พลังงานชุมชน ในมิติการแก้จน-ลดเหลื่อมล้ำ

โดย นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา

รัฐควรลงทุนพัฒนาระบบ ยึดชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางให้ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของและขับเคลื่อน

แนวนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์ ในเรื่อง “1 ชุมชน 1 พลังงานทางเลือก” นั้น น่าจะมีเจตนาครอบคลุมพลังงานชุมชนในมิติกว้าง

แต่การความสำคัญเป็นพิเศษต่อพลังงานไฟฟ้าอันเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ฝ่ายข้าราชการประจำได้นำเสนอออกมา อาจทำให้สังคมเข้าใจไปในทางการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันแบบเดิมๆ

โดยความเห็นส่วนตัว เท่าที่จับกระแสสัญญาณจากคำแถลงข่าวของผู้กำหนดนโยบายที่สองท่าน ผมคิดว่าพลังงานชุมชนในที่นี้ ควรเป็นความหมายที่กว้าง ครอบคลุมในหลากหลายประเภทและแหล่งพลังงาน สามารถเชื่อมโยงบูรณาการกันได้ โดยมีหลักการที่จะใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาของชุมชนเป็นด้านหลัก

พลังงานชุมชนในที่นี้ ควรเน้นไปที่การใช้พลังงานทางเลือก ไม่นับรวมฟอสซิลอันเป็นกระแสหลัก ไม่นับรวมพลังงานนิวเคลียร์ ที่มีอันตรายและต้องใช้เทคโนโลยีสูง ต้องอาศัยการนำเข้า มีราคาแพงและต้องพึงพาภายนอก

พลังงานชุมชนในที่นี้ ควรครอบคลุมรูปแบบพลังงานครบทั้ง 3 ระดับ คือพลังงานขั้นต้น (ได้แก่ ไม้ ฟืน ถ่าน เพื่อให้ความร้อนและแสงสว่างแบบพื้นฐานดั้งเดิม) พลังงานขั้นกลาง ( ได้แก่ ถ่านไบโอชาร์ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซชีวภาพ แก้สสังเคราะห์  น้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ความร้อน แสงสว่าง รวมทั้งขับเคลื่อนเครื่องยนต์ เครื่องจักรกล) และพลังงานขั้นสูง( ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้แบบเอนกประสงค์ ครอบจักรวาลมากที่สุด )

ในทางกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ กระทรวงพลังงาน (พน.) มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลนโยบายครอบคลุมทุกพลังงาน ส่วนสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะดูแลเฉพาะกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติเท่านั้น

กล่าวสำหรับกิจการไฟฟ้า กกพ. ได้แบ่งประเภทของผู้ผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน เป็น 6 ประเภท ซึ่งปี 2560 มีสัดส่วนผลผลิต มากน้อยตามลำดับ ดังนี้

1) EGAT คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลักของประเทศที่รับผิดชอบในการผลิตและจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอและมีความมั่นคง  มีผลผลิตรวม 54.90 gw(กิกะวัตต์) ซึ่งในจำนวนนี้ กฟผ.เป็นผู้ผลิตเองจำนวน 20.33 gw

2) IPP คือ กลุ่มบริษัทเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ มีผลผลิตรวม 15.92 gw

3) SPP คือ กลุ่มบริษัทเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก มีผลผลิตรวม 12.11 gw

4) VSPP คือ กลุ่มบริษัทเอกชนผู้ผลิตรายเล็กมาก มีผลผลิตรวม  4.93  gw

5) Importer คือ ผู้นำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ มีผลผลิตรวม 4.28 gw

6) IPS คือ กลุ่มบริษัทเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง มีผลผลิตรวม 2.68 gw

เมื่อหันกลับมามองโรงไฟฟ้าชุมชน ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในมุมมองของหมอพลเดช เห็นว่าควรมี 4 รูปแบบ และ 4 เป้าหมายในการจัดการ ได้แก่

1. กิจการไฟฟ้าชุมชนสำหรับพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร

ในกลุ่มนี้ รัฐควรลงทุนพัฒนาระบบไมโครกริดโดยใช้พลังงานทดแทนที่หลากหลาย ผสมผสาน ยึดชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ให้ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของและเป็นผู้ขับเคลื่อน เป้าหมายเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ความยากจนแบบตรงไปตรงมา

2. กิจการไฟฟ้าท้องถิ่น

สำหรับพื้นที่ที่อปท.มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพและประสงค์จะดำเนินกิจการไฟฟ้าด้วยตัวเองโดยผลิตและจำหน่ายในขอบเขตของตน รัฐควรเปิดโอกาสให้ทำได้ ในรูปแบบของกิจการ”รัฐวิสาหกิจท้องถิ่น”ที่มีรัฐวิสาหกิจระดับชาติ อปท.และภาคเอกชน -ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของและดำเนินการ ถ้าทำได้ก็จะเป็นการปฏิรูประบบการจัดการพลังงาน จากการรวมศูนย์บริหารกิจการพลังงานไปเป็นการบริหารจัดการแบบกระจายศูนย์

3. โรงไฟฟ้าแบบCSV

สำหรับเอกชนที่สนใจจะลงทุน ชุมชนท้องถิ่นทั่วไปที่มีทรัพยากรที่เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้า มีศักยภาพ อันนี้จะเป็นรูปแบบเดียวกับกิจการโรงไฟฟ้าเอกชนของผู้ผลิตขนาดเล็กตามคำจำกัดความของ กกพ. คือแบบ VSPP เพราะมุ่งผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าสู่ระบบ Smart GRID ของ กฟผ.  ซึ่งก็เป็นประโยชน์ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความมั่นคงทางพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน และจะช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากไปด้วยกัน

4. ไฟฟ้าครัวเรือน

เป็นการผลิตเองใช้เองสำหรับประชาชน ชุมชนและสำนักงานที่มีศักยภาพ เป็นรูปแบบที่เรียกว่า Prosumer เปลี่ยนผู้บริโภคให้เป็นผู้ผลิตเองใช้เอง มุ่งลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นหลัก พลังงานส่วนที่เหลือควรยินดีบริจาคให้ส่วนรวมหรือให้รัฐ โดยไม่มุ่งหวังผลิตไฟฟ้าขายให้รัฐแบบภาคธุรกิจ

ในแง่มุมนี้ กรณีรูปแบบ 1 2 และ 4  จะเข้าข่ายเป็นประเภท IPS ส่วนในกรณีรูปแบบ 3  จะเข้าข่ายเป็น VSPP

ต่อนโยบายพลังงานชุมชนของรัฐบาลตามที่ประกาศและเริ่มขับเคลื่อนออกมาในขณะนี้  ส่วนหนึ่งเป็นการตอบสนองต่อข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ตามแผนปฏิรูปที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา อีกส่วนหนึ่งเป็นนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและกระทรวงสายเศรษฐกิจ ที่จะขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ

เป็นเรื่องที่สังคมควรให้การสนับสนุนกระทรวงพลังงานให้ขับเคลื่อนนโยบายอย่างครอบคลุม ทั้งในส่วนเพิ่มแข่งขันและส่วนลดเหลื่อมล้ำ โดยทำไปพร้อมๆกัน

สำหรับในส่วนเพิ่มแข่งขัน กระทรวงพลังงานจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้มากสักหน่อย หมายความว่าจะต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่อง EIA และ EHIA โดยเคร่งครัด

ส่วนในด้านการลดความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลควรต้องลงทุนทางสังคมในรูปแบบใหม่ๆที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนและชุมชนที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2,000ชุมชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงพลังงานให้มากที่สุดและเร็วที่สุด

นอกจากนั้น ในด้านชุมชนเข้มแข็ง รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้ประเด็นพลังงานชุมชนมาขับเคลื่อนกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะแบบองค์รวม

ที่มารูปหน้าปกจาก เนชั่น สุดสัปดาห์ https://www.nationweekend.com/columnist/28/2521