ต้นแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนท้องถิ่น 4 กรณี : การศึกษาดูงานสิ่งแวดล้อมที่ประเทศญี่ปุ่น

โดย  พลเดช  ปิ่นประทีป

กรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว

วันที่ 4-10 พฤศจิกายน 2561

Table of Contents

กรณีศึกษาที่ 1  การฟื้นฟูพื้นที่ป่าภายหลังพิบัติภัยธรรมชาติ ที่อุทยานแห่งชาติอาโสะ-คูจุ (Aso-Kuju  National park)

 

อุทยานแห่งชาติอาโสะ-คูจุ ตั้งอยู่ในเขตรอยต่อจังหวัดคุมาโมโตะและจังหวัดโออิตะ บนเกาะกิวชูของประเทศญี่ปุ่น  อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ตั้งขึ้นตามชื่อภูเขาไฟอาโสะ ซึ่งเป็นภูเขาไฟมีพลังที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น กับเทือกเขาคุจูซึ่งอยู่ติดต่อกัน

ที่มา http://www.undiscovered-japan.com/

ภาพแผนที่ แสดงที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติอาโสะ-คูจุ

 

ที่มา https://japan-magazine.jnto.go.jp/

ภาพแผนที่ แผนที่ภูมิศาสตร์ปากปล่อยภูเขาไฟเอโสะ

 

ภูเขาไฟอะโสะ (Mount Aso) ตั้งอยู่ใจกลางของอุทยานแห่งชาติอาโสะ-คูจุ มีปากปล่องภูเขาไฟซึ่งนับเป็นหนึ่งในโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ด้วยเส้นผ่าศูนย์กลาง 25 กิโลเมตร มีเมืองถึง 3 เมืองอยู่ในบริเวณนี้ นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีระบบรถไฟ การทำกสิกรรม และทุ่งเลี้ยงสัตว์  อีกทั้งมีปล่องขนาด 4-5 กิโลกเมตรอีก 5 ลูก ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นภูเขาไฟที่ยังไม่ดับหมอด ทั้งหมดนี้ล้วนตั้งอยู่ริมขอบของปากปล่องภูเขาไฟดังกล่าว

ภูเขาไฟอาโสะ เคยระเบิดครั้งสุดท้ายเมื่อ 300,000 ปีที่ก่อน ขอบของปากปล่องภูเขาไฟ (crater) กลายเป็นสันเขาที่อยู่โดยรอบพื้นที่ขนาดใหญ่ มีความยาวโดยรอบถึง 120 กิโลเมตร กล่าวกันว่าใหญ่มาจนนักบินอวกาศสามารถมองลงมาเห็นได้ เช่นเดียวกับภูเขาไฟฟูจิที่มีชื่อเสียงมากอีกแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น

ในเขตอุทยานแห่งชาติไม่มีบ้านเรือนหรือชุมชนอยู่อาศัย แต่ชุมชนสามารถใช้เป็นที่เลี้ยงปศุสัตว์ เช่น วัว ม้า เพราะภูมิประเทศของภูเขาไฟจะมีทุ่งหญ้าอยู่มากมาย ต้นไม้ใหญ่ไม่สามารถขึ้นในพื้นที่ทั่วไปได้ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดและประเทศอีกด้วย

ญี่ปุ่นเป็นประเทศหมู่เกาะ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิค อยู่ในบริเวณวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยที่สุดของโลก นอกจากนั้นยังมีภัยธรรมชาติจากพายุไต้ฝุ่นที่ก่อตัวจากตอนเหนือของหมู่เกาะฟิลิปปินส์แล้วม้วนตัวขึ้นไปทางด้านบน ปะทะเข้ากับเกาะกิวชูโดยตรง ญี่ปุ่นส่วนนี้จึงโดนพายุไต้ฝุ่นเกือบทุกปี

ปี ค.ศ. 2016 เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในบริเวณอุทยานแห่งชาติอาโสะ-คูจุ ทำให้เกิดรอยแยกของภูเขาและแผ่นดินทั่วบริเวณ รวมทั้งเมืองและชุมชนหลายแห่งก็ได้รับผลกระทบด้วย โชคร้ายในปีถัดมา ค.ศ. 2017 เกิดพายุไต้ฝุ่นกระหน่ำติดต่อกันทั้งวันทั้งคืนติดต่อกัน แผ่นดินและภูเขาที่มีรอยแยกอยู่แล้วเมื่อถูกน้ำเทลงมาจากท้องฟ้าอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดน้ำท่วมดินโคลนถล่มอย่างรุนแรง

ดินโคลนและน้ำที่ทะลักลงมาจากเขา ไหลลงมาสู่พื้นที่ล่างลงมาตามแรงโน้มถ่วงและร่องเขาที่เป็นทางน้ำ ป่าสนซีดาร์และต้นไม้อื่นๆที่มีอยู่น้อยนิดไม่อาจต้านทานอะไรได้เลย ทำได้เพียงอย่างเดียว คือ การอพยพหนี้ภัยและกลับมาฟื้นฟูในภายหลัง

สิ่งที่คณะศึกษาได้ไปดูงานและฟังบรรยายจากเจ้าหน้าที่ คือ การสร้างเขื่อนชะลอดิน เขาสร้างเขื่อนเล็กๆจำนวนมาก กระจายในระหว่างซอกเขาที่น้ำและดินจะไหลลงมา เพราะดินโคลนที่ไหลลงมาในยามที่โดนพายุนั้นจะไหลลงไปสร้างความเสียหายแก่ชาวบ้านในเมืองและชุมชนที่อยู่ข้างล่าง เป็นมาตรการการป้องกัน

ประเทศญี่ปุ่นมีการปกครองซึ่งมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างแท้จริง เขาไม่มีส่วนภูมิภาคแบบบ้านเรา จังหวัดท้องถิ่นทั้ง 47 แห่ง มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เช่นเดียวกับเทศบาลทุกแห่ง ทุกเมืองต่างก็เป็นแบบนี้ นั่นย่อมหมายถึงว่ากิจการการดูแลสารทุกข์สุกดิบของประชาชนเป็นบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารและข้าราชการส่วนท้องถิ่นโดยแท้

น่าสังเกตว่า ในการฟื้นฟูพื้นที่และการสร้างเขื่อนชะลอดินโคลนที่กล่าวข้างต้นนี้ กลายเป็นบทบาทของเจ้าหน้าที่ซึ่งสังกัดจังหวัดท้องถิ่น (prefecture) ตามลำพังเท่านั้น ไม่มีภาพของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และไม่เห็นบทบาทของข้าราชการส่วนกลางเข้ามาดำเนินการ ทั้งๆที่พื้นที่อุทยานแห่งชาติอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานระดับชาติ

เขื่อนชะลอดินที่เราไปศึกษาดูงาน ในทางเทคนิคเป็นเขื่อนที่ใช้ดินภูเขาไฟผสมซีเมนต์ (soil cement) งบประมาณราว 100 ล้านบาท แม้ไม่ทราบว่าแหล่งงบประมาณมาจากไหน แต่การดำเนินการทำโดยจังหวัดท้องถิ่นแน่นอน เจ้าหน้าที่ที่มาต้อนรับและบรรยายให้เราฟังที่หน้าไซต์งานสร้างเขื่อนชะลอดิน แต่งตัวทะมัดทะแมง สังเกตที่ด้านหลังเสื้อแจ็คเก็ตที่สวมใส่ มีตราโลโล้ของ ASO Prefecture ติดอยู่ทุกคน

 

แง่คิดจากกรณีศึกษา

  1. ประเทศญี่ปุ่นเป็นกลุ่มเกาะกรวยภูเขาไฟสลับชั้น มีเกาะเล็กเกาะน้อยรวมประมาณ6,852 เกาะ เกาะใหญ่สุดมี 4 เกาะ คือ เกาะฮอนชู ฮอกไกโด กิวชู และชิโกกุ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่แผ่นดินประมาณร้อยละ 97 ของประเทศญี่ปุ่น  สภาพที่ตั้งและภูมิศาสตร์ทำให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญต่อภัยธรรมชาติอยู่เป็นอาจิณ ทั้งภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว สึนามิ พายุไต้ฝุ่น และน้ำท่วมดินโคลนถล่ม ประชาชนญี่ปุ่นจึงถูกหล่อหลอมให้เป็นคนที่มีระเบียบวินัย ต่อสู้ อดทน เคารพกฎหมาย และมีสำนึกในการ “อยู่รอดร่วมกัน”
  2. ประเทศญี่ปุ่นแบ่งการปกครองออกเป็น 47 จังหวัดแบ่งภาคออกเป็น 8 ภูมิภาค ซึ่งมักจะถูกจับเข้ากลุ่มตามเขตแดนที่ติดกันที่มีวัฒนธรรมและสำเนียงการพูดใกล้เคียงกัน ทุกจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้บริหาร ไม่มีระบบราชการส่วนภูมิภาค มีแค่ราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเท่านั้น  ในแต่ละจังหวัดมีการแบ่งเขตการปกครองท้องถิ่นออกเป็นเทศบาลหรือเมืองย่อยๆจำนวน 3,232 เทศบาล  แต่ในปัจจุบันกำลังมีการปรับโครงสร้างการแบ่งเขตการปกครองโดยการรวมเทศบาลที่อยู่ใกล้เคียงกันเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนเขตการปกครองย่อยและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารเทศบาลลงได้  การรวมเขตเทศบาลนี้เป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยมีการคาดการณ์ที่จะลดจาก 3,232 เทศบาล (พ.ศ.2542) เหลือเพียง 1,773 เทศบาลใน (พ.ศ. 2553) ทุกเทศบาลมีผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้ง  ประเทศญี่ปุ่นมีเมืองใหญ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละเมืองต่างมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงมีสำเนียงภาษาที่แตกต่างกันออกไป
  3. ประชากรญี่ปุ่น

ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า ในหลายปีที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นสูญเสียประชากรสุทธิเนื่องจากอัตราการเกิดลดลง และแทบไม่มีการย้ายเข้าประเทศ แม้ว่ามีการคาดหมายคงชีพสูงที่สุดในโลกที่อายุ 81.25 ปี นับถึง ค.ศ. 2006

จำนวนประชากรของญี่ปุ่นขึ้นสูงสุดใน ค.ศ. 2008 ที่จำนวน 128,083,960 และจากนั้นลดลงทุกปี ๆละประมาณ 1 ล้านคน  ทำให้คาดว่าประชากรญี่ปุ่นจะลดลงเหลือ 86 ล้านคนภายใน ค.ศ. 2060  

 

บันทึกเพิ่มเติมจากคณะศึกษาดูงาน

 ดร.เอนก นาคะบุตร

วันแรก….. ลงเครื่องบินที่สนามบินฟูกูโอกะ  5 พ.ย.2561   เริ่มด้วยการกล่าวนำ และให้ข้อคิดของท่าน ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล  ประธานสถาบันลูกโลกสีเขียว

ข้อ 1 หลักคิดและหลักการของพระองค์ท่าน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการทรงงาน และพระราชทานพระราชกรณียกิจต่อประชาชน  เป็นหลักคิดในการทัศนศึกษา คือ:

1) เข้าใจ: ว่าทำไม? ประชาชนชาวญี่ปุ่น  จึงมีจิตสำนึก วินัย  และแรงจูงใจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  ที่มีอย่างจำกัด (ที่ราบที่ใช้ทำการเกษตร  มีเพียง 18 % ของพื้นที่เกาะ) ในขณะที่ญี่ปุ่น มีประชากรมาก ราว 130 ล้านคน

2) เข้าถึง : องค์ความรู้  และกระบวนการสร้างจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่  ต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด  ประเด็นสำคัญคือการจัดการคน  ซึ่งเป็นปัจจัยและพลังขับเคลื่อนของทรัพยากรธรรมชาติ

3) พัฒนา : คือการเรียนรู้ถึงการลงมือปฏิบัติ  ที่เจาะลึกถึงเทคนิควิธี  และกระบวนการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ  ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

4) 20 ปีที่ผ่านมา : ชาวลูกโลกสีเขียวทำงานร่วมกัน และทุ่มเท คัดเลือกชุมชนเข้ารับรางวัล  สร้างความสำเร็จที่เป็นที่น่าชื่นชม  คณะกรรมการจึงขอมอบรางวัล แห่งการทำงานดังกล่าวและสำเร็จด้วยดี   ด้วยการให้คณะกรรมการทุกท่านมาเรียนรู้ และศึกษาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศญี่ปุ่น  ที่มีข้อจำกัดมากมายดังกล่าว  รวมทั้งมีภัยธรรมชาติ และภัยพิบัติต่างๆ  เพื่อ เข้าใจและเข้าถึงองค์ความรู้ของคนญี่ปุ่น  และนำกลับไปพัฒนา ต่อยอดภาระกิจลูกโลกสีเขียว  ในอนาคต  ที่ไทยเราต้องเผชิญ ทั้งจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น แต่ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติกำลังหดน้อยและเสื่อมทรามลง  ควบคู่การบุกรุกแย่งชิงทรัพยากรจากทุกๆฝ่าย  และกับการที่บางส่วนของไทย  จะพัฒนาไปสู่สังคมเมืองและอุตสาหกรรมสมัยใหม่

5) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในรถ

พระสมคิด จาก จ.น่าน  ได้เมตตาให้หลักคิดเพิ่มเติมว่า…. ทรัพยากรธรรมชาติที่จะยั่งยืน  จะต้องอยู่ทั้ง บนฐานทุน และฐานธรรม

ภูเขาไฟ ASO  มีปากปล่องภูเขาไฟ  ที่ยอดยังระอุอยู่  ผลจึงทำให้ต้นไม้ไม่สามารถเจริญขึ้นบนยอดภูเขา  หรือปากปล่องได้ดี  จึงเห็นยอดภูเขาหัวโล้น  จากดินและหินที่ยังร้อนระอุอยู่ ต้นไม้ใหญ่ไม่สามารถขึ้นได้

 เมื่อ 2 ปีก่อน  เกิดแผ่นดินไหว  และเกิดภูเขาถล่มจากยอดดอย  พาเศษดินและเศษหินใหลลงมายังตีนเขา  ตามร่องหุบเขา  ทำให้บ้านเรือนพังทะลายทั้งหลัง และบางส่วน ราว  100,000 หลัง ใน กว่า 28 หมู่บ้านประชาชนเสียชีวิติ ราวเกือบ  300 คน  และบาดเจ็บเกือบ  3,000 ราย  คิดเป็นมูลค่าเสียหายเกือบ  200,000 ล้านเย็น

แม้ในอดีต  จะมีเขื่อนชะลอดินขนาดเล็กๆ  กว่า 100 เขื่อน ดักดินตามร่องเขาอยู่ก่อนแล้ว  แต่แผ่นดินไหวเมื่อ 2 ปีก่อน  ทำให้เกิดความร่วมมือของจังหวัด และจังหวัดข้างเคียง  ในการสำรวจรอยแยกแตกของผิวดินรอบปล่องภูเขาไฟ ASO  เพื่อสำรวจรอยร้าว ร้ยแยกที่เกิดขึ้น  พร้อมกับมีข้อสรุปในการสร้าง  “เขื่อนใหญ่ชะลอดินและหิน ” ด้วยวัสดุ  soil cement  แทนเขื่อน concrete  ขึ้นเป็นเขื่อนแรกในญี่ปุ่น และในจังหวัด Kumamoto

 

นวัตกรรมของเขื่อน Soil cement ที่จังหวัด Kumamoto :

(1). เขื่อน Soil cement  สร้างเสร็จเร็ว  เพราะ  Soil cement  แห้งเร็วกว่า Concrete cement  ที่ต้องรอให้ปูนแห้งภายหลังจากกการเทปูน ราว 1 สัปดาห์  และสามารถประหยัดค่าก่อสร้างได้ 2.5 เท่าของราคาเขื่อน concrete cement  ยิ่งกว่านั้น  สามารถใช้ดินและหินที่ถล่มลงมาก่อนหน้านั้น เป็นวัสดุ ในการสร้างเขื่อน  Soil cement

(2). ส่วนความแข็งแรง  และอายุความคงทน  มีคุณสมบัติพอๆกับเขื่อน concrete cement…. และถ้าจะนำมาปรับประยุกต์ใช้เป็นเขื่อนชะลอน้ำ คงต้องเพิ่มฐานรับแรงดัน และแรงกดของน้ำ  ที่ต้องคำนวณเพิ่มเติม

(3). ในการจัดการธรรมชาติ  และป้องกันภัยพิบัติ  ที่นี่เขาจัดการเบ็ดเสร็จโดยหน่วยป่าไม้ของจังหวัด Kumamoto  ทั้งด้านการอนุรักษ์  ด้านการดูแล  และด้านการใช้ประโยชน์จากการใช้ไม้  ทั้งในเขตป่าอุทยานแห่งชาติ  และป่าเอกชนทีมีกรรมสิทธิ์ก่อนออกกฏหมายของญี่ปู่น  โดยการจัดสรรโควต้า  ทั้ง 2 พื้นที่และทั้งป่าไม้จังหวัด ตัดและแปรรูปเอง  กับ การให้สัมปทานตามโควต้า

(4). การปลูกป่าไม้ใหญ่ บนปากปล่อง  ไม่สามารถทำได้  เพราะดินระอุ ( ดิน Anzangung ) ทางออกจึงต้องสร้างเขื่อนชะลอดิน  และสร้างระบบเตือนภัย  รอบยอดเขาถล่มทับหมู่บ้าน กว่า 28 หมู่บ้าน  ที่เคยได้รับผลกระทบเมื่อ 2 ปีก่อน

(5). การสร้างเขื่อนชะลอดินดังกล่าว  เจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัด  ( คุณ ยามาเบะ ) ย้ำถึงการเรียนรู้จากภัยพิบัติ  ดังกล่าว เมื่อ 2 ปีก่อน  ในการสร้างความตระหนัก  และความร่วมมือ  ทั้งจาก ผู้ได้รับกระทบ  และการเคารพต่อกรรมสิทธิ์  และความเป็นเจ้าของที่ดิน ของเอกชน  ควบคู่การสร้างความร่วมมือกับป่าไม้จังหวัด

(6). การดูแลและเผาบริเวณทุ่งหญ้า  ให้ซากหญ้าถูกเผา  และให้วัชชพืชหญ้าขึ้นมาใหม่หลังการเผา  เพื่อเป็นการดูแลทุงหญ้าในเชิงเขา  ให้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง  ที่เป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านรอบภูเขา ASO คือ การเลี้ยงวัว และม้า  ควบคู่การจัดถนนให้วัวเดิม  ถือเป็นภาระกิจของป่าไม้จังหวัด  ที่ต้องเผาทุ่งหญ้าทุกปี  ด้วยการเผาแบบจำกัดบริเวณ ร่วมกับการให้ชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากทุ่งหญ้า

 

กรณีศึกษาที่ 2    เมืองโมโรสึกะ เมืองมรดกโลกด้านเกษตรกรรม

โมโรสึกะ เป็นเมืองขนาดเล็กที่ตั้งอยู่กลางหุบเขา ในจังหวัดมิยาซากิ บนเกาะกิวชู ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองแห่งป่าไม้และการเกษตรที่คนในชุมชนเรียนรู้ที่จะอยู่ ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์กับป่าไม้อย่างหวงแหนจากรุ่นสู่รุ่น เป็นต้นแบบที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาในปี 2004 ได้รับรางวัล Forest Stewardship Council certification – FSC และในปี 2015 ได้รับรางวัลมรดกโลก World Agricultural Heritage

ภูมิประเทศ

โมโรสึกะ มีพื้นที่กว้างขวางถึง 187.5 ตารางกิโลเมตร แต่สภาพส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน บริเวณที่ตั้งของชุมชนและเมืองจึงมีแค่พื้นที่ราบแคบๆอยู่กลางหุบเขาเบื้องล่าง มีแม่น้ำลำธารไหลผ่านกลางและลัดเลาะไปตามธรรมชาติ ชุมชนบางส่วนกระจายกันไปอยู่เป็นกลุ่มบ้าน 5-8 หลังคาเรือนตามที่ที่พอจะตั้งเป็นบ้านเรือนและทำเกษตรกรรมได้ มีชุมชนย่อยๆ 16 ชุมชน 88 กลุ่มบ้าน ประชากรรวม 1,715 คน

ภูมิอากาศของเกาะทางใต้ โดยทั่วไปค่อนข้างอบอุ่น โมโรสึกะอุณหภูมิเฉลี่ย 15 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนบางคราวสูงถึง 35 องศา ฤดูหนาวมีหิมะตกระยะสั้นๆ บางคราวหนา 50 ซม.แต่ละลายเร็วมากเพราะแผ่นดินอุ่น ปริมาณฝนทั้งปี 2,700 มม.

 

ภาพแผนที่ เกาะกิวชู และจุดที่ตั้งของโมโรสึกะ จังหวัดมิยาซากิ

ด้านประชากร

โมโรสึกะอยู่ในภาวะถดถอยทางประชากร เดิมเมื่อ 50 ปีก่อน เคยมีประชากร 5,636 คน ปัจจุบันเหลือเพียง 1,715 คนเท่านั้น ในจำนวนนี้มีเด็ก 115 คนเท่านั้น อยู่ในวัยเรียนประถมและมัธยมต้น 73 คน มีโรงเรียน 3 แห่ง ครู 30 คน

ชุมชนมีความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานของระบบการศึกษาของท้องถิ่นว่าดีไม่แพ้ในเมืองใหญ่ ครูทุกคนเป็นข้าราชการของจังหวัดท้องถิ่น ซึ่งจะถูกส่ง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาสอนประจำคนละ 3 ปี ใช้ข้อสอบเดียวกันและสอบพร้อมกันที่เดียวทั่วประเทศ จึงมีคุณภาพเดียวกันไม่มีเหลื่อมล้ำ

ปัญหาที่ชุมชนพบประการหนึ่งคือ เด็กที่ต้องการเรียนต่อมัธยมปลายไม่มีที่เรียน ต้องเข้าไปเรียนต่อในเมืองใหญ่ ซึ่งพบว่ามีเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่จะกลับมาอยู่บ้านเกิด นอกนั้นมุ่งหางานทำในเมืองเพราะมีสวัสดิการที่ดีกว่า

ด้านสังคม

เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่ายากจนที่สุดของญี่ปุ่นเมื่อ 60 ปีก่อน ไม่สามารถจ่ายภาษีให้รัฐบาลเลยเป็นที่น่าอับอาย ปี 2507 มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่โตเกียว ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ รัฐบาลเอาไม้จากที่นี่ไปใช้ในการก่อสร้างสนามกีฬาและระบบโครงสร้างพื้นฐาน ในคราวนั้นรัฐบาลได้ลงทุนตัดถนนเล็กๆเข้าไปทั่วทั้งพื้นที่ป่า เพื่อนำไม้ออกมาได้สะดวกและเป็นการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมป่าไม้ของประเทศด้วย

ปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคอีกเป็นครั้งที่2 ไม้ที่ปลูกทดแทนในครั้งโน้นกำลังอยู่ในระยะที่ตัดได้พอดี ชุมชนภาคภูมิใจว่าบัดนี้ชุมชนไม่จนแล้ว สามารถเสียภาษีให้รัฐบาลได้ การสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ก็ยังคงอาศัยไม้จากโมโรสึกะเป็นด้านหลักเช่นเคย

มีประชากรผู้สูงอายุ เกิน 65 ปีขึ้นไปมีจำนวนมากถึง 42%  ซึ่งจัดเป็นสังคมสูงวัยที่เต็มแก่เลยทีเดียว มีโรงพยาบาลชุมชน 1 แห่ง ขนาด 19 เตียง มีระบบบริการการแพทย์เคลื่อนที่ทางรถยนต์และเฮลิคอปเตอร์ มีสถานที่ดูแลผู้สูงอายุและการดูแลระยะสุดท้ายในชุมชนด้วย

อาชีพหลัก

ชุมชนที่นี่ทำหลายอาชีพไปพร้อมๆกัน อาชีพหลักของชุมชนโมโรสึกะ ที่ทำให้ชุมชนหายจนและมีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ คือ การเกษตรอุตสาหกรรม มี 4 อย่างใหญ่ๆ ได้แก่

  1. อุตสากรรมป่าไม้

พื้นที่ป่าเขาของเมืองโมโรสึกะทั้งหมดเป็นพื้นที่ของเอกชน คือประชาชนมีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่ละคนเป็นเจ้าของที่ดินบนภูเขานับร้อยนับพันไร่ หน่วยราชการส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าของส่วนหนึ่ง แต่ไม่มีส่วนใดที่รัฐบาลกลางเป็นเจ้าของเลย

ประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ได้ใช้ที่ดินไปในการปลูกป่าสนซีดาร์และทำอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นการลงทุนระยะยาวอย่างมีการวางแผนโดยใช้หลักวิชาการ อายุของไม้ที่จะตัดเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ปี การปลูกและตัดจะทำเป็นแปลงๆไป มองไปทั่วเขตเขาจะเห็นแปลงตัดและปลูกทดแทนสลับกันไปอย่างเป็นระเบียบ มีการตัดไม้ทุกปี มีรายได้ไม่ขาดช่วงเนื่องจากมีการวางแผนที่ดี

ระบบการปลูกและตัดป่าไม้ในโมโรสึกะ ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลที่ทันสมัยทั้งหมด มีโรงแปรรูปไม้ของชุมชนท้องถิ่นเองโดยการร่วมลงทุนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด ระหว่างชุมชน ท้องถิ่น เอกชนและรัฐบาลกลาง จึงทำให้ประโยชน์ตกอยู่กับชุมชนท้องถิ่นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

  1. อุตสาหกรรมเพาะเห็ดชิตาเกะ

ป่าไม้ที่โมโรสึกะ มีการปลูกไม้ยืนต้นสามอย่างหลักๆ คือ สนซีดาร์ ต้นชิยูงิ และไม้ตามธรรมชาติที่ไม่ผลัดใบ  สำหรับชิยูงิ เป็นไม้ที่ปลูกไว้สำหรับอุตสาหกรรมเพาะเห็ดชิตาเกะโดยเฉพาะ ปลูก 20 ปีจึงตัดไปใช้งานได้

เห็ดชิตาเกะจะขึ้นได้ดีบนไม้ชนิดนี้เท่านั้น เกษตรกรตัดไม้ชิยูงิเป็นท่อนๆ ฉีดเชื้อเห็ดเข้าไปในเนื้อไม้ วาง

ทิ้งไว้รอให้เห็ดขึ้นแล้วเก็บขาย มีทั้งขายสดๆและแปรรูป

เกษตรกรนิยมเพาะเห็ด อยู่ร่วมในป่าของมันและมีบางส่วนที่ปลูกในโรงเรือนก็มี ชุมชนมีรายได้เป็นล่ำเป็นสันจากเห็ดชิตาเกะในแต่ละปี ทั้งนี้ มีองค์กรสหกรณ์ Japan Agricultural Cooperative เป็นกลไกสนับสนุนทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

  1. ปศุสัตว์ เลี้ยงวัว

พื้นที่เขาอันกว้างใหญ่ โดยเฉพาะตรงบริเวณที่ตัดป่าไปจะมีหญ้าขึ้นเขียวขจีเต็มไปหมด จึงเป็นแหล่งอาหารสำหรับปศุสัตว์เลี้ยงวัวได้เป็นอย่างดี อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากวัว คือ นม เนย และเนื้อวากิว เช่นเดียวกัน สหกรณ์ JA เป็นกลไกสนับสนุนเกษตรกรอย่างใกล้ชิด

  1. ปลูกผักผลไม้ ใบชา ดอกไม้และแปรรูปอาหาร

พื้นที่สำหรับการปลูกผัก ผลไม้ ดอกไม้และใบชา มีอยู่อย่างจำกัด เกษตรกรรายใดที่ต้องการทำอาชีพเหล่านี้จะต้องลงทุนทำโรงเรือนปลูกผักขาย JA จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโรงเรือนโดยการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐถึง 90%

โรงเรือนสำหรับปลูกผักและดอกไม้ เป็นปัจจัยพื้นฐานของเกษตรกรเหล่านี้ เป็นระบบที่ทันสมัย มีระบบอัติโนมัติสำหรับควบคุมน้ำ สารเคมีและปุ๋ย พวกเขาจะต้องลงทุนเช่าซื้อโรงเรือนนี้จาก JA ระบบดาวน์ 10% ส่วนที่เหลือผ่อนชำระ 10 ปี เมื่อครบแล้วก็เป็นทรัพย์สินส่วนตัวไป

แปลงเกษตรในกลุ่มที่คณะดูงานได้ไปเยี่ยมชม มีโรงเรือนจำนวน 11 หลัง มีเกษตรกรเป็นเจ้าของ 8 ราย ผลผลิตจากโรงเรือนเหล่านี้ใช้บริโภคในชุมชนและส่งออกไปขายข้างนอก มีสหกรณ์ JA และเจ้าหน้าที่เทศบาลเป็นหน่วยสนับสนุนอย่างครบวงจร

แง่คิดจากโมโรสึกะ

  • โมโรสึกะ เป็นเมืองชนบทที่น่าอยู่อาศัย น่าพักผ่อนหย่อนใจ สิ่งแวดล้อมดี สวยงาม สงบร่มเย็น ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ชุมชนสะอาด สะดวกสบาย สะท้อนถึงผู้คนหรือประชากรผู้อยู่อาศัยน่าจะมีความรักความสามัคคี มีจิตสำนึกที่ดีงาม มีความรู้ สามารถปรับตัวอยู่กับธรรมชาติและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน
  • โมโรสึกะ มีฐานอาชีพและเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น ที่วางอยู่บนฐานทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมป่าไม้ การเพาะเห็คชิตาเกะ การเลี้ยงวัว และการปลูกผัก ชา ไม้ดอก จึงไม่มีอาชีพหรืออุตสาหกรรมที่แปลกปลอมหรือแปลกแยกเข้ามาแทรกอยู่ เป็นการป้องกันต่อผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ไปในตัว
  • การจัดการขยะและน้ำเสียจากชุมชน ที่นี่ไม่แตกต่างจากมาตรฐานของชุมชนและเมืองใหญ่น้อยของญี่ปุ่นอยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่แหล่งน้ำตามธรรมชาติของเขาทุกแห่งทุกที่ล้วนสวยงาม น่ารื่นรมย์ น่าหลงใหล
  • ชุมชนโมโรสึกะ เป็นสังคมสูงอายุที่สมบูรณ์มานานหลายปีแล้ว และแก่ตัวลงไปทุกวัน ประชากรที่มีอายุเกิน 65 ปี มีมากถึงร้อยละ 40 ประชากรเด็กมีน้อยและยังมีแนวโน้มที่จะนิยมเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ จากจุดนี้ไป ยังจินตนาการไม่ออกว่า พวกเขาจะรับมืออย่างไรกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การดูแลรักษาระบบชุมชนและเมือง รวมถึงการขาดผู้รับช่วงดูแลบ้านเกิดเมืองนอนและฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งในระยะ 20 ปีข้างหน้า และระยะเกิน 50 ปีต่อไป !

 

บันทึกเพิ่มเติมจากคณะศึกษาดูงาน

ดร.เอนก นาคะบุตร

  1. เป็นชุมชนในหุบเขาอยู่บนพื้นที่ลาดชัน สูง 870 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล  ไม่มีที่ราบ พื้นที่ทั้งหุบเขาและยอดเขาเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวบ้าน จำนวน 88 ครัวเรือน ประชากร ประมาณ 1,600 คน มีวิถีชีวิตและอาชีพดั้งเดิม ตัดไม้ขาย เลี้ยงสัตว์  เผาทุ่งหญ้า และปลูกพืชผักแบบพออยู่พอกิน บนที่ดินของตนเองข้างหุบเขา
  2. หลังการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคของญี่ปุ่นครั้งที่แล้ว มีการตัดถนนเข้ามาในหุบเขาและตามยอดเทือกเขา หลายเส้นทาง ผลที่ตามมาคือเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูงขึ้น  ทำให้ชุมชน 88กลุ่มบ้าน หรือ 16 ชุมชน/หมู่บ้าน  ด้วยการจัดตั้งองค์กรชุมชนใหม่  รองรับภารกิจทั้งด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ สังคม  และการประสานการปกครอง  และการจัดการร่วมกันใหม่  ถึง 4 ระดับ กล่าวคือ

1) ศาลาประชาคม  ซึ่งเป็นที่รวมตัวกันทุกเดือน  ของผู้แทน 16 ชุมชน บนหุบเขา มาพบปะ ทำแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  แผนการจัดการเศรษฐกิจของ16ชุมชนร่วมกัน  มี JA และสหกรณ์ต่างๆ ประสานจังหวัด(ฝ่ายปกครอง)  และติดตามสื่อสารกับ 16 ชุมชน  ซึ่งแต่ละชุมชน จะสื่อสาร ประสานงานกับ 88 กลุ่มบ้านต่อไป

2 ) ผู้แทน และแกนกลุ่มบ้าน 16 กลุ่มบ้าน แกนป๊อก 88 ป๊อก (คุ้มบ้าน) ใน 16 กลุ่มบ้าน/หมู่บ้าน  จะมีการรวมตัวของชาวบ้าน 88 ป๊อก  แบบอาสาสมัคร และตามความสนใจหลากหลาย เช่น กลุ่มเด็ก  กลุ่มเยาวชน  กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มสหกรณ์ ( JA ) และกลุ่มผู้สูงอายุ

3) การขับเคลื่อนสำคัญ ใช้การจัดทำแผนประจำปี  และแผนระยะยาวล่วงหน้าทั้ง 10-20ปี  เช่นแผนการจัดการอุตสาหกรรมไม้สน ( cedar ) ทั้งตัด  ปลูก แปรรูป  แผนการท่องเที่ยวชุมชน  แผนการส่งเสริมอาชีพ  ในรูปการเพาะเห็ดในป่า  การปลูกพืชตลาด  ดอกไม้  มะเขือเทศ  ในเรือนกระจก  ร่วมกับสหกรณ์ และจังหวัด

  1. การจัดการเศรษฐกิจชุมชนร่วมกันระหว่างสหกรณ์ จังหวัด และ 16 หมู่บ้าน ด้วยการจัดการสมัยใหม่ ( leasing + government/จังหวัด subsidy + การมีส่วนร่วมจัดการตนเองของชุมชน)

1) สหกรณ์สำรวจ  สร้างเรือนกระจก  ในที่ดิน/ ที่ราบสาธารณะ

2) สหกรณ์ดำเนินการให้ชาวบ้านที่มีคุณสมบัติ  และสนใจเข้าเช่าซื้อ เรือนกระจก  และเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นอาชีพใหม่  ได้จำนวน 6 ราย  โดยมีที่ประชุมชาวบ้าน 88 ป๊อก  รับรองและติดตาม ( social control )กันเอง

3)สมาชิก 6 รายเช่าซื้อโรงเรือนกระจก และปลูกมะเขือเทศเล็ก  และ ดอกไม้ ตามที่สหกรณ์ส่งเสริม และผ่อนส่งค่าเช่าซื้อให้สหกรณ์ ปีละ 120,000 เย็น  เป็นระยะ 10 ปีต่อเนื่อง (คิดเป็น 5 % ของราคาเรือนกระจก ) โดยที่ ต้นทุนอีก 95 % ที่สหกรณ์ลงทุนก่อสร้างไปก่อน  จะเบิกคืนได้ครบทั้ง 95% จากจังหวัด

4) สหกรณ์จะรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก  และหาตลาดให้  แทนสมาชิก

5)  สหกรณ์จะเป็นตัวกระตุ้นการทีส่วนร่วมของ 88 ป๊อกทุกเดือน  และกำกับให้ทุกแผนการจัดการ  ไม่ขัดต่อกฏหมายของจังหวัด  และขัดต่อความรู้สึก จิตสำนึกของชาวบ้านใน 88 ป๊อก  ตลอดจนการจ่ายภาษี  และลดหย่อนภาษีจากอุตสาหกรรมป่าไม้  เป็นต้น

  1. นอกจากนั้น ศาลาประขาคมยังได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน  จัดการส่งเสริม Homestay ในบ้านที่ชาวบ้านทิ้งร้าง  อพยพเข้าเมือง  นำมาปรับปรุงเป็นบ้านพักนักท่องเที่ยว
  2. การส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สน cedar ในรูปสหกรณ์ควบคู่การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่า  การแปรรูปไม้  ส่งออกผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์  และเข้าสู่การใช้ไม้เสริมการสร้างบ้านในเมือง  และ stadium ในกีฬาโอลิมปิคของญี่ปุ่น
  3. ขายไม้แปรูปและอบแล้ว ที่ตลาดไม้แปรรูปของเกาะกิวชิว ซึ่งครองตลาดกิวชิว ถึง 40 %   ส่วนเศษไม้  ส่งขายโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ  ที่เกาะชิโกกุ และสามารถทำยอดขายได้ราว 450 ล้านเยนต่อปี   อนึ่ง  เงินลงทุนโรงงาน J Forest ทั้งหมดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว  มูลค่า 900 ล้านเยน  ได้มาจาก 4 หน่วยงานสมทบกัน  จากงบรัฐบาลกลาง  งบจังหวัด  งบรัฐท้องถิ่น  งบของสหภาพป่าไม้ของชุมชน

หมายความว่า การส่งเสริมให้เกิดธุรกิจชุมชน  ล้วนต้องการลงทุน (Subsidy)  และ package การสนับสนุนจากรัฐท้องถิ่น  แทนการให้สัมปทานกับนายทุนใหญ่  จากภายนอกพื้นที่และนอกประเทศ

  1. กระบวนการทำอุตสาหกรรมไม้ชุมชนที่นี่ ประกอบด้วย

ขั้น 1. คัดเลือกขนาด  และแยกขนาดท่อนไม้

ขั้น 2. ปลอกเปลือกไม้ออก

ขั้น 3. แปรรูปไม้  เป็นขนาดต่างๆ  กว่า 100 ขนาด  ตามที่ตลาดต้องการทั้งด้วยแรงงงาน และระบบเครื่องจักรกลอัตโนมัติ

ขั้น 4. จัดการเศษไม้ และขี้เลื่อยหยาบ  ด้วยการส่งขาย  โรงงานแปรรูปกระดาษ  ที่เกาะชิโกกุ

ขั้น 5. จัดการขี้เลื่อยละเอียด  โดยส่งขายชาวบ้านที่เลี้ยงไก่  วัว  ม้า  ในการปูพื้นเลี้ยงสัตว์

 

สรุปลักษณะของธุรกิจชุมชน ” การแปรรูปไม้บนฐานป่าเอกชน  และสหกรณ์แปรรูปไม้ J Forest “ ของกลุ่มหมู่บ้าน ” โมโรซูกะ “

  1. ผู้ปลูกไม้ cedar ในเขตยอดดอย ล้วนมีกรรมสิทธิ์ ในพื้นที่ปา  คือที่นี่เป็นป่าเอกชนระดับครัวเรือน ในหมู่ 1,600 ครัวเรือน
  2. ไม้ที่ตัดแต่ละแปลงและปลูกใหม่ วางแผนและจัดการแต่ละแปลง  โดยเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทุกรอบระยะ 5 ปี
  3. 1 ใน 3 ของไม้ที่ตัด ขายเป็นไม้ท่อน ส่วนอีก 2 ใน 3  จะถูกส่งมาแปรรูปที่โรงไม้สหกรณ์ J Forest ของชุมชน ซึ่งเป็นไม้ที่ตัดสดๆ และคัดไม้ที่ลำต้นตรงมาระดับหนึ่ง
  4. เพื่อยกระดับชาวบ้านให้เป็น ผู้ประกอบการ ( นายทุนชุมชน ) หน่วยงานราชการ  ทุกระดับ  ใช้กลยุทธการจัดสรรงบอุดหนุน (subsidy )ด้วยวิธีคิดทางธุรกิจเอกชน  ควบคู่การจำแนกกรรมสิทธิ์บุคคล  และกรรมสิทธิ์กลุ่ม หรือ นิติบุคคล ดังนี้

1) ถ้าเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคล  เช่น โรงเรือนกระจก  ใช้งบหน่วยงานมาสนับสนุนในรูปสินเชื่อ  และการเช่าซื้อ  โดยมีตัวสหกรณ์เป็น coach  แบบครบวงจร  ทั้งการผลิต  การแปรรูป  การขนส่ง  การตลาด  และการเงิน  ในเชิงเศรษฐกิจชุมชน ( social  single  management)

2)  ถ้าเป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่มบุคคล  เช่นโรงงานแปรรูปไม้  ที่ต้องใช้งบประมาณ  เพื่อลงทุนก้อนใหญ่  ระยะเวลาคืนทุนหลายปี  ใช้งบหน่วยงานในการร่วมลงทุน  เป็นหุ้น  หรือ งบสมทบ ( matching grant ) กับชุมชน  และรัฐท้องถิ่น  รวมถึงจังหวัด  และรัฐส่วนกลาง (จะพบว่าไม่มีการใช้งบให้เปล่า  และบางกรณี เพื่อประชานิยมแบบไทย  เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  โดยเฉพาะใน 3)

3)  เจ้าหน้าที่หน่วยงาน  และ ท้องถิ่น  ที่พบ  ใช้บทบาทสนับสนุน  ส่งเสริม  เติมยอดชุมชน  และชาวบ้าน  ให้เข้มแข็ง  และจัดการตนเองและร่วมกันกับเจ้าหน้าที่  มากกว่าการบังคับด้วยกฏหมายต่อชาวบ้าน  ด้วยความรับผิดชอบ  ที่ข้าราชการไทยก็ถูกบังคับอีก อย่างน้อย 2 ชั้น  ให้ตามกฏหมาย  และ เจ้านาย ( อธิบดี ในกรุงเทพ )

 

บทเรียนใหม่จากญี่ปุ่น :

การจัดการที่เบ็ดเสร็จ  ใกล้ชิด  และตอบสนองต่อภูมินิเวศน์ แต่ละเกาะ  แต่ละช่วงเวลา แต่ละภัยพิบัติ  ล้วนต้องการการกระจายอำนาจของรัฐบาลกลางสู่รัฐท้องถิ่น  ( จังหวัด )  ยิ่งทางฝั่งชาวบ้านและชุมชน  มีการจัดตั้ง  เรียนรู้ร่วมกัน  และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม  รวมทั้งการอนุรักษ์ด้วยจิตสำนึกและจารีต/ วินัยต่อธรรมชาติ  และวิถีชีวิติรวมหมู่ของชุมชน  การจัดการระบบกรรมสิทธิ์สาธารณะ กับ กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลของชาวบ้าน  และด้วยการสนับสนุนเบ็ดเสร็จ  คนบวงจร  ความยั่งยืนของวิถีชีวิติชุมชน  จึงกลายเป็นความยั่งยืน ที่เป็นจริง ของทรัพยากรธรรมชาติ

และ จากบทเรียนชุมชนแยกขยะ จะพบว่า ในภารกิจการปลุกจิตสำนึก  (mind set) ล้วนต้องการ กระบวนดารทำงานที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน  ต้องการการริเริ่มใหม่ๆ  รัฐท้องถิ่นในญี่ปุ่นมักใช้งบประมาณของหน่วยงาน  จัดจ้างองค์กรที่ไม่แสวงกำไร ( NPO: Non Profit Organization ) ทีมีความชำนาญเฉพาะเรื่อง  ที่ชุมชนต้องการ  เช่นด้านการศึกษาพิเศษ  การดูแลผู้สูงอายุ  สุขภาพ  คนพิการ  และ NPO ญี่ปุ่นมักทำงานแบบอาสาสมัครด้วยใจ+ การเป็นมืออาชีพ  ในการจัดการร่วมกันกับรัฐท้องถิ่น

เอนก นาคะบุตร

ผู้เรียนรู้ และสรุป, 7 พฤศจิกายน 2561

กรณีศึกษาที่ 3  คามิคัตสึ ต้นแบบเมืองปลอดขยะของญี่ปุ่น

คามิคัตสึ เป็นเมืองชบบทขนาดเล็ก มีขนาดใกล้เคียงกับโมโรคัตสึ คือ มีประชากรประมาณ 15,000 คน เป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มชุมชนหมู่บ้านที่สวยที่สุดของญี่ปุ่นด้วย

คามิคัตสึ (Kamikatsu) เป็นเมืองระดับเทศบาล ตั้งอยู่ในเขตอำเภอKatsuura จังหวัด Tokushima บนเกาะกิวชู เป็นเมืองที่ตั้งอยู่กลางหุบเขาสูง แวดล้อมไปด้วยป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สิ่งแวดล้อมสะอาด ทิวทัศน์สวยงาม

สิ่งที่นำเราไปดูงานที่คามิคัตสึ คือที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองไร้ขยะ หรือ Zero Waste แห่งแรกๆของญี่ปุ่น  กล่าวคือ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2003 เทศบาลเมือง Kamikatsuได้ประกาศความมุ่งมั่นว่า จะเป็นเมืองไร้ขยะให้ได้ ภายในปี 2020

Kamikatsu Zero Waste Declaration

คำประกาศคามิคัทสึว่าด้วยเมืองไร้ขยะ

เพื่อส่งผ่านสิ่งแวดล้อมที่ดีสู่คนรุ่นต่อไป ด้วยอากาศบริสุทธิ์ น้ำสะอาดและแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์  เทศบาลเมืองคามิคัทสึขอประกาศพันธสัญญาและความมุ่งมั่นที่จะลดขยะลงให้เป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2020

  1. คามิคัทสึ จะมุ่งมั่นเสริมสร้างพลังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในปัจเจกชนทุกหมู่เหล่า
  2. คามิคัทสึ จักส่งเสริมการรีไซเคิลขยะ และการใช้ทรัพยากรแบบใช้ซ้ำได้ อย่างเต็มความสามารถ เพื่อที่จะขจัดเตาเผาขยะและหลุมฝังกลบให้ได้ ภายในปี 2020
  3. ผู้อยู่อาศัยในเมืองคามิคัทสึทั้งหลาย จักต้องร่วมมือกับประชาชนทั่วโลก เพื่อทำให้มั่นใจในความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมโลก

19  กันยายน  2003

เทศบาลเมืองคามิคุทสึ อำเภอคัทสึอุระ จังหวัดโตกูชิมะ

เมื่อพลเมืองและเทสบาลคามิคุทสึ ร่วมกันให้คำมั่นสัญญาที่จะยุติการใช้พื้นที่ฝังกลบขยะและเตาเผาขยะโดยเด็ดขาดภายในปี ค.ศ. 2020  พวกเขาใช้หลักการและแนวทางที่ง่ายๆเช่นเดียวกับที่อื่นๆทั่วโลก คือ ลดขยะ (Reduce)  รีไซเคิลของเสียทุกชนิด (Recycle)  และการใช้ซ้ำ (Reuse)

เมืองขนาดเล็กกับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย แต่ปัจจุบันคามิคัทสึสามารถจัดการกับร้อยละ 80 ของของเสียที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งในรูปของการรีไซเคิล การทำปุ๋ยหมัก และการใช้ซ้ำ  ส่วนที่เหลือร้อยละ 20 เท่านั้นที่ถูกนำไปฝังกลบ แถมยังช่วยให้สามารถลดต้นทุนในการจัดการลงเหลือเพียงหนึ่งในสาม

คามิคัทสึ เป็นเมืองในหุบเขาบนที่สูง พื้นที่ร้อยละ 85.4 เป็นภูเขาและผืนป่า เกือบไม่มีที่ราบเอาเสียเลย บ้านเรือนของประชาชนตั้งอยู่เป็นหย่อมเล็กหย่อมใหญ่ราว 50 กลุ่ม รวม 795 หลังคาเรือน ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 100-700 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ประชากรคามิคัทสึมีจำนวนลดลงทุกปีและยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด จาก 6,265 คนในปี 1955  ปัจจุบันเหลือเพียง 1,583 คนในปี 2017 โดยมีประชากรสูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) ในอัตราที่สูงมาก คือ ร้อยละ 52 ทีเดียว

 

กระบวนการการจัดการขยะ

เมืองคามิคัทสึ เขามีศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับขยะเพื่อให้ความรู้ในการคัดแยกขยะต่างๆกับคนในเมือง เรียกว่า

Kamikatsu Zero Waste Academy  มีประเด็นที่น่าสนใจคือ สถาบันนี้เป็นองค์กรไม่แสวงกำไร จัดตั้งขึ้นโดยเทศบาล เป็นองค์กรที่อิสระที่ทำหน้าที่ให้ความรู้และมีระบบบริหารจัดการที่คล่องตัว ทั้งในศูนย์การเรียนรู้และการส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของพลเมืองทุกคน ในการลดขยะเป็นศูนย์ตามเป้าหมาย

หลักการสำคัญในการจัดการขยะของเมืองคามิคัทสึอยู่ที่ ในชุมชนทุกครัวเรือนจะต้องแยกขยะเบื้องต้นที่บ้านด้วยตนเองประมาณ 4-5 ประเภท และนำขยะไปจัดการคัดแยกต่อที่ Komi Station (สถานีแยกขยะ) โดยจะแยกประเภทใส่กล่องตามที่จัดรอไว้ มีทั้งหมด 45 ประเภทด้วยกัน โดยไม่ต้องกลัวงง เพราะเขาจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความรู้และคำแนะนำ ในเวลาที่เปิดทำการที่ชาวบ้านสะดวก

จากนั้นจะนำขยะที่คัดแยกทั้งหมดแล้วไปจัดการต่อที่ Waste Collection Center (ศูนย์รวมขยะ) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี2003 เพื่อจะนำขยะแต่ละประเภท ไปรีไซเคิลต่อตามกระบวนการ การดำเนินงานเช่นนี้สามารถทำให้เมืองคามิคัทสึมีอัตราการรีไซเคิลสูงถึง ร้อยละ 85

ส่วนการจัดการกับขยะเปียกหรือขยะอินทรีย์นั้น เขาสามารถทำได้แบบ 100% โดยเทศบาลสนับสนุนให้โรงงานในท้องถิ่นผลิตเครื่องย่อยสลายขยะอินทรีย์ขนาดเล็กโดยใช้พลังงานไฟฟ้า (household organic electric composters) ราคาเต็ม 50,000 เยน แต่เทศบาลช่วย subsidy 10,000 เยน หรือ ถังหมักขยะเปียกทำปุ๋ยหมัก (household organic  composters)  ราคาเต็ม 6,000 เยน แต่เทศบาลช่วย subsidy 3,100 เยน

 

พัฒนาการ

ก่อนหน้าที่จะหันมาใช้ระบบการคัดแยกขยะในปัจจุบัน เมืองคามิคัทสึเคยใช้วิธีต่างๆในการการจัดขยะมาแล้วหลายวิธี เช่น การฝั่งกลบ การเผาขยะ หรือการขุดหลุมเพื่อเผา แต่เนื่องจากวิธีต่างๆทำให้เกิดมลภาวะทั้งในดิน ในน้ำ และในอากาศ จึงเปลี่ยนจาก Burning มาเป็น Recycling คือเปลี่ยนจากการจัดการ ”กำจัด”ขยะ มาเป็นการ ”คัดแยก” แทน

ปี 1991-1995  ใช้วิธีเผาขยะแบบเปิด open incineration ร่วมกับมาตรการ subsidy เครื่องใช้กำจัดขยะเปียก

ปี 1997  ยังคงใช้การเผาแบบเปิด แต่ริเริ่มให้มีการแยกขยะเป็น 9 ประเภท ในระดับชาติมีการออกกฎหมายส่งเสริมการรีไซเคิล

ปี 1998-2000  แยกขยะเป็น 22 ประเภท และก่อสร้างระบบเตาเผาขยะแบบปิด 2 เครื่อง

ปี 2001  ขยายมาตรการแยกขยะเพิ่มเป็น 35 ประเภท ระดับชาติมีการออกกฎหมายการจัดการขยะ ที่คามิคัทสึเลิกการใช้เตาเผาขยะ ตั้งกลุ่มอาสาสมัครชื่อ “ Recycle Kamikatsu” ช่วยขนขยะจากครัวเรือนชาวบ้านมาที่ศูนยืรวมขยะ

ปี 2002-2015   แยกขยะเป็น 34 ประเภท ตั้งคณะกรรมการ “Gomi (waste) Rangers”  ประกาศเป้าหมายเมืองขยะเป็นศูนย์ จัดตั้งสถาบัน Zero Waste Academy  เปิดร้าน Kuru-kuru Shop  เปิดศูนย์ Kuru-kuru Craft Center  ตั้งกองทุน Zero Waste Fund  รณรงค์รีไซเคิลกระดาษ ทำแผนปฏิบัติการเมืองขยะเป็นศุนย์

ปี 2016-2017  ขยายการแยกขยะเป็น 45 ประเภท  ตั้งระบบรับรองคุณภาพ Zero Waste Accreditation

จะเห็นได้ว่า กว่าที่คามิคัทสึจะพัฒนามาจนถึงขั้นนี้ได้ ทั้งชาวเมืองและเทศบาลท้องถิ่นของเขาได้ร่วมกันเรียนรู้และพัฒนาระบบการจัดการตนเองมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เขาไม่มีพื้นที่ให้ฝังกลบขยะเหลือเฟือ(?)แบบบ้านเรา เขาจึงใช้จากการเผาขยะในที่เปิด ก่อนฝังกลบขี้เถ้าลงในดิน ซึ่งต่อมาชาวเมืองต่างเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะการเผาขยะได้สร้างมลภาวะทางอากาศจากสาร Dioxin   ชุมชนชาวเมืองคามิคัทสึจึงรวมกลุ่มกันและสร้างระบบที่น่าทึ่งนี้ขึ้นมา

ในช่วงแรก ชาวเมืองคามิคัทสึบางส่วนมีความลังเลเพราะภาระการแยกขยะที่รีไซเคิล ทำให้ต้องทำความสะอาดก่อน ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากและดูเหมือนจะไม่น่าสามารถปฏิบัติได้จริง  ต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เคยชินอย่างขนานใหญ่  แต่เดี๋ยวนี้กิจกรรมเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของชีวิตชาวเมืองไปแล้ว

“หลังจากที่คุณคุ้นเคยกับมัน มันก็กลายเป็นเรื่องปกติ  ตอนนี้ฉันไม่ได้คิดถึงมันด้วยซ้ำ มันกลายเป็นธรรมชาติที่จะแยกขยะให้ถูกต้อง”

พลเมืองคามิคัทสึ ได้ทำการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตให้เป็นแบบที่ไม่สร้างของเสีย  สร้างสังคมที่ทุกผู้คนนับถือซึ่งกันและกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ซึ่งระบบการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของชุมชนเช่นนี้ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมืองคามิคัทสึประสบความสำเร็จ

บทเรียนที่ชัดเจนจากชาวเมืองคามิคัทสึ คือ ความตระหนักในโทษของวิถีชีวิตที่ทิ้งขว้างทรัพยากร ทั้งที่ยังมีค่า หากเราใส่ใจหาวิธีที่จะนำมาใช้ใหม่ ความตระหนักในโทษของวิถีการจัดการกับของเสียรูปแบบเดิมที่สร้างความเสียหายให้กับชุมชนเอง และความมีวินัยของผู้คนในชุมชน รวมทั้งการรวมตัวกันของคนในชุมชนร่วมผลักดันภารกิจที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ให้เป็นไปได้

 

รูปแบบและมาตรการรูปธรรม

Recycle

  1. จัดการขยะอินทรีย์ด้วยวิธีการย่อยสลาย ใช้ถังหมักอินทรีย์ Compost Bin และเครื่องย่อนพลังงานไฟฟ้า Electric Composter
  2. แยกประเภทขยะและนำกลับมาใช้ใหม่
  3. กูรู-กุรุ ช็อป ศูนย์ของใช้มือสอง ส่งเสริมการนำของกลับมาใช้ใหม่

Reuse

  1. กูรุ-กูรุ คร้าฟท์เซนเตอร์ เป็นร้านช่างฝีมือ สำหรับชาวบ้านนำสิ่งของมาซ่อมหรือดัดแปลงเพื่อใช้งาน เป็นงานที่เหมาะกับผู้สูงอายุประดิดประดอยสิ่งของให้มีมูลค่าเพิ่มและมีรายได้เสริม
  2. รณรงค์ส่งเสริมการยืมของใช้จัดงานเลี้ยงแทนการใช้ของแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

Reduce

  1. ระบบประเมินคุณภาพขยะเป็นศูนย์ สำหรับเป็นมาตรฐานโรงงาน ภัตราคาร โรงแรม ที่ควบคุมการผลิตขยะ และกิจการ/บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  2. การจัดประชุมสัมมนาวิชาการให้ความรู้และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารรณรงค์ เพื่อเมืองขยะเป็นศูนย์
  3. รณรงค์รีไซเคิลกระดาษด้วยการสะสมแต้ม แลกเป็นของขวัญรางวัล Chiritsumo Point Campaign

แนวคิดขยะเป็นศูนย์

Zero คือ  0

Waste คือ ของเสียจากพลังงาน ของเสียจากเงิน ของเสียจากวัสดุธรรมชาติ และของเสียจากขยะ

Zero Waste  เป็นวิสัยทัศน์ มุ่งป้องกัน ลดการผลิตขยะ เพิ่มการใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการภาคอุตสาหกรรมในการคิดผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขจัดของเสียอันตรายที่จะต้องพึ่งพาการเผาทำลายและการฝังกลบในผืนดิน

ปัจจุบันมีเมืองทั่วโลกมากกว่า 100 แห่งที่ประกาศความมุ่งมั่นนโยบายขยะเป็นศูนย์ เช่น ที่เมืองในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ค แคนเบอร์ร่า ออสเตรียเลียใต้ และนิวซีแลนด์

สำหรับในประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้มีเมืองที่ประกาศความมุ่งมั่นแล้ว อย่างน้อย 7 เมือง ได้แก่

  1. Kamikatsu, Tokushima ประชากร 1,500
  2. Oki town , Mizuma, Fukuoka ประชากร 14,000
  3. Minamata city, Kumamoto ประชากร 25,000
  4. Ikaruka town, Nara ประชากร  28,000
  5. Osaki town, Soo,Kagoshima ประชากร  13,000
  6. Hayama town, Kanakawa ประชากร 33,000
  7. Zushi city, Kanakawa ประพชากร  58,000

 

บันทึกเพิ่มเติมจากคณะศึกษาดูงาน

ดร.เอนก นาคะบุตร

ความเป็นมาของชุมชนในหุบเขาคามิคัทสึ

เป็นชุมชนในหุบเขา มีเพียง 800 หลังคาเรือน  ประชากรเริ่มลดลงเรื่อยๆ  เหลือประชากรราว 1,600 คน  และกว่าครึ่ง  เป็นผู้สูงวัยเฉลี่ยกว่า 65 ปีขึ้นไป  และมีแรงกดดัน  จากความเจริญเป็นเมืองในหุบเขาสูงชัน  ดังนี้

1)  มีแรงกดดันจากการที่เคยเผาขยะ  ด้วยเตาเผาขยะ ที่ก่อควันพิษ ( dioxin )  กับเมือง  ในขณะที่หาที่ว่างฝังกลบขยะไม่ได้ในเมืองอื่นๆข้างเคียง

2.) รัฐได้ออกกฏหมายที่ไม่มีบทลงโทษจูงใจ  และกระตุ้นให้ชาวบ้าน ชุมชน เมือง  รับผิดชอบจัดการแยกขยะเริ่มตั้งแต่ระดับบุคคล/ครัวเรือน  ทำให้ประชาชนต้องรับผิดชอบจัดการขยะของตนเอง  และจ่ายค่าภาษีเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ  บวกในราคาผลิตภัณฑ์ และสินค้า อาหาร เครื่องอุปโภค บริโภคในครัวเรือนของประชาชน

3)  ประชากรลดลง  คนหนุ่มสาวอพยพเข้าเมืองทำงานในเมือง  มีแต่ผู้สูงอายุ เฉลี่ย 65 ปีขึ้นไปในชุมชน

4.) อาชีพดั้งเดิมของชุมชน โดยเฉพาะการเกษตร  และประมง  มีข้อจำกัดทางภูมินิเวศน์ที่เปลี่ยนเป็นสังคมเมือง

คามิคัทสึโมเดล จึงพัฒนาขึ้นมาจากแรงกดดันข้างบน ใน 2 ฐานคิด

  1. ด้านการจัดการขยะของชุมชน ที่มองว่าขยะคือของเสีย  และโยนให้ผู้อื่นรับผิดชอบ….. เปลี่ยนมาเป็น ” ขยะ ” คือทรัพย์สินและทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต่อทั้งครัวเรือน ชุมชน  และผู้ประกอบการธุรกิจ  ที่จะต้องร่วมกันจัดการแยกขยะจึงนำไปสู่กระบวนการ 3 R  คือ  Recycle : การหมุนเวียนนำกลับมาผลิต  และใช้ใหม่ …. Reuse  การนำของเสีย  และขยะที่แยกแล้ว  และปรับปรุงกลับมาใช้ใหม่…….Reduce  คือการบดการสร้างขยะและของเสียในอนาคต  จนไม่มีขยะเกิดขึ้น ( Zero waste )นั่นเอง
  2. ด้านการประกอบธุรกิจชุมชนขายใบไม้ หลากหลายชนิด เพื่อตกแต่งจานอาหาร ตามภัตตาคารญี่ปุ่นทั่วประเทศด้วย NPO  ( Non  Profit Organization )  และการตลาด online  ต่อยอดวัฒนธรรม  การจัดดอกไม้ของญี่ปุ่น ( Ikebana ) และเปลี่ยนจากการปลูกส้มที่ตายลงจากหิมะตกหนักในปี 1981

 

model  : การจัดการขยะด้วยการคัดแยกขยะ เพื่อด้วยกระบวนการ 3 R  โดยการร่วมมือ 3 ฝ่าย ” ไตรภาคี ” ของชาวบ้านทุกครัวเรือน กับ เทศบาล  และ NPO

1.) ฐานคิด และวิธิคิดใหม่ ( Mind set ใหม่ ) ขยะ/ของเสีย = ทรัพย์สินและทรัพยากร

2.) ยุทธศาสตร์ที่ใช้ : การจัดการแยกขยะที่ต้นทาง จากทุกครัวเรือน  ด้วยจิตสำนึกใหม่ทางเศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศน์ ( green economy )  และการจัดการตนเอง 3R  เพื่อมุ่งสู่การเป็นชุมชนปลอดขยะในปี 2020

3.) กิจกรรมหลัก/ยุทธวิธีที่ใช้ :

(1) การรณรงค์และปลุกจิตสำนึก  และส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนเรียนรู้- ลงมือแยกขยะ  ทำบ่อยๆ จนเป็นนิสัย  เพื่อบรรลุเป้าที่ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันไว้ ในปี 2020  ข้างหน้ามีการให้แรงจูงใจ  และลงเปิดเวทีชาวบ้านโดยเทศบาลและ NPO 

แนะนำการคัดแยกขยะแต่ละประเภทในครัวเรือน  ให้เห็นความสำคัญว่า  เมื่อแยกแล้ว  ทรัพยากรเหล่านี  จะนำไปทำประโยชน์อนาคตอะไร?  และจะมีมูลค่า และประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ทุกครอบครัว และชุมชนอย่างไร ? 

และมีต้นทุนทางเศรษฐกิจจากขยะที่แยกแต่ละประเภท เช่น  ต่อ 1 กิโล @ กี่เยน?  ทั้งส่วนที่จะเป็นรายรับเข้ามา และส่วนที่จะต้องเป็นรายจ่ายส่งไปแปรรูปขยะเหล่านั้นต่อไป

สิ่งนี้นี่เอง ที่เมื่อแต่ละครัวเรือนทำบ่อยๆ และได้รับมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการลงมือและร่วมมือกันแยกขยะที่โรงแยกขยะกลางของชุมชน  จิตสำนึกและพฤติกรรมของชาวบ้านจึงเปลี่ยนแปลงและถูกปลูกฝังไปท่ามกลางการลงมือทำระดับครัวเรือน และการจัดการร่วมกันระดับชุมชน

( 2 ) การจัดตั้ง  และจัดการโรงแยกขยะกลางของชุมชนร่วมกัน  เริ่มกิจกรรม 3 R โดยแยกขยะที่ชาวบ้านเหลือและเมื่อส่งมาก็แยกต่ออีก เป็น 47 ประเภทของขยะ  เพื่อสะดวกและเพิ่มราคาขายแก่โรงงาน Recycle  ที่จะเข้ามารับซื้อวัสดุแต่ละประเภท  ที่แยกและทำความสะอาดแล้ว  หรืออัดแน่นเป็นก้อน สะดวกต่อการขนส่งไปยังโรงงานในเมือง

ปัจจุบัน  โรงแยกขยะและครัวเรือน  สามารถแยกขยะแทนการนำไปเผาแบบเดิม ได้ราว 80 % ของขยะทั้งหมด เหลืออีกเพียง 20 % ที่ยังคงต้องฝังกลบขยะเหล่านั้นในชุมชน 

และขยะส่วนน้อยดังกล่าว เป็นขยะเปียก ขยะอินทรีย์  ที่ปัจจุบัน NPO ได้มีการส่งเสริมให้แปรรูปหมักด้วยจุลินทรีย์เป็นปุ๋ยหมัก  ทั้งแบบหมักในถังพลาสติคและย่อสลายในถังไฟฟ้า

การแยกขยะแบบสมัครใจที่แต่ละครัวเรือน ทำให้เกิดการออกแบบใหม่ ทั้งเกณฑ์และวิธีการแยกภาชนะบรรจุอย่างแตกต่างหลากหลาย  ตามนิสัย และความสะดวกของแต่ละครัวเรือน

นขณะที่ผู้สูงอายุ  ที่สมัครมาเป็นเจ้าหน้าที่แยกขยะส่วนที่เหลือจากครัวเรือน และนำส่งมาที่โรงแยกขยะกลาง  สถาบันแยกขยะ  ( Academy ) ที่มีความรู้  และจัดระบบการอบรม ระบบการแยกขยะแต่ละประเภท คำนวณต้นทุนต่อกิโล  ทั้งส่วนที่เป็นรายรับเข้าชุมชน  และส่วนที่เป็นรายจ่าย ค่าขนส่ง นำไปเผา  ผลิตใหม่ในเมือง  เป็นต้นทุนรายจ่ายต่อกิโล  ให้เห็นเป็นมูลค่าร่วมกัน

(3)  การจัดตั้งร้านค้าสินค้ามือสอง  และสินคัาที่ปรับปรุงใหม่จากขยะที่แยกแล้ว  และซ่อมแซม  ดัดแปลงแล้ว  หมุนคืนนำกลับมาใช้ใหม่ในชุมชน   ร้านค้าสินค้าใช้แล้ว และปรับปรุงหมุนเวียนมาใช้ใหม่ ชื่อ คูริ คูริ  นี่คือกลวิธี Reuse  นั่นเอง

 

บทเรียนรู้จาก คามิคัทสึโมเดล (บทสรุปจาก เอนก นาคะบุตร)

  1. การจัดการแยกขยะ โดยใช้ขยะสร้างคน  ทั้งจิตสำนึก  วิถีชีวิติ พฤติกรรม วินัย  ในการทำให้ชุมชนปลอดขยะ  ตลอดทั้ง supply chain  โดยครบถ้วน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ  และด้วยการขับเคลื่อนกระบวนการ 3 R ที่ครบวงจร กับ การเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจที่ครัวเรือนร่วมกัน
  2. การต่อยอดวัฒนธรรม อิเคบานา ด้วยการนำใบไม้ ( ขยะโดยธรรมชาติ : ล่วงหล่นลงดิน )  มาเป็นสินค้าราคาแพงบนจานอาหาร  ประยุกต์ความสวยงามของดอกไม้ (อิเคบานา )  บนจานอาหารของชาวเมือง นั่นก็คือเอาวัฒนธรรมมาต่อยอดหรือทาบกิ่งกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ  และได้ผลพวงเป็นจิตสำนึก  และจารีตทางสิ่งแวดล้อม  (Green Economy)
  3. บทบาทและภาระหน้าที่ “ไตรภาคี ” ในการจัดการสิ่งแวดล้อม ( แยกขยะ )ร่วมกัน  ในระบบ collaboration ( co – labour – action) ของชาวบ้าน  กับ บริษัททั้งประเภทหากำไร  และองค์กรไม่แสวงหากำไร ( Non Profit Organization)และเทศบาล  ในการแบ่งแยกหน้าที่ และร่วมมือกันตามความถนัดและความเชี่ยวชาญ

 

กรณีศึกษาที่ 4  ชิรากาว่า เมืองมรดกโลกด้านวัฒนธรรม

เมืองชิรากาว่า เป็นเมืองที่อยู่ท่ามกลางหุบเขา เดินทางจากเมืองทากายาม่าโดยทางรถบัส ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ที่นั่นมีชุมชนดั้งเดิมอยู่แห่งหนึ่งชื่อ ชุมชนโอกิมาจิ ซึ่งคนในชุมชนได้อนุรักษ์วิถีชีวิตและสถาปัตยดรรมบ้านที่อยู่อาศัยในรูปทรง “กัสโช” อันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวเอาไว้ได้อย่างมั่นคงน่าภาคภูมิใจ จนองค์การยูเนสโกได้ประกาศรับรองให้เป็นเมืองมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรม

เราได้มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมพิพิทธภัณฑ์กลางแจ้งของเมืองชิรากาว่าท่ามกลางสายฝนโปรยปราย อากาศหนาวเย็นและชุ่มช่ำ เรียกชื่อว่า “หมู่บ้านกัสโซซึคุริ” ทิวทัศน์ภูเขาและใบไม้ที่เปลี่ยนสีไปทั้งหุบเขาดูละลานตา ชุมชนตั้งอยู่เรียงราย ผังเมืองเป็นระเบียบ โครงสร้างกายภาพเป็นโครงสร้างแบบอ่อน ใช้หินคอนกรีตน้อยมาก ร่องน้ำลำธารขนาดเล็กมีน้ำใสไหลริน เชื่อมถึงกันทั่วทั้งชุมชน ทำให้จิตใจสงบเคลิบเคลิ้มเกินกว่าจะบรรยาย

หมายถึง มือที่กำลังไหว้พนมเพื่อสวดมนต์ขอพร จึงสื่อความหมายเป็นนัยของ “รวงรัง” อันสงบร่มเย็นสำหรับผู้อยู่อาศัย ในหมู่บ้านแห่งนี้

กัสโซ เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมบ้านที่พักอาศัยของคนญี่ปุ่นนับแต่ครั้งโบราณ ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยสถาปัตยกรรมที่เป็นแบบโมเดิร์นไปหมดแล้ว ลักษณะเด่นของกัสโซอยู่ที่ทรงหลังคาที่ยกขึ้นสูงชันและทอดคล่อมยาวลงมาจนเกือบจรดพื้นดินทั้งสองข้าง หลังคามุงด้วยหญ้าแห้งเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆจนมีความหนาเป็นเมตรกันเลยทีเดียว จึงสามารถทนทานต่อผลึกหิมะที่กดทับในช่วงฤดูหนาว และรับมือกับหยาดฝนในช่วงฤดูใบไม้ผลิได้เป็นอย่างดี

ส่วนภายในบ้านจะมีขนาดใหญ่มากกว้างขวาง รองรับการอยู่อาศัยร่วมกันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ แบ่งเป็นสัดส่วน ไม่แออัดยัดเยียด มีระดับชั้นการใช้พื้นที่ตามความสำคัญของสมาชิก แบ่งภายในเป็นชั้น 3-4 ชั้น มีทั้งสำหรับพักอาศัย พักผ่อนหย่อนใจ และมีพื้นที่กลางสำหรับพิธีกรรมด้วย

บ้านกัสโซ

หมู่บ้านชิรากาว่า รวมทั้ง โอกิมาจิ Ogimachi และโกกายาม่า Gokayama ได้รับการบรรจุในบัญชีรายชื่อมรดกโลกในเดือนธันวาคม  1995 เนื่องจากมีเงื่อนไขตามเกณฑ์ 6 ประการของ UNESCO โดยเฉพาะจุดเด่นของสถาปัตยกรรมสไตล์กัสโซ บ้านอยู่อาศัยของชาวบ้านที่ยังคงหลงเหลือจริงๆและอยู่เป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่ๆเป็นภูมิทัศน์ตามธรรมชาติในแหล่งกำเนิดของมัน

ภายหลังจากที่มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ Sho ระหว่างปี 1945-1955 มีชุมชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่มากนัก ได้ถูกน้ำท่วม บ้านรูปทรงกัสโซจำนวนมากถูกขายหนีไปอยู่ที่อื่น บางส่วนถูกไฟไหม้สูญเสียไป

เมื่อจำนวนบ้านทรงกัสโซลดลง จาก 300 หลังในปี 1924  เหลือเพียง 191 หลังในปี 1961 ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงเกิดตระหนักว่าปัญหากำลังจะเข้าสู่วิกฤติ ทั้งจากปัญหาประชากรที่ลดลงทุกขณะและวิถีชีวิต-วัฒนธรรมของพวกเขากำลังจะสูญพันธุ์

ชาวชุมชนโอกิมาจิคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งเกิดความรู้สึกว่า นับวันบ้านแบบโบราณที่พวกเขารับมรดกและอยู่อาศัยสืบทอดกันมา จะค่อยๆหายไปและถูกแทนที่บ้านทรงสมัยใหม่ซึ่งสร้างง่าย ราคาถูก วัสดุหาง่ายและดูแลรักษาได้ง่ายกว่า คนรุ่นใหม่จึงหันไปนิยมแบบนั้นจนสถาปัตยกรรมแบบเดิมแทบไม่เหลือให้เห็น

พวกเขาจึงรวมกลุ่มกันในหมู่คนที่มีบ้านกัสโซและรู้สึกหวงแหนในมรดกภูมิปัญญาของบรรพชน ตั้งสมาคมขึ้นมาทำงานรณรงค์ปกป้องวัฒนธรรมและวิถีชีวตของตน โดยมีปณิธานว่าจะอนุรักษ์บ้านทรงกัสโซและสภาพแวดล้อม พื้นที่เพาะปลูก ป่าไม้ ภูเขา ลำธาร เอาไว้ตราบนานเท่านาน จนกระทั่งบัดนี้ได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงของประเทศ

ปี 1971 ชาวบ้านทุกคนร่วมกับสมาคมอนุรักษ์ของพวกเขา ได้กำหนดเป็นธรรมนูญของหมู่บ้านว่า “ไม่ขาย ไม่ปล่อย ไม่ทำลาย” ส่งผลให้ชุมชนสามารถอนุรักษ์บ้านทรงกัสโซเอาไว้ได้มากที่สุดในบรรดาชุมชนหมู่บ้านของญี่ปุ่นทั้งหมดในปัจจุบัน

นอกจากนั้น ชุมชนยังจัดให้มีระบบการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว โดยเน้นเรื่อง “ขีดความสามารถในการรองรับได้” จึงมีการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยว มีระบบการจองที่จอดรถ จัดทำแผนที่เพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน และจัดทำวิดีทัศน์แนะนำมารยาทการท่องเที่ยวสำหรับแจกให้กับรถโดยสารที่นำพานักท่องเที่ยวเข้ามา

ชาวบ้านได้เรียนรู้การสร้างกลไกและระบบจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน โดยในแต่ละเดือนจะมีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อวางแผนในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในชุมชนร่วมกันอย่างเหมาะสม

ปี 1976 โอกิมาจิ ได้รับการยกย่องเป็นอำเภออนุรักษ์สถาปัตยกรรมและศิลปวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติสำคัญของชาติ และรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนการทำงานอย่างต่อเนื่อง

 

ดร.เอนก นาคะบุตร นักพัฒนาเอกชนอาวุโส กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรางวัลลูกโลกสีเขียว ผู้ร่วมในคณะศึกษาดูงานคนหนึ่ง ท่านได้สรุปมุมมองไว้อย่างน่าสนใจว่า

  1. “ความรัก ความเคารพ ความสุขจากธรรมชาติ  ที่บรรพบุรุษต่อสู้กับหิมะ  ความหนาวเย็น  การพึ่งพากันและกัน  และร่วมกันแบบลงแขก ( Yui ) การรวมกลุ่มต่อสู้กับการสร้างเขื่อน  เมื่อ 50 ปีก่อนร่วมกัน….จึงอยากสืบทอด  สืบสาน  สิ่งที่ ” จิตวิญญาณบรรพบุรุษ” รักษา และส่งมอบจนถึงรุ่นต่อๆไป
  2. ยุทธศาสตร์ : เขาใช้ ” พลังจิตวิญญาณบรรพบุรุษ” ที่รักและภาคภูมิ สืบสานวิถีชีวิติวัฒนธรรมชุมชนหุบเขา  ให้เป็นฐานชีวิตที่ร่วมกัน “จดการตนเอง ” บนฐานนิเวศน์หุบเขาและวัฒนธรรมท้องถิ่น อันเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมญี่ปุ่น
  3. ปี 1976 รัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศกฏหมาย  ในการรักษาสมบัติทางวัฒนธรรม……. จึงทำให้หมู่บ้าน “ชิรากาว่า ”  เป็นหมู่บ้านต้นแบบของประเทศญี่ปุ่น  ภายหลังจากที่กลุ่มชาวบ้านได้ดำเนินการกันเอง นับตั้งแต่  ปี 1970
  4. ต่อมา ปี1985 UNESCO  ได้จดทะเบียน  ให้ หมู่บ้าน “ชิรากาว่า ”  เป็นหมู่บ้านมรดกโลกทางวัฒนธรรม  ที่ชาวบ้านยังดำเนินชีวิติสืบสาน  อยู่ในปัจจุบัน
  5. ปัจจัยที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง คือ :

(1)กลุ่มผู้นำเข้มแข็ง  ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

(2)มีกติกาชุมชน  ในการรักษาวัฒนธรรมหลังคาบ้าน กาโช…. ด้วย 3 ” ไม่ ” คือ ไม่ขาย  ไม่รื้อ  ไม่ให้เช่าแก่คนนอกหมู่บ้าน

(3 )กรรมการหมู่บ้านร่วมกันบริหาร “กองทุนกลางของหมู่บ้าน  %รายได้ที่เกิดจากการเก็บภาษีเขื่อน  ที่จอดรถ   และภาษีหมู่บ้าน จากการที่มีนักท่องเที่ยวมากระตุ้นรายได้จากการมาท่องเที่ยว  ที่พัก และกินอาหารในหมู่บ้าน

(4) ระบบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี  กลุ่มผู้นำในชุมชนถือเป็นภาระกิจหลัก  ในการเข้าไปร่วมจัดการศึกษาระดับประถม  และมัธยมตัน  ต่อเด็กนักเรียน  ด้วยหลักสูตรพิเศษ  ที่มุ่งให้เด็กเรียนรู้  ชื่นชม  และค้นคว้าความภาคภูมิใจ  และอัตลักษณ์ของชุมชน  และวัฒนธรรม ” ชิรากาว่า “และเน้นให้เด็กนักเรียน  นำเสนอ (ส่งออก )จิตวิญญาณ  และวัฒนธรรมอันดีงามของ วัฒนธรรมท้องถิ่น “”ชิรากาว่า “ต่อคนภายนอก  ต่อนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในชุมชน

(5)กลุ่มผู้นำหมู่บ้าน  ถือเป็นภาระหน้าที่  ในการเข้าไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรพิเศษ  ที่หมู่บ้านร่วมกำหนด  และสรรสร้าง

(6)  รัฐบาลกลาง  ถือเป็นหน้าที่  ที่ต้องจัดสรรงบประมาณอุดหนุน  การซ่อมหลังคา  กาโช    95 %  สมทบหมู่บ้านที่ต้องรับผิดชอบ 5 % ในวงเงิน 1.2 ล้านเย็นต่อหลัง

 

ส่วนพื้นที่อีกกลุ่มบ้าน/ คุ้ม/ป๊อก :  ที่อยู่ในเขตยอดเขา/อุทยาน “ฮักซัง ”  ที่ทีการสร้างเขื่อนดินเพื่อผลิตไฟฟ้า  ของบริษัท J power ( รัฐบาลกลาง ) ชื่อเขื่อน MIBORO :

 

บทเรียนที่เจ้าหน้าที่บริษัท J power  สามารถ  เปลี่ยนการคัดค้านของกลุ่มต่อต้านการสร้างเขื่อนเมื่อ 50 ปีก่อน  (ภายหลังการรวมกลุ่มต่อต้านอยู่ถึง 7-8 ปี)  ด้วยการสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ :

       (1) การสร้างสำนึกร่วมต่อชาติ………ภายหลังการพ่ายแพ้สงคราม  และจำเป็นต้องสร้างเขื่อนสร้างพลังงานไฟฟ้า  บูรณประเทศ  และเข้าหา  ร้องขอความร่วมมือจาก ประชาชน 300 ครัวเรือน  ที่จะถูกน้ำท่วม  จากการสร้างเขื่อน  และพร้อมกัน……..

        (2) จัดทำสัญญา  สร้างข้อตกลง  ที่บริษัท J power  จะดูแล ชดเชย  ดูแลผู้ได้รับผลกระทบทุกคน  ทั้งจากตัวเขื่อน  และถนนที่ตัดเข้ามาถึงตัวเขื่อน  ควบคู่กับ……

        (3) เยียวยาจิตใจ  ในสิ่งที่ชาวบ้านผูกพัน  เช่นช่วยการย้าย ต้นซากูระใหญ่ อายุกว่า 400 ปี 3 ต้น  ออกจากพื้นที่น้ำท่วม  และย้ายมาปลูกในที่ที่ชาวบ้านเสนอ  เพื่อจรรโลงจิตใจ  ทีผูกพันต่อต้นซากูระทั้ง 3 ต้น     

ดร.เอนก นาคะบุตร  : ผู้สรุป  วันที่ 9 พ.ย. 2561