ภาคีการพัฒนาจังหวัดจันทบุรี

ในคราวที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นเลขาธิการสภาพัฒน์  เมื่อได้สรุปผลงานการพัฒนาประเทศภายใต้แผนชาติ ฉบับที่ 1-7 รวม 35 ปี ว่า “เศรษฐกิจดี  สังคมมีปัญหา  การพัฒนาไม่ยั่งยืน”  ท่านจึงได้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคมระดับอาวุโสกลุ่มหนึ่ง จัดให้มีกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาประเทศแบบมีส่วนร่วมเป็นครั้งแรก โดยใช้เทคนิคกระบวนการที่เรียกว่า AIC เข้ามาช่วย จนมาเป็นแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 8  พ.ศ. 2540-2544

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น น่าจะนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มของการปรับทิศทางการพัฒนาประเทศครั้งสำคัญ จากเดิมเคยมุ่งเศรษฐกิจเป็นใหญ่  มาสู่การเอาคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา  เอาใจใส่ต่อคุณภาพชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม  กระทั่งล่าสุดมีวิวัฒนาการมาเป็น 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ตามแนวทางของสหประชาชาติ

ส่วนตัวผมเอง ในเวลานั้น  ได้รับมอบหมายให้มาร่วมเป็นกองเลขานุการกิจของ “เวทีประชาคมแผน 8”  เคียงคู่กับทีมงานสภาพัฒน์  นอกจากนั้นยังได้รับมอบหมายจาก ดร.สรรเสริญ วงศ์ชอุ่ม เลขาธิการสภาพัฒน์ท่านต่อมา  ขอให้ช่วยดำเนินกระบวนการจัดเวทีวิสัยทัศน์จังหวัดและพื้นที่ระดับเขตทั่วประเทศ จำนวน 105 เวที ในปี 2542  เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบในการจัดทำแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 9

จำได้ว่าในคราวนั้น  พวกเราในทุกจังหวัดต่างทำงานเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่กันเป็นที่สนุกสนานมาก  กลุ่มแกนเหล่านั้นต่อมาได้กลายเป็นจุดตั้งต้นของ “ประชาคมจังหวัด” ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และมีพัฒนาการต่อเนื่องจนมาเป็นเครือข่าย “สมัชชาสุขภาพจังหวัด” ในปัจจุบัน

 

ประชาคมจังหวัดจันทบุรี

ภาคประชาชนในจังหวัดจันทบุรี  เริ่มการรวมตัวของกลุ่มที่ขับเคลื่อนงานสังคมตามประเด็นที่ตนสนใจหรือมีอาชีพเกี่ยวข้อง  จนเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 2540  มีกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF)มาสนับสนุน จึงเกิดการเชื่อมร้อยกันเป็นเครือข่าย โดยมี “คณะทำงานกองทุนเพื่อสังคมจังหวัดจันทบุรี”เป็นแกนกลาง   กิจกรรมความเคลื่อนไหวสำคัญของเครือข่ายในช่วง 2541-2561  อาทิ

การขับเคลื่อนจิตสำนึก “กอบบ้านกู้เมือง” ทำให้เกิดการหลอมเป็นเครือข่ายใหญ่  เรียกชื่อว่า “ประชาคมจันทบูร”,  จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน” โดยการสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทย,  จัดตั้ง“เครือข่ายจัดการปัญหาภัยพิบัติภาคประชาชนจันทบุรี” โดยองค์กรชุมชน 13 ตำบลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

ปี 2553 คัดค้านโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของพื้นที่เพื่อจัดตั้งอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น จนนำมาซึ่งการยุติโครงการ, จัดเวทีสมัชชาสภาองค์กรชุมชน “เปลี่ยนจันทบุรี ๑๐ ปี จะไปทางไหน”,  สมัชชาสุขภาพร่วมกันกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาจังหวัดจันทบุรีในทุกมิติ บนพื้นฐานการมีส่วนร่วม  สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ

ประกาศ “ปฏิญญาสมัชชาชุมชนคนจันท์” มอบแผนชุมชนด้านความมั่นคงทางอาหารให้กับจังหวัด,  จัดตั้ง “สภาพลเมืองจังหวัดจันทบุรี”  ประกาศนโยบายสาธารณะ “จันทบุรีเมืองแห่งความสุข  สุขทุกวันที่จันทบุรี”,   ขับเคลื่อน “ศูนย์ประสานงานพหุภาคีพัฒนาจังหวัดจันทบุรี (ศปจ.)”,  สานพลังประชารัฐสร้างเสริมสังคมสุขภาวะ,  จัดตั้งและพัฒนาระบบ “กองทุนประชารัฐเพื่อสังคมของจังหวัดจันทบุรี” และล่าสุด จัดตั้ง “สมาคมพหุภาคีพัฒนาประชาสังคมจันทบุรี”

 

งานชุมชนเข้มแข็ง

จันทบุรี มีประชากร 536,000 คน อาศัยอยู่ใน 10 อำเภอ  76 ตำบล  731 หมู่บ้าน

จังหวัดนี้มีเครือข่ายงานชุมชนเข็มแข็งที่ทำงานกันมายาวนานมาก  ที่แข็งแรงมากที่สุดน่าจะเป็น เครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์ของพระครูสังฆรักษ์ มนัส ขันติธัมโม มีสมาชิกทั้งจังหวัดประมาณ 1 แสนคน มีเงินกองทุนสวัสดิการ 1,000 ล้านบาท  มีออมเพิ่มขึ้นทุกเดือน เดือนละ 10 ล้านบาท

งานชุมชนเข้มแข็งที่นี่เขาเริ่มมาก่อนงานประชาสังคมนานมาก  ที่นี่ถือเป็นฐานหลักของข่ายงานสังฆะเพื่อสังคม  มีการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ไปอย่างกว้างขวาง  มีการจัดตั้ง “กองบุญสุขภาวะ สังฆะจันทบุรี”  พระครูมนัสเล่าให้ฟังว่า ในขณะนี้ วัดทุกวัดในเขตอำเภอแหลมสิงห์เข้าร่วมเป็นเครือข่าย  พระสงฆ์เป็นสมาชิก 500 รูป  มีการสมทบกองทุนสวัสดิการพระสงฆ์อาพาธ 1,000 บาทต่อเดือนต่อรูป  เมื่อเจ็บป่วยอาพาธไปโรงพยาบาล ช่วย 1,000 บาท/ครั้ง  ป่วยติดเตียงช่วย 1,000 บาท/เดือน  กรณีอุบัติเหตุช่วยจ่าย  20,000 บาท/ครั้ง

นอกจากนั้น ประชาชนที่นี่ยังมีการจัดตั้งรวมกลุ่มกัน เพื่อการพัฒนาและจัดการตนเอง  เป็นองค์กรชุมชน  ซึ่งมีจำนวนมากถึง 1,515 องค์กร  และมีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบลไปแล้ว 22 แห่ง

เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันที่ยังคงทำกันอย่างแข็งขัน มี 2 สาย คือ สายวัด กับ สายสุขภาพ  กลุ่มเกษตรกรต้นแบบอยู่ที่ตำบลปัถวี และเครือข่ายอำเภอเขาคิชกูฏ  ทำการเกษตรแบบประณีต  ไม่ใช้เคมี ไม่ใช้ยา ไม่ใช้ฮอร์โมน  ใช้มาตรฐาน PGS/ Organic Thailand  มีการทำความร่วมมือกับห้างซุปเปอร์มาเก็ตในเมือง 45 ราย 1,200 ไร่

 

เครือข่ายพลเมืองอาสา

ความเคลื่อนไหวของอาสาสมัครภาคพลเมือง เป็นอีกรูปธรรมหนึ่งของระดับคุณภาพของสำนึกสาธารณะและการจัดการตนเองในชุมชนท้องถิ่น  ที่นี่เขามีการรวมตัวกันของคนทำงานจิตอาสาในอำเภอต่างๆ รวม 239 เครือข่าย  2,777 คน  ให้การดูแลผู้ยากลำบาก ที่ตกสำรวจและถูกทอดทิ้ง 2,200 คน เป็นกลุ่มติดบ้าน-ติดเตียง 717คน  พิการ 701 คน ไร้บ้าน 266 คน  ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง 166 คน  ไร้สัญชาติ 75 คน ฯลฯ

มีการหาเงินบริจาคนำมาจัดตั้งเป็น “กองทุนจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคมจังหวัดจันทบุรี” จำนวน  534,234 บาท   มีโครงการกองทุนข้าวสารสำหรับคนยากจน ของเจ้าอาวาสวัดโค้งสนามเป้า และ กองทุนข้าวสารเพื่อประชาชนคนท่าช้าง

นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มจิตอาสาอื่นๆหลากหลายมาก ที่ลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลกันเอง อาทิ  กลุ่มกระต่ายอาสา ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงระยะสุดท้าย ผู้พิการ ผู้ยากไร้ และแม่หลังคลอด ด้วยการให้ยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ การไปเยี่ยมให้กำลังใจ ปัจจุบันมีผู้ป่วยในความดูแลของกลุ่มฯ ประมาณ 270 คน  เสียชีวิตไปแล้ว  41 คน

อีกทั้ง สมาคมคนพิการจังหวัดจันทบุรี  กลุ่มจิตอาสาอำเภอขลุง กลุ่มจิตอาสาอำเภอโป่งน้ำร้อน  กลุ่มธาราเพื่อชีวิต ใช้ความรู้และเทคนิคธาราบำบัด ช่วยรักษาทางกายภาพบำบัดสำหรับเด็กสมองพิการที่มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ

นี่คือตัวอย่างของขบวนการประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยที่ว่าด้วยการจัดการปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งรอเข้าร่วมขบวนการพัฒนาระบบประชาธิปไตยเชิงคุณภาพ-คุณธรรมอย่างเข้มข้น ในระยะอันใกล้.

 

พลเดช  ปิ่นประทีป

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

เขียนให้โพสต์ทูเดย์ /  วันพุธที่  6 มีนาคม 2562