมายโรมัน

 

การขยายอำนาจของโรมันได้เริ่มมานานตั้งแต่ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเรืองอำนาจสูงสุดในสมัยจักรพรรดิทราจัน ด้วยชัยชนะเหนือดาเซีย (ปัจจุบันคือประเทศโรมาเนียและมอลโดวา และส่วนหนึ่งของประเทศฮังการี บัลแกเรียและยูเครน) ในปี ค.ศ.106 และเมโสโปเตเมียในปี ค.ศ. 116 (ซึ่งภายหลังสูญเสียดินแดนนี้ไปในสมัยจักรพรรดิฮาเดรียน)

 

ถึงจุดนี้ จักรวรรดิโรมันได้ครอบครองแผ่นดินประมาณ 5,900,000 ตร.กม. (2,300,000 ตร.ไมล์) และห้อมล้อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งชาวโรมันเรียกทะเลนี้ว่า mare nostrum “ทะเลของเรา” อิทธิพลของโรมันได้ส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านภาษา ศาสนา สภาปัตยกรรม ปรัชญา กฎหมายและระบบการเมืองมาจนถึงทุกวันนี้

จักรวรรดิโรมัน Credit Photo by https://tnahra.files.wordpress.com/2008/11/western-and-eastern-roman-empire.png

จักรวรรดิถูกแบ่งออกเป็นฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกในสมัยของจักรพรรดิไดโอคลีเชียน และถือว่าจักรวรรดิโรมันล่มสลายลงในช่วงเวลาประมาณวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 476 เมื่อจักรพรรดิโรมิวลุส ออกุสตุสจักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกถูกขับไล่และเกิดการจลาจลขึ้นในโรม

อย่างไรก็ตาม จักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือที่รู้จักกันในชื่อจักรวรรดิไบแซนไทน์ ก็ได้รักษากฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีแบบกรีก-โรมัน รวมถึงศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ไว้ได้ในอีกสหัสวรรษต่อมา จนถึงการล่มสลายเมื่อเสียกรุงคอนแสตนติโนเปิลให้กับจักรวรรดิออตโตมัน ในปีค.ศ. 1453.

 

เปรียบเทียบยุคกรีก

จักรวรรดิโรมันขณะมีความเจริญสูงสุดนั้นมีประชากรประมาณ 75,000,000  คน  ไม่เคยปรากฏมาก่อนหน้านี้ว่าคนจำนวนมากขนาดนี้จะสามารถอยู่รวมกันอย่างดี  นับเป็นประวัติศาสตร์การเกิดสากลรัฐ  ซึ่งประกอบด้วยชนหลายชาติ  อยู่กันโดยสันติและราบรื่น  นับเป็นความสำเร็จอันยิ่งยอดที่สุดของโรม

อารยธรรมโรมัน สืบทอดต่อมาจากอารยธรรมกรีกในหลายๆด้าน โดยมีการพัฒนาต่อยอดกันมา

กองทัพโรมันสืบทอดวิธีการรบโดยใช้หอกยาวและการจัดกำลังรบแบบกองทหารฟาลังส์ของกรีก ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นกองทหารลิเจียนแทนในช่วงราว -405 ถึง – 395 B.C.

กองทหารฟาลังส์ Credit Photo By https://tnahra.files.wordpress.com/2008/11/phalanx.jpg

ทหาร 256 คนเข้าแถวเป็นรูปสี่เหลี่ยม  อาจจะรบตามลำพังหรืออาจจะเป็นส่วนหนึ่งของกองทหารฟาลังส์ที่มีจำนวนหลายพันก็ได้ เวลารบนับ 5 แถวแรกข้างหน้าจะยื่นหอกออกไปข้างหน้า ส่วนพวกข้างหลังที่เหลืออยู่ก็จะยกหอกของตนขึ้นประสานกัน  เป็นการคุ้มกันลูกธนูให้กับพวกที่อยู่ข้างหน้าด้วย  พระเจ้าฟิลปที่ II  ได้นำเอากองทัพแบบนี้มาใช้เพื่อเปิดทางให้กับพวกทหารม้า

Credit photo by https://tnahra.files.wordpress.com/2008/11/macedonianphalanx.jpg

 

ลักษณะของโรมันเปรียบเทียบกับกรีก

โรมันจะเคารพในอำนาจ เข้มงวดเรื่องความยุติธรรม  การลงโทษอย่างโหดร้าย  ไม่ค่อยมีเมตตา ส่วนกรีกจะบูชาเหตุผล

กรีกจะเรียกร้องความรู้สึกส่วนตัวและสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล  แต่โรมันจะให้ความสำคัญพิเศษในเรื่องความสารถควบคุมตัวเอง และความอยู่ในระเบียบแบบแผน

กรีกจะเป็นนักทฤษฎีและศิลปินที่ปราดเปรื่อง  ในขณะที่โรมันสนใจทางนิติธรรมศาสตร์และทฤษฎีรัฐศาสตร์

โรมันเป็นผู้วางรากฐานการปกครองให้กับยุโรปตะวันตกปัจุบัน กล่าวคือ เขตปกครองในยุโรปมีต้นตอมาจาก Rome เช่น province  นอกจากนี้ ก็มีคำว่า fiscal, senate, plebiscite, citize, municipal,  census  เป็นต้น

 

นอกจากนั้นยังมี ทฤษฎีสัญญาสังคม  (ที่ว่ารัฐบาลถือกำเนิดจากการตกลงโดยสมัครใจในหมู่ประชาชน) และความคิดเกี่ยวกับอธิปไตยของปวงชน หลักที่ว่าด้วยการแบ่งอำนาจ  (ดังเช่นในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา) และ ความคิดที่ว่ากฎหมายเป็นหลักสูงสุดในการปกครองประเทศ.

 

พลเดช ปิ่นประทีป

12 สิงหาคม 2561