การสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ พื้นที่ลุ่มน้ำคลองนาท่อม ต้นน้ำคลองลำเบ็ดโซนที่ 1

การสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ พื้นที่ลุ่มน้ำคลองนาท่อม ต้นน้ำคลองลำเบ็ดโซนที่ 1 ตำบลอ่างทอง อำเภอศรีนครินทร์ และตำบลสมหวัง อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง

ในช่วงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 ทางโครงการสนับสนุนชุมชนท้องเตรียมพร้อมและลดความเสี่ยงภัยพิบัติ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) จัดกระบวนการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติพื้นที่ลุ่มน้ำคลองนาท่อม ต้นน้ำคลองลำเบ็ดโซนที่ 1 ชุมชนที่อยู่ในขอบเขตการสำรวจเบื้องต้นในการเข้าพื้นที่ทำงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย หมู่2 บ้านสวนหลวง หมู่4 บ้านโหล๊ะชด หมู่5 บ้านป่าแพรก หมู่6 บ้านเกาะเหรียง ตำบลอ่างทอง อำเภอศรีนครินทร์ และ หมู่3 บ้านถมเหนือ หมู่4 บ้านสมหวัง 

ตำบลสมหวัง อำเภอกงหรา จัดขึ้นที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)  อำเภอศรีนครินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เกิดความเข้าใจสภาพพื้นที่และรูปแบบของความเสี่ยงภัยพิบัติ รวมถึงหาแนวทางการจัดทำข้อมูลเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการความเสี่ยงที่สอดคล้องกับพื้นที่ต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนประมาณ 15 คน รายละเอียดข้อมูล มีดังนี้ 

กระบวนการทำงาน

  1. วางแผนร่วมกันระหว่างนักวิชาการกับชาวบ้านเพื่อเรียงลำดับการทำงาน
  2. ทำเครื่องมือการทำงาน(วาดแผนที่) เพื่อให้เห็นเส้นทางน้ำ ประตูน้ำ ความลึก
  3. สำรวจและสอบถามผลกระทบ
  4. และสรุปข้อมูลร่วมกัน
ผังวาดพื้นที่เสี่ยงต้นน้ำคลองลำเบ็ด

จุดสะพานคลองลำเบ็ด

เส้นทางน้ำหลักของพื้นที่ประกอบด้วย คลองนาท่อม คลองลำเบ็ด และน้ำสาขาย่อยๆ ที่ไหลผ่านพื้นที่เกษตรมาลงที่คลองลำเบ็ดโดยไหลผ่านประตูน้ำ ภูมิประเทศโดยทั่วไปของชุมชนเป็นที่ราบลุ่มสลับที่ราบสูงและมีภูเขา ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ได้แก่ การทำสวนผลไม้ สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และทำนาเป็นส่วนน้อย

การสำรวจเริ่มต้นที่จุดสะพานคลองลำเบ็ดเพื่อหาข้อมูลผลกระทบของน้ำโดยดูจากระดับน้ำใต้ดิน หรือที่ชาวบ้านเรียก “น้ำเด็ด”  จากการสำรวจพบว่า มีน้ำใต้ดินอยู่น้อยมาก ดินขาดความชุ่มชื้น ส่งผลกระทบให้ยางพาราไม่มีน้ำยาง โดยชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ามีน้ำคงค้างในคลองลำเบ็ดเฉลี่ย 2 เมตร ระบบนิเวศจะกลับคืนสู่สภาพเดิมเช่น 
ด้านการเกษตร , พันธุ์ปลา , เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว เป็นต้น และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเกิดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นในชุมชน ตัวอย่างเช่นเรื่องการจัดการขยะ  ซึ่งชาวบ้านมองว่าน้ำจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดและเชื่อมโยงผู้คนเข้ามาเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน อีกทั้งเป็นการเพิ่มบรรยากาศที่สวยงาม ถ้าไม่มีน้ำผู้คนจะมาดูอะไร? นั่นเป็นสิ่งที่ชาวบ้านตั้งคำถามกับสภาพพื้นที่ของตัวเองในปัจจุบัน 

สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำใต้ดินและระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป มาจากโครงการขุดลอง “คลองลำ” หรือ “ห้วยนาถม” ปัจจุบันถูกเรียกว่า “คลองลำเบ็ด” ซึ่งเป็นโครงการของกรมชลประทานพัทลุงจัดทำขึ้นใน ปี 2558 – 2559โดยขุดคลองให้ลึกและกว้างขึ้นจากเดิมลึก 3 เมตร ปัจจุบันลึก 6 เมตร และเพิ่มประตูระบายน้ำอีก 6 บานประตู จากการประชาคมของภาครัฐระบุว่าโครงการขุดลอกคลองมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้งและแก้ไขปัญหา

น้ำท่วม แต่หลังจากโครงการแล้วเสร็จกลับทำให้น้ำใต้ดินลดลงไปมาก ส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ติดคลองลำเบ็ด รวมถึงชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงที่ต้องพึ่งพิงน้ำจากลำคลองในการทำเกษตร ได้แก่ ทำนา สวนผลไม้ 
สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน อันเป็นแหล่งรายได้สำคัญ ตลอดจนการอุปโภคในครัวเรือน  

จุดที่ 1 ลำน้ำคลองลำเบ็ด/สะพาน

จุดที่ 2 ประตูกั้นน้ำประตูที่ 1 มี 2 บาน  ฝั่งขวา

จุดที่ 3 ประตูบานที่ 2 มี 2 ช่อง

จุดที่ 4 ประตูบานที่ 3 มี 1 ช่อง

จุดที่ 5 ประตูบานที่ 4 มี 1 ช่อง

จุดที่ 6 ประตูบานที่ 5

จุดที่ 7 ประตูบานที่ 6

จุดที่ 8 ฝายกันน้ำเก่า

ประตูระบายน้ำ

จุดบ่อน้ำตื้น

  • บ่อน้ำตื้นถือเป็นแหล่งน้ำใช้หลักของชาวบ้าน จะมีประจำบ้านแต่ละบ้าน ก่อนการขุดคลองจะขุดบ่อประมาณ 2-4 เมตรและพบน้ำจากพื้นดินอยู่ที่ระดับ 2 เมตร ปัจจุบันต้องขุดบ่อลูกถึง 8 เมตร ถึงเจอแหล่งน้ำอยู่ที่ระดับ 50 เซนติเมตร ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ก็เริ่มแห้ง 
  • เกิดผลกระทบในพื้นที่เกษตร ยางพาราเกิดใบเหลือง น้ำไม่เพียงพอต่อปาล์มน้ำมันที่กินน้ำ 200ลิตร/วัน/ต้น  น้ำที่เหลืออยู่ไว้สำหรับรดสวนผลไม้
  • เทศบาลอ่างทองแจ้งว่าจะมีการทำฝายทดน้ำภายใต้โครงการคลองลำเบ็ด โดยให้ชาวบ้านเข้าไปร่วมที่ประชุมว่าต้องการทำฝายจุดใดบ้าง ซึ่งเป็นคำสั่งการของผู้ว่าฯ ที่ให้เทศบาลเป็นผู้ดูแลสำรวจ แจ้งว่าอีก 
    2 ปี โครงการจะแล้วเสร็จ 
  • ข้อเสนอของชาวบ้านมองว่า การทำฝายจะสามารถแก้ปัญหาได้

สรุปข้อมูลร่วมกัน

  • ด้านผลกระทบ สวนผลไม้ ได้แก่ ลองกอง, มังคุด, เงาะ ฯลฯ  ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ได้รับผลกระทบมากที่สุด
  • สถานการณ์ผลกระทบมีเป็นช่วงๆ คือ 1)ในพื้นที่ถัดไปอีก 2-3 กิโลเมตร แห้งแล้ง 2)ประสบปัญหาความแห้งแล้งมากกับผู้ที่อยู่อาศัยติดลำคลองฝั่งอำเภอกงหรา จำนวน 15 หลังคาเรือน ในระยะ 30-100 เมตร  ฝั่งศรีนครินทร์ จำนวน 20 หลังคาเรือน ในระยะ 300 เมตร  ครอบคลุมพื้นที่เกษตรโดยเฉลี่ยจำนวน 750 ไร่
  • ค่าไฟในการสูบน้ำช่วงหน้าแล้ง(มี.ค.-ก.ย.) จาก300 บาท เป็น 1,000 บาท 
  • การเข้ามามีส่วนร่วมของรัฐและการมองเห็นกลไกการทำงานจากนักวิชาการ:เทศบาลและผู้ว่าราชการจังหวัด เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลชาวบ้านมากขึ้น ถ้าหากมีการทำข้อมูลของชาวบ้านด้วยข้อเท็จจริงจะทำให้ภาครัฐสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้
  • เห็นแนวทางการทำฝายทดน้ำ คือ ต้องทำหลายตัวตามระดับพื้นที่ ด้าน อาจารย์พีรภัทร ม.อ.ฯชี้แจงว่าสิ่งที่ต้องคำนึง คือ 1)คนใช้น้ำ 2)ความสูง
  • ออกแบบการทำข้อมูลเพื่อหนุนเสริมการสร้างฝายทดน้ำ มีประเด็นการเก็บข้อมูล เช่น 1)ผลกระทบ กี่ไร่? มูลค่าความเสียหายเท่าไร? พืชกินน้ำปริมาตรเท่าไร? ค่าสูบน้ำมูลค่ากี่บาท? เป็นต้น  2)ประโยชน์ 
    อธิบายถึง น้ำหนัก / ราคา / รายได้ ยกตัวอย่างรูปแบบในตาราง
  • น้ำจากบ่อน้ำตื้นลดลงเฉลี่ย 30 – 40 เซนติเมตร แต่ด้วยอิทธิพลของคลองนาท่อมและฝายหินทิ้งทำให้น้ำในบ่อน้ำตื้นยังมีเติมอยู่บ้าง
  • ปัญหาที่น้ำไม่เข้าคลองลำเบ็ดเพราะการเปิดประตูน้ำ ซึ่งเหตุนี้ทำให้โครงการเกษตรแปลงใหญ่ต้องล้มเลิกเพราะไม่มีน้ำเพียงพอ
  • การปิดประตูน้ำบานที่ 6 จะสามารถช่วยบรรเทาความแห้งแล้งในคลองลำเบ็ดได้
  • ข้อดีของสภาพการณ์ปัจจุบัน คือ น้ำไม่ท่วม
  • พื้นที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความเสี่ยง ฝั่งพื้นที่สูง(ควน)นิยมปลูกปาล์มและยางพาราและได้รับผลกระทบหนักกว่าพื้นที่ต่ำ โดยมีความสูงกว่า 10 เมตร ถือเป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูง (สีแดง) ส่วนฝั่งพื้นที่ต่ำนิยมปลูกพืชสวนและมีต้นไม้ธรรมชาติที่หลากหลาย