สาธารณรัฐเลบานอน : ถิ่นฐานรกรากชาวฟีนีเชียน ตอนที่ 11 เที่ยวเมืองไซดอน

บันทึกการเรียนรู้โดย พลเดช ปิ่นประทีป

ไซดอน (Sidon) เป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศเลบานอน ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กึ่งกลางระหว่างเมืองไทร์ทางใต้กับเบรุตทางเหนือ ห่างจากสองเมืองราว 40 กิโลเมตร

ท่าเรือเมืองไซดอนในปัจจุบัน

ไซดอน เป็นเมืองท่าทางทะเล ท่าเรือประมง ศูนย์กลางการค้าในเขตเกษตรกรรม และเป็นสถานีปลายทางของท่อขนส่งน้ำมันจากบ่อน้ำมันในประเทศซาอุดีอาระเบีย มีประชากรราว 200,000 คน

เมืองนี้เป็นเมืองโบราณอายุราว 5000 ปี คือตั้งขึ้นราว 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ตกอยู่ใต้การปกครองของกลุ่มชนต่าง ๆ ที่มีอำนาจในสมัยโบราณ ได้แก่ ชาวอัสซีเรีย ชาวบาบิโลเนีย และชาวเปอร์เซีย ต่อมาราว 333 ปี ก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราช ได้เข้ายึดครองเมือง ตกอยู่ใต้การปกครองของชาวโรมันเมื่อราว 100 ปี ก่อนคริสต์ศักราช

ในช่วงสงครามครูเสดเปลี่ยนผู้ยึดครองหลายครั้ง จนในที่สุดชาวมุสลิมเข้ายึดครองได้ประมาณ ค.ศ. 1241 เมืองนี้เจริญรุ่งเรืองภายใต้การยึดครองของชาวเติร์กหลัง ค.ศ. 1517 แต่ลดความสำคัญลงเมื่อมีการขับไล่พ่อค้าชาวฝรั่งเศสออกจากเมืองใน ค.ศ. 1791

ปราสาททะเลเมืองไซดอน  Sidon Sea Castle 

เมืองไซดอน ถือเป็นเมืองสำคัญและเก่าแก่ที่สุดของชาวฟินิเชีย ทั้งยังเป็นรากฐานด้านการค้าอันยิ่งใหญ่ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของชาวฟินิเชียอีกด้วย กล่าวกันว่า ครั้งหนึ่งพระเยซูและเซนต์ปอล เคยเดินทางไปเยือนเมืองไซดอน

ปราสาททะเล Sidon Sea Castle สร้างโดยนักรบครูเสด ในปี ค.ศ. 1228 บนเกาะเล็กๆ ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ ด้วยการทำสะพานหิน จุดประสงค์เพื่อใช้เป็นป้อมปราการป้องกันเมือง บนป้อมแห่งนี้เคยมีหอคอยอยู่ 2 หอ และถูกพวกมัมลุคทำลายเมื่อยึดเมืองไทร์ได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้พวกครูเสดกลับมาใช้งานได้อีก

ยุทธการปิดล้อมเมืองไซดอน

ยุทธการปิดล้อมไซดอน ( Siege of Sidon) เป็นเหตุการณ์การสู้รบครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่เมืองไซดอน  ระหว่างฝ่ายนักรบครูเสดกับฝ่ายมุสลิมแห่งราชวงศ์ฟาติมียะห์ ระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม5 ธันวาคม ค.ศ. 1110 

ยุทธการครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากสงครามครูเสดครั้งที่ 1 และเป็นส่วนหนึ่งของสงครามครูเสดนอร์เวย์ที่กษัตริย์นอร์เวย์เข้าร่วมรบด้วย

ช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1110  กองเรือจำนวน 60 ลำของพระเจ้าซิเกิร์ดที่ 1 แห่งนอร์เวย์ (Sigurd I of Norway) ได้แล่นมาถึงเลแวนต์และขึ้นฝั่งที่เมืองเอเคอร์ พระองค์ได้รับการต้อนรับจากพระเจ้าบอลดวินที่ 1 แห่งเยรูซาเลม กษัตริย์สองพระองค์ได้เดินทางไปที่แม่น้ำจอร์แดน พระเจ้าบอลดวินได้ทูลขอให้พระเจ้าซิเกิร์ดช่วยตีเมืองท่าของมุสลิม ซึ่งพระเจ้าซิเกิร์ดตอบตกลง โดยตรัสว่าพระองค์มาที่นี่เพื่อรับใช้พระคริสต์เช่นกัน

กองทัพครูเสดซึ่งได้กองเรือสนับสนุนจากดยุกแห่งเวนิส ออร์เดลาโฟ ฟาลิเอโร (Ordelafo Faliero)  ได้บุกเข้าปิดล้อมเมืองไซดอน เมืองชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ราชวงศ์ฟาติมียะห์ได้สร้างปราการป้องกันไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1098  มีกองทัพเยรูซาเลมล้อมเมืองไว้ทางบก ส่วนทัพเรือนอร์เวย์และเวนิสจะคอยสกัดกองเรือมุสลิมที่มาจากเมืองไทร์ ไซดอนจึงเสียเมืองแก่พวกครูเสดในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1110

หลังยึดเมืองได้สำเร็จ มีการสถาปนาตำแหน่งเจ้าเมืองไซดอน (Lordship of Sidon) โดยผู้ประเดิมตำแหน่งคือยูสเตส เกรนีเยร์ (Eustace Grenier) ด้านพระเจ้าบอลดวินและคณะอัครบิดรแห่งเยรูซาเลม (Patriarch of Jerusalem) ได้มอบกางเขนศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้าซิเกิร์ด

ข่าน เอล ฟราน

คณะได้เข้าเยี่ยมชม ข่าน เอล ฟราน (Khan al-Franj)  บริเวณที่แห่งนี้ในอดีตเคยเป็นที่พักของกองคาราวานมาก่อน เนื่องจากเมืองไซดอนเป็นเมืองสุดท้ายบนเส้นทางสายไหม ก่อนที่จะลงทะเล ต่อไปยังกรุงโรม

ที่นี่เป็นตัวอย่างของสถานที่พักกลางทะเลทราย หรือ โรงเตี้ยม สำหรับคาราวานผู้เดินทางบนเส้นทางสายไหมที่มีความยาวกว่า 5,000 ไมล์

ปัจจุบันได้รับการบูรณะและได้กลายเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมไซดอน

บริเวณภายใน ข่าน เอล ฟรานจ ชั้นบนเคยเป็นที่พักค้างแรม ส่วนชั้นล่างเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า
ป้ายแสดงหน้าทางเข้าโบราณสถาน บ่งบอกสถานะและองค์กรที่ดูแลรักษา
ในตลาดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองไซดอน มีภาพของยัตเซอร์อาราฟัต อดีตผู้นำปาเลสไตน์ติดอยู่หลายแห่ง เข้าใจว่าเป็นช่วงฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้ง น่าจะเป็นแนวร่วมของกลุ่มฮิซบอเลาะห์

เข้าชมวังไบเทดดีน  

จากเมืองไซดอน คณะของเราออกจากชายฝั่งทะเลมุ่งหน้าขึ้นไปในหุบเขาที่ลึกเขามาในแผ่นดิน มาหยุดที่บริเวณวังเก่าของเจ้าชายอาหรับแห่งหนึ่ง ชื่อ พระราชวังไบเทดดีน (Beited-Dine)  

พระราชวังไบเทดดีนแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยเจ้าชายอาหรับ นามว่า Bashir Shihab II ในช่วงระหว่างปี ค. ศ. 1788 – 1818  เป็นที่ประทับของเจ้าชายอาหรับเรื่อยมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1840

หลังจากนั้นอาคารถูกใช้โดยเจ้าหน้าที่ชาวเติร์กใช้เป็นที่พักของรัฐบาล ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสก็เข้าใช้ในการปกครองท้องถิ่น มีการบูรณะพระราชวังของเก่า หลังจากที่ได้ประกาศให้เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์

ต่อมาในปี ค.ศ. 1943  หลังจากที่เลบานอนได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส พระราชวังไบเทดดีนได้กลายเป็นพระราชวังฤดูร้อนของประธานาธิบดี สถาปัตยกรรมของพระราชวังไบเทดดีนจัดได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของงานสถาปัตยกรรมในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ของเลบานอน

ปัจจุบัน เขาดูแลรักษาเป็นสมบัติสาธารณะ ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชม ผู้คนไม่พลุกพล่านมากนัก ในบริเวณอาคารด้านในมีเจ้าหน้าที่เฝ้าเป็นจุดๆอยู่ทั่วไป พวกเราจึงต้องเข้าเยี่ยมชมอย่างระมัดระวัง ได้รับทราบข้อมูลจากไกด์ว่า ที่นี่เขามีการเปิดให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับแสดงคอนเสิร์ตและงานศิลปวัฒนธรรม จัดกันทุกปี

เที่ยวหมู่บ้านวัฒนธรรม เดอร์ เอล คามาร์

จากนั้น พวกเราได้มาแวะชมหมู่บ้านวัฒนธรรม เดอร์ เอล คามาร์ (Deir El Qamar)  บริเวณที่แห่งนี้เคยเป็นอดีตเมืองหลวงของประเทศเลบานอน ในช่วงศตวรรษที่ 15  มีผู้ปกครองเลบานอนนามว่า เอมีร์ ฟาคห์เรดดีน ที่ 2 เข้ามามีอำนาจในช่วงปี ค.ศ. 1590 หมู่บ้านประกอบไปด้วยมัสยิด และ พระราชวัง

มีสถานที่ทางประวัติศาสตร์ และอาคารบริหารราชการยุคศตวรรษที่ 17  มีโบสถ์เป็นศูนย์รวมการทำกิจกรรมของหมู่บ้าน ที่นี่จึงกลายเป็นศูนย์กลางของประเพณีวัฒนธรรมและวรรณกรรมแห่งเลบานอน ทั้งยังเป็นหมู่บ้านแรกในเลบานอนที่ได้มีการบริหารจัดการในระบบเขตเทศบาลเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1864  และที่นี่เป็นบ้านเกิดของบุคคลที่มีชื่อเสียงของเลบานอนหลายคน ทั้งนักเขียนและนักการเมือง

เรายังได้แวะชมปราสาทมูสซา ซึ่งดูคล้ายเป็นพิพิทธภัณฑ์ของชุมชนที่มีผู้สร้างเอาไว้แสดงสิ่งของโบราณที่สะสมรวบรวมไว้ มีทั้งของชาวบ้าน อาวุธโบราณ เครื่องแต่งกายนักรบ และวิถีชีวิตชาวบ้าน เหมือนพิพิทธภัณฑ์พื้นบ้านของจ่าทวี ที่จังหวัดพิษณุโลก อะไรประมาณนั้น

ตอนที่ 12 สนซีดาร์อันศักดิ์สิทธิ์