สาธารณรัฐเลบานอน : ถิ่นฐานรกรากชาวฟีนีเชียน ตอนที่ 6 สงครามครูเสด

บันทึกการเรียนรู้โดย พลเดช ปิ่นประทีป

เนื่องจากเลบานอนเป็นพื้นที่สมรภูมิสำคัญส่วนหนึ่งของสงครามครูเสด ที่รบพุ่งแย่งชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์กันระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิม เมืองโบราณที่เราไปเที่ยวหลายแห่งในคราวนี้ ล้วนมีร่องรอยและประวัติศาสตร์เรื่องราวที่เกี่ยวพันธ์กับสงครามครูเสด

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องราวที่ต่อเนื่องกัน ผู้บันทึกจึงได้รวบรวมข้อมูลความรู้ทางประวัติศาสตร์จากกูเกิ้ลมาแสดงไว้ในที่นี้ แต่เพียงโดยสังเขป ซึ่งผู้สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จาก

https://hilight.kapook.com/view/76761

สงครามครูเสด เป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่แห่งมวลมนุษยชาติในครั้งอดีต เป็นสงครามระหว่างศาสนา โดยส่วนใหญ่หมายความถึงสงครามครั้งใหญ่ระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ ในช่วงศตวรรษที่ 11 ถึง 13  ดินแดนที่ทำการสู้รบและแย่งชิงพื้นที่กัน เป็นสถานที่สำคัญของสามศาสนาได้แก่ อิสลาม ยูได และ คริสต์ ซึ่งในปัจจุบัน ก็คือบริเวณประเทศอิสราเอล ปาเลสไตน์ และเลบานอน

ความหมายของสงครามครูเสด

สงครามครูเสด มีความหมายว่า เป็นการต่อสู้เพื่อความถูกต้องชอบธรรม เป็นความถูกต้องชอบธรรมตามหลักศรัทธาทางศาสนา เป็นสงครามที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งชาวมุสลิมใช้คำว่า จิฮัด

ในภายหลังคำว่า สงครามครูเสดถูกนำไปใช้ในทำนองการรณรงค์ต่อสู้เพื่อความชอบธรรมด้านต่าง ๆ  เป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ฆ่าคนนอกรีต-คนต่างศาสนา นอกจากไม่บาปแล้ว ยังได้ขึ้นสวรรค์

สงครามครูเสดในมุมมองศาสนาคริสต์ คือ สงครามไม้กางเขน เดิมมาจากคำว่า “ครอส” (Cross) และชาวคริสต์อ้างว่าเดิมทีดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เยรูซาเล็ม (Jerusalem) นั้น เป็นของชาวคริสต์ แต่ถูกชาวมุสลิมรุกรานแย่งชิงไป ฝ่ายคริสต์จึงมีการประกาศความชอบธรรมในการทำสงคราม รวมทั้งการยกหนี้สินให้กับคนที่เข้าร่วมสงคราม ผู้นำศาสนายังประกาศอีกว่า ผู้ใดที่ร่วมรบจะได้ขึ้นสวรรค์

สงครามครูเสดในมุมมองศาสนาอิสลาม คือ การรุกรานของชาวคริสต์ที่กระทำต่อมุสลิม สาเหตุสงครามเกิดจากการที่ชาวคริสต์ไม่พอใจชาวมุสลิมที่ไม่ต้อนรับพวกตนในการเข้าไปแสวงบุญที่เยรูซาเล็ม ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลข้ออ้าง อย่างนี้เป็นต้น

สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดสงครามครูเสด

1. สงครามครูเสดเป็นผลของความขัดแย้งกันเป็นเวลาช้านาน ระหว่างคริสตจักรทางภาคตะวันตกกับทางภาคตะวันออก ต่างฝ่ายต่างก็พยายามที่จะมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง โดยนำเสนอความเป็นผู้นำในการรบเพื่อทวงคืนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และหยุดยั้งการแพร่ขยายของศาสนาอิสลามที่เป็นไปอย่างรวดเร็วจนก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นทั่วไปในหมู่ชาวคริสเตียนในยุโรป ด้วยเหตุดังกล่าว ในศตวรรษที่ 11 ชาวคริสเตียนจึงได้ส่งกองกำลังมาปะทะกับมุสลิม

2. ความกระตือรือร้นในการไปแสวงบุญของชาวคริสเตียนยังนครเยรูซาเล็มมีมากกว่าที่เคยเป็นมา ในช่วงนั้น เยรูซาเล็มตกอยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิม ผู้แสวงบุญชาวคริสเตียนจึงมีความต้องการดินแดนเยรูซาเล็มเป็นของตนเอง เพื่อความสะดวกในการแสวงบุญมากยิ่งขึ้น

3. ช่วงเวลาระหว่างนั้น เป็นระยะเวลาที่ระส่ำระสายอยู่ทั่วไปในยุโรป พวกเจ้าเมืองต่าง ๆ ต่างก็ต่อสู้ทำสงครามซึ่งกันและกัน พระสันตะปาปามีความเห็นว่า ถ้าปล่อยให้อยู่ในสภาพเช่นนี้ จะทำให้ชาวคริสเตียนในยุโรปต้องอ่อนแอลง เขาจึงยุยงปลุกระดมให้ประชาชนหันมาต่อสู้กับชาวมุสลิมแทนเสียเอง โดยอ้างว่าจะได้รับกุศลผลบุญ และทำสงครามเพื่อชิงเอานครอันศักดิ์สิทธิ์ “เยรูซาเล็ม” กลับคืนมา

4. มุสลิมได้กลายเป็นมหาอำนาจทางการค้าแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา การค้าพาณิชย์ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจึงตกอยู่ในความควบคุมของมุสลิมอย่างเต็มที่ ดังนั้น ชาวคริสเตียนในยุโรปจึงต้องการทำสงครามกับมุสลิม เพื่อหยุดยั้งความเจริญก้าวหน้าของมุสลิม

5. สันตะปาปา เออร์แบนที่ 2 ประสงค์จะรวมคริสตจักรของกรีกมาไว้ใต้อิทธิพลของท่านด้วย จึงได้เรียกประชุมชาวคริสเตียนที่เมืองเลอมองส์ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1095 และรบเร้าให้ชาวคริสเตียนทำสงครามกับชาวมุสลิม ท่านได้สัญญาว่าผู้ที่เข้าร่วมในการต่อสู้จะได้รับการยกเว้นจากบาปที่เคยทำมา และผู้ที่ตายในสงครามก็จะได้ขึ้นสวรรค์ 

ภายในเวลาไม่นานก็รวบรวมคนได้ถึง 150,000 คน ส่วนมากเป็นชาวแฟรงค์ (Frank) และนอร์แมน (Norman) คนเหล่านี้ได้มาชุมนุมกันที่เมืองเยรูซาเล็ม สงครามจึงเริ่มขึ้น 

สงครามครูเสด
ที่มา https://www.timetoast.com/timelines/history-of-the-world–35

จุดเริ่มต้นของสงครามครูเสด

หลังจากที่พระเยซูคริสต์เสียชีวิตแล้ว แผ่นดินที่พระเยซูคริสต์เคยมีชีวิตอยู่ คือเมืองเบธเลเฮม เมืองนาซาเร็ธ และเมืองเยรูซาเล็ม ถูกเรียกว่าเป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ชาวคริสเตียนจะต้องเดินทางไปแสวงบุญที่เมืองเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม เมืองเหล่านี้บางเมืองก็เป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาของชาวมุสลิมด้วยเช่นกัน เมื่อพวกซัลจู๊ค (มุสลิม)แห่งเติร์กเข้ามามีอำนาจ ได้ครอบครองซีเรียและเอเชียไมเนอร์ของไบแซนไทน์ 

ชัยชนะของซัลจู๊คในการยุทธที่มานซิเคอร์ท ในปี ค.ศ. 1071 นั้น เป็นการขับไล่อำนาจของไบแซนไทน์ออกจากเอเชียไมเนอร์ และอีกไม่กี่ปีต่อมาคือ ในปี ค.ศ. 1092 ซัลจู๊คก็ตีเมืองนิคาเอจากไบแซนไทน์ได้อีก เป็นผลทำให้จักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์ตื่นตระหนก เพราะอิสลามกำลังรุกเข้าใกล้กรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลเข้าไปทุกที

เมื่อเห็นดังนั้น จักรพรรดิอเล็กซิอุส คอนเนนุส แห่งไบแซนไทน์(โรมันตะวันออก) ได้ขอความช่วยเหลือไปยังโป๊ปเกรกอรีที่ 7 แห่งกรุงโรม ขอให้ชาวคริสเตียนช่วยปราบพวกเติร์ก ซึ่งสันตะปาปาก็ตอบรับการขอความช่วยเหลือ เพราะนั่นเท่ากับว่าจักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์ซึ่งเป็นผู้นำของศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ยอมรับอำนาจของสันตะปาปา ซึ่งเป็นผู้นำของนิกายโรมันคาทอลิกโดยสิ้นเชิงแล้ว พระสันตะปาปาได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามครูเสด

หากเราพิจารณาในวงแคบลงมาแล้ว ในความรู้สึกของชาวยุโรปนั้นกำลังถูกรุกรานจากพวกตะวันออก คือ โลกมุสลิมมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ ค.ศ. 632 เป็นต้นมา อิสลามได้ขยายอำนาจเข้าไปในเขตแดนที่ตะวันตกเคยมีอำนาจ เช่น ซีเรีย อียิปต์ แอฟริกาเหนือ ตลอดจนคาบสมุทรไอบีเรีย (สเปนและโปรตุเกส) ซ้ำยังคุกคามจักรวรรดินิยมที่ยิ่งใหญ่ในโลกตะวันตกคือไบแซนไทน์ และสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่สถาบันที่เป็นหัวใจของวัฒนธรรมตะวันตกและคริสต์ศาสนา ซึ่งก็คือกรุงโรม

ประกอบกับมุสลิมสามารถยึดครอบครองบางส่วนของอิตาลีได้ การค้ากับตะวันออกก็ตกอยู่ในมือของมุสลิม  สงครามครูเสดจึงเป็นความพยายามของชาวตะวันตกที่จะล้มอำนาจของตะวันออกที่เป็นมุสลิมหลังจากที่พ่ายแพ้มาโดยตลอด

แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ชาวยุโรปเดินทางฝ่าอันตรายไปยังโลกอิสลาม คือ กษัตริย์ฝรั่งเศสและเยอรมันต้องการดินแดนเพิ่ม บรรดาอัศวินและขุนนางก็ต้องการผจญภัยและแสดงความกล้าหาญตามอุดมคติของอัศวินที่ดี พวกทาสต้องการเป็นอิสระ เสรีชนต้องการความร่ำรวยและแสดงความศรัทธาต่อศาสนา รวมทั้งความพยายามของพระสันตะปาปาในอันที่จะรวมคริสต์ศาสนานิกายออร์โธดอกซ์ให้เข้ากับนิกายโรมันคาทอลิก ภายใต้การบังคับบัญชาของตนแต่เพียงผู้เดียว 

ประกอบกับสมัยนั้นอำนาจของอิสลามเองก็ได้อ่อนแอลงอันเนื่องจากความแตกแยกภายใน คือ ภายหลังที่ซัลจู๊คเสื่อมอำนาจลง โลกอิสลามได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย ปราศจากศูนย์กลาง คอลีฟะฮฺแห่งฟาฏีมียะฮฺเองก็ตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอและพยายามจำกัดอำนาจของตนให้อยู่เฉพาะในอียิปต์เท่านั้น

พระสันตะปาปาเออร์บานที่ 2 ได้จัดประชุมกันที่เคลมองต์ (Clermont) ในประเทศฝรั่งเศส เรียกร้องให้ประชาชนทำสงครามครูเสด เพื่อกอบกู้สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ คือ กรุงเยรูซาเล็มคืนจากอิสลาม คำปราศรัยของพระสันตะปาปามีใจความว่า

“ด้วยบัญชาของพระเจ้า ให้เจ้าหยุดยั้งการทำสงครามกันเอง และให้เขาเหล่านั้นหันมาถืออาวุธมุ่งหน้าไปทำลายผู้ปฏิเสธ (มุสลิม)”

ปรากฏว่าพระสันตะปาปาสามารถรวบรวมคนได้ถึง 150,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศส ไปร่วมทำสงครามครูเสด มีทั้งบาทหลวง บรรดาเจ้าชาย อัศวิน และนักรบ

ในขณะนั้นเอง ยังมีกองทัพของประชาชนผู้มีศรัทธาแรงกล้าในการร่วมสงครามครูเสด เดินทัพมาก่อนแล้วในปี ค.ศ. 1094 ตามคำชักชวนของ ปีเตอร์ นักพรต (Peter of Amines) แต่มาถึงเพียงฮังการี เกิดขาดอาหารลง ไปทำการปล้นสะดมจึงถูกประชาชนแถบนั้นต่อต้าน และส่วนใหญ่ตายเสียตามทาง

ที่เหลือรอดมาจำนวนเล็กน้อย เมื่อเผชิญกับพวกซัลจู๊คจึงถูกตีแตกพ่ายกลับไป สงครามครั้งนี้มิได้ก่อให้เกิดผลสะท้อนใด ๆ นอกจากจะกระตุ้นให้ชาวยุโรปมีความเกลียดชังมุสลิมมากขึ้นไปอีก

สงครามครูเสด เกิดขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ.1096 โดยมีอัศวินประมาณ 50,000 คนเข้าร่วม ส่วนใหญ่มาจากฝรั่งเศส เส้นทางที่นักรบครูเสดจะต้องเดินทางมานั้นมีระยะทาง 2,000 ไมล์ ทหารครูเสดที่มาในครั้งนั้นอยู่ภายใต้การนำของ โรเบิร์ตแห่งนอร์มังดี ทหารบางคนเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ด้วยเหตุผลทางศาสนา บางคนเข้าร่วมเพราะต้องการผจญภัยหรือแสวงโชค

ใน ค.ศ.1099 ทหารครูเสดได้มาถึงด้านนอกกำแพงเมืองเยรูซาเล็ม ฝ่ายมุสลิม (ซึ่งพวกทหารครูเสดเรียกว่า ซาราเซ็น) ได้ต่อสู้ป้องกันอย่างเข้มแข็ง ทหารครูเสดปิดล้อมเมืองอยู่เดือนกว่าจึงฝ่ากำแพงเข้าไปได้ และเมื่อเข้าเมืองได้ ทหารคริสเตียนก็ฆ่ามุสลิมทุกคนที่พวกเขาพบ เพราะถือว่าชาวมุสลิมทุกคนคือผู้ไม่ศรัทธาในเมืองศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า

ในปี ค.ศ. 1144  ฝ่ายมุสลิมยึดเมืองอีเดสซากลับคืนได้ สงครามครูเสดครั้งที่สองเกิดขึ้นเพราะพวกยุโรปต้องการที่จะยึดเยรูซาเล็มคืน แต่ต้องประสบความล้มเหลว 

ต่อมาใน ค.ศ.1187 ผู้นำมุสลิมคนใหม่คือ เศาะลาฮุดดีน (ซาลาดิน) ได้โจมตีอาณาจักรของคริสเตียนโดยเริ่มจากสงครามฮิตตินก่อน หลังจากนั้นก็เข้าไปยึดเมืองเยรูซาเล็มกลับคืนได้ ทหารมุสลิมต้องการที่จะประหารชาวคริสเตียนทั้งหมดที่อยู่ในเมือง แต่ซาลาดินไม่อนุญาต

สงครามครูเสดครั้งที่สามเกิดขึ้น เพราะคริสตจักรมีความต้องการที่จะขับไล่ซาลาดินออกจากแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์  หนึ่งในบรรดาแม่ทัพที่นำทหารครูเสดมาในครั้งนั้นคือ กษัตริย์ริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษหรือที่รู้จักกันดีว่า “ริชาร์ดใจสิงห์” (Richard the Lionheart) 

ริชาร์ดได้ทำสงครามนองเลือดกับซาลาดินหลายครั้ง แต่ทหารของซาลาดินเข้มแข็งกว่า ดังนั้นจึงทำสัญญาสงบศึกกันในปี ค.ศ.1192  สัญญานี้ระบุว่าให้พวกคริสเตียนอาศัยอยู่ในเมืองต่างๆได้ เช่น เมืองอัครา บนฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และสามารถไปเยี่ยมแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ได้

หลังจากนั้นอีกหนึ่งศตวรรษ มุสลิมก็สามารถยึดเมืองคริสเตียนต่างๆกลับคืนได้ทั้งหมด กองทหารครูเสดได้ถูกส่งมาช่วยเมืองเหล่านี้หลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ 

โดยสรุปแล้ว ในสงครามครูเสดมีการทำสงครามกัน 8 ครั้ง กินระยะเวลานานประมาณ 200 ปี มีผู้คนล้มตายกว่า 7,000,000 คน และสุดท้ายดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตกเป็นของมุสลิม

บทสรุปการทำสงครามแต่ละครั้งมีดังนี้

ครั้งที่ 1  ค.ศ. 1092 – 1099  กล่าวกันว่าเป็นครั้งเดียวที่ชาวคริสเตียนรบด้วยอุดมการณ์ เป็นครั้งที่พระเจ้าแผ่นดินในยุโรปหลายพระองค์ได้ไปร่วมรบ และเป็นครั้งเดียวที่สามารถเอาชนะพวกเติร์ก เปิดทางให้คริสต์ศาสนิกชนสามารถไปนมัสการที่ฝังศพพระเยซูได้สะดวก

ครั้งที่ 2  ค.ศ. 1147 – 1149  พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ของฝรั่งเศส กับ พระเจ้าคอนราดที่ 3 ของเยอรมัน นำทัพไป แต่ต้องแพ้ย่อยยับกลับมา

ครั้งที่ 3  ค.ศ. 1189 – 1192  พระเจ้าเฟรเดริกที่ 1 (เยอรมัน) ฟิลิปป์ออกุสต์ (ฝรั่งเศส) และริชาร์ด ไลออนอาร์ท (อังกฤษ) นำทัพและพากันแพ้กลับมาอีก และพระเจ้าเฟรเดริกจมน้ำตาย

ครั้งที่ 4  ค.ศ. 1202 – 1204  แทนที่กองทัพครูเสดจะไปรบพวกเติร์ก กลับไปรบพวกคริสเตียนด้วยกันเอง

ครั้งที่ 5  ค.ศ. 1217 – 1221  เซนเญอร์ของฝรั่งเศส ชื่อ ยองเลอเบรียน กับพระเจ้าแผ่นดินฮังการี ไปรบพวกเติร์กในประเทศอียิปต์ ไม่ได้ผลทางชัยชนะ

รั้งที่ 6  ค.ศ. 1228 – 1229  พระเจ้าเฟรเดริกที่ 2 (เยอรมัน)นำทัพ แต่แทนที่จะไปรบ กลับไปทำไมตรีกับพวกอาหรับ สามารถทำให้พวกอาหรับยอมให้พวกคริสเตียนเดินทางเข้าเมืองเยรูซาเล็มได้อีกครั้ง

ครั้งที่ 7  ค.ศ. 1248 – 1249  และครั้งที่ 8 ค.ศ. 1270  สงครามครูเสดได้กระทำกันในประเทศอียิปต์ เพราะพวกหัวหน้าเติร์กมีถิ่นสำคัญตั้งอยู่ที่นั่น และแซงต์หลุยส์ (ฝรั่งเศส) นำทัพทั้งสองครั้ง จนสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1270  สงครามครูเสดจึงสุดสิ้นลงในครั้งนี้

ผลของสงครามครูเสดต่อโลกตะวันตก

หลังจากพวกคริสเตียนได้ครองแผ่นดินส่วนหนึ่งของอาณาจักรแห่งเยรูซาเล็ม บางเมืองอยู่ยาวนานกว่า 200 ปี การเข้ามาอยู่ในดินแดนที่มีมุสลิมอาศัยอยู่โดยรอบ ทำให้พวกคริสเตียนและมุสลิมเกิดการหลอมรวมวัฒนธรรมกัน

พวกคริสเตียนประทับใจในศิลปะการตกแต่งของมุสลิม เช่น พรม เครื่องใช้และกระเบื้องเคลือบ และพวกเขายังได้กินอาหารรสชาติใหม่ ๆ เช่น ผลแอปริคอท มะเดื่อ น้ำตาลและมะนาว  

ทางด้านเครื่องแต่งกายชาวคริสเตียนได้เรียนรู้การใช้ผ้าฝ้ายและผ้าไหมทำเสื้อผ้า ทางด้านสถาปัตยกรรมพวกคริสเตียนได้เรียนรู้เรื่องการใช้เสาและคานรูปโค้งแบกรับน้ำหนักจากสิ่งที่ปลูกสร้างของมุสลิม

นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ถึงวิธีการป้องกันปราสาทโดยการใช้หอคอยทรงกลมและช่องทางเดินบนกำแพง ที่ทำให้คนที่อยู่ข้างบนสามารถยิงธนูหรือโยนหินเข้าใส่ผู้เข้ามาโจมตีได้ ส่วนพวกมุสลิมนั้นได้การค้าที่เพิ่มขึ้นกับอิตาลี มีอาวุธที่ดีขึ้น และการสำรวจพื้นที่เพื่อทำการสงคราม

นอกจากนี้ สงครามครูเสดทำให้พวกตะวันตกได้รับความรู้ใหม่ ๆ หลายอย่างจากพวกมุสลิม เช่น เรื่องโรงสีลม การใช้เข็มทิศในการเดินทางเรือ ทำให้อุตสาหกรรมเจริญขึ้นหลายอย่าง

ตอนที่ 7 เที่ยวถ้ำและโบสถ์ในหุบเขาคาดิสชา