“สมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่มีพลัง” | คุยกับเลขาธิการ (34)

การจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ(NHA)ในแต่ละปี อยู่ในความรับผิดชอบของ “คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ”(คจ.สช.)

ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากมติของที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดย สช.เป็นเพียงเลขานุการของคณะกรรมการเท่านั้น จึงเป็นกลไกกระบวนการส่วนกลางของภาคีเครือข่าย ที่ช่วยกันกำหนดรายละเอียดและลงมือทำ

เท่าที่ได้สังเกตุ จากการเข้ามาทำหน้าที่ 3 ปีที่ผ่านมา   ผมพบว่าเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในแต่ละปี ยังคงสามารถรักษาและสร้างสรรค์มาตรฐานความเป็น”ต้นแบบเวทีสมัชชา”ของประเทศไทยเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

โดยสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์จาก“เวทีของNGO”  ซึ่งภาครัฐขยาด ภาคธุรกิจไม่ให้ราคา ภาควิชาการที่จำกัดอยู่ในวงแคบ และภาคการเมืองไม่Buy-inมาสู่การเป็น “เวทีสานพลัง”ที่หลายฝ่ายเข้ามาใช้ประโยชน์ได้อย่างสนิทใจมากขึ้น

เปลี่ยนภาพรวมของงาน  จากเดิมที่เคยเน้น “งานขาขึ้น” เป็นใหญ่  มาสู่ “ขาขึ้น-ขาเคลื่อน” ที่สมดุลมากขึ้น เปลี่ยนสถาวะการณ์จำนวนมติ ที่ “พอกหางหมู” มาสู่กระบวนการขับเคลื่อนมติ “อย่างมีแบบแผน”ครบวงจรและมีทางออก สามารถบอกความก้าวหน้าได้ทุกระยะ

มีการตกผลึกความรู้และประสบการณ์ที่สำคัญ  คือ“แนวทางการขับเคลื่อนมติ แบบ 3 ทิศทางไปพร้อมกัน“ (ขับเคลื่อนแบบขึ้นบน  แบบแนวราบ และแบบลงล่าง)  ยิ่งทำให้เพิ่มความมั่นใจต่อวิถีการจัดการตนเองของขบวน เกิดอิสรภาพ  ขวัญกำลังใจและเพิ่มพูนระดับภูมิคุ้มกัน

ทั้งยังได้เห็นบทบาทของภาคการเมืองตัวแทน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมด้าน“งานขาเคลื่อน”  ที่เด่นชัดกว่าบทบาทในด้าน “งานขาขึ้น”

ในทรรศนะส่วนตัว ผมคิดว่า ในเวลานี้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติอยู่ในวิสัยที่จะยกระดับเป็นเวทีนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมที่ทรงพลังของชาติ ได้อย่างก้าวกระโดด  แต่ทั้งนี้ต้องกล้าที่จะทบทวนในเรื่องระบบตัวแทน โครงสร้าง องค์ประกอบและที่มาของสมาชิกอย่างจริงจัง  โดยออกแบบกันใหม่ในบางระดับ (Redesign)  ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ

  1. มุ่งสร้างNHAให้เป็นพื้นที่ต้นแบบและเป็นฐานที่แข็งแรงของขบวนประชาธิปไตยทางตรงเชื่อมต่อและรองรับขบวนการมีส่วนร่วมของสังคมจากฐานล่างทั่วประเทศ อย่างหลากหลายและกว้างขวาง
  2. มุ่งสานพลังภาคีตามแนวทางสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาอย่างเต็มรูปแบบ
  3. มุ่งให้เกิดผลผลิตที่เป็นตัวนโยบายและการพัฒนากำลังคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อการปฏิรูประบบสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและสังคมไทยไปด้วยกัน
  4. มุ่งให้เกิดการบูรณาการเครื่องมือกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม (4PW) ทุกเครื่องมือ
  5. มุ่งเสริมสร้างเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัด (PHA) ให้เป็นฐานที่แข็งแรง รองรับนโยบายการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่

เพื่อการนี้  สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ควรประกอบไปด้วย ตัวแทนจากกลุ่มเครือข่าย 6 ประเภท ประมาณ 500 กลุ่มเครือข่าย (500 ที่นั่ง ) ดังนี้

กลุ่มเครือข่ายภาคสังคม จากพื้นที่  (SA หรือ MA-MS) ได้แก่ ตัวแทนจากคจ.สจ. (คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัด) และ ศปจ.( ศูนย์ประสานภาคีการพัฒนาจังหวัด)

กลุ่มเครือข่ายภาครัฐ จากพื้นที่  (PA  หรือ MA-MP) ได้แก่ ตัวแทน ผวจ. และตัวแทนนายก อบจ.

กลุ่มเครือข่ายภาควิชาการ จากพื้นที่ (KA หรือMA-MK) ได้แก่  ตัวแทน กขป.(คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน)   ตัวแทนสถาบันวิชาการภูมิภาค และ ตัวแทนสโมสรนิสิตนักศึกษา (กขป. เป็นผู้เลือก)  ตัวแทนเครือข่าย HIAConsortium(เครือข่ายนักวิชาการในภูมิภาค ที่ขับเคลื่อนงาน HIA/CHIAร่วมกับสช.)

กลุ่มเครือข่ายภาคสังคม เชิงประเด็น ในระดับชาติ (SI  หรือ MI –MS) ได้แก่

ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม (โดย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน)   ข่ายงานคุ้มครองผู้บริโภค (โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) ข่ายงานทรัพยากรธรรมชาติและสวล. ( โดยกระทรวง ทส.)  สภาองค์กรชุมชน (โดย พอช.)  สภา อบต. (โดยสมาคมอบต.แห่งประเทศไทย)  สภาเทศบาล (โดยสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย) ข่ายงานสภาเกษตรกร (โดยสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ) ข่ายงานสภาเด็กและเยาวชน  ข่ายงานสมัชชาผู้สูงอายุแห่งชาติ  ข่ายงานองค์กรผู้พิการและข่ายงานองค์กรสตรี(โดยพม.และองค์กรสภากลุ่มเฉพาะ) และตัวแทนข่ายสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ (โดยศูนย์คุณธรรม)

กลุ่มเครือข่ายภาควิชาการ ระดับชาติ (KI หรือ MI-MK)ได้แก่

ตัวแทนข่ายงานมหาวิทยาลัยหลักของประเทศ(คจ.สช.เป็นผู้เลือก)ไม่เกิน  5 แห่ง  ข่ายหน่วยงานองค์การมหาชน (คจ.สช. เป็นผู้เลือก) ไม่เกิน 15 องค์กร และสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง (คจ.สช.เป็นผู้เลือก) ไม่เกิน 15 องค์กร

 

กลุ่มเครือข่ายภาครัฐ ระดับชาติ (PI  หรือ MI-MP)ได้แก่ ตัวแทนกระทรวง (ปลัดกระทรวงเป็นผู้มอบหมาย )  ตัวแทนกรมที่เกี่ยวข้อง ( คจ.สช.เลือก) ไม่เกิน 20กรม  และตัวแทนพรรคการเมือง (สช.เชิญพรรคการเมืองที่สนใจ)  ไม่เกิน 20 ที่นั่ง.

พลเดช ปิ่นประทีป