กรณีศึกษาการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของการหารูปแบบที่เหมาะสมเพื่อเปรียบเทียบกับกรณีศึกษาจากจีนและอินเดีย
คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของวุฒิสภา มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูล สถานการณ์ สาเหตุความยากจน และนโยบายรัฐในการแก้ปัญหาความยากจนในหลายรูปแบบที่ผ่านมา เป็นการศึกษาพื้นที่รูปธรรมการแก้ปัญหาความยากจนในระดับชุมชน หมู่บ้าน วิเคราะห์ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ เพื่อเป็นแนวทางพัฒนานโยบายสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าหมาย สู่การปฏิบัติในระยะต่อไป
กรณีรูปธรรมที่เลือกมาทำการศึกษา มี 9 กรณีจากภูมิภาคต่างๆ ได้แก่
- หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม
- SME แก้จนที่แม่ฮ่องสอน
- ชุมชนพอเพียงสระแก้ว
- ชุมชนเข้มแข็งบ้านขาม
- ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ต.เขาซก จ.ชลบุรี
- รัฐบาลชุมชนบ้านดอนศาลเจ้า (สุพรรณบุรี)
- กองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลวังใหม่ (สระแก้ว)
- กองทุนสามัคคีตุ้มโฮม (อุดรธานี)
- โครงการ “คู่เสี่ยวเกี่ยวก้อย แก้จนคนขอนแก่น”

ข้อค้นพบจากการศึกษา
ตัวอย่างแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนในระดับจุลภาค ทั้ง 9 กรณีศึกษา เป็นจุดเรียนรู้ความสำเร็จเล็กๆจากการลงมือทำงานในระดับพื้นที่ ซึ่งยังมีตัวอย่างที่ดีๆอีกมากมายที่แฝงฝังตัวอยู่ตามชุมชนท้องถิ่นในทุกภูมิภาค แต่ละโมเดลต่างมีจุดแข็งและข้อจำกัดอยู่ในตัว การนำไปใช้ต้องการความเข้าใจในแก่นของแนวคิด วิธีการและบริบทเฉพาะของแต่ละที่อย่างเหมาะสม รวมทั้งการออกแบบใหม่ (Redesign) โดยปรับให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ใหม่
ในแง่ผู้ริเริ่ม กรณีศึกษาโดยส่วนใหญ่จะเป็นการริเริ่มโดยหน่วยงานส่วนกลาง จึงมีลักษณะ Top Down ในมิติของการกำหนดเป้าหมายการแก้ปัญหาความยากจนอย่างเฉพาะเจาะจง เกือบทั้งหมดล้วนเป็นการแก้ปัญหาในระดับภาพรวมของกลุ่มและชุมชน ยกเว้นกรณีโครงการผูกเสี่ยวเกี่ยวก้อยฯของจังหวัดขอนแก่นเท่านั้นที่กำหนดเป้าหมายระดับครัวเรือนที่ยากจนอย่างเฉพาะเจาะจง
ในมิติของเครื่องมือหลักที่ใช้ในการขับเคลื่อน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก เป็นการริเริ่มจากหน่วยงานและองค์กรภายนอกชุมชน ซึ่งมีสถานะที่เหนือกว่าทุกด้าน เครื่องมือที่ใช้ในการขับเคลื่อนจึงเป็นเรื่องของเทคโนโลยี องค์ความรู้วิชาการสมัยใหม่ รวมทั้งงบประมาณและเงินทุนต่างๆ ส่วนที่เหลือเป็นความริเริ่มด้วยตนเองของชุมชน ชาวบ้าน ซึ่งมักจะใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านและฐานทุนของชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน
ในมิติของความต่อเนื่อง การขับเคลื่อนที่ครบวงจรและการพึ่งตนเองได้ มักพบว่ากลุ่มที่ชาวบ้านริเริ่มเองจะดำเนินการกันไปแบบช้าๆค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีกำหนดเวลามาเป็นตัวเร่ง จะสามารถยืนระยะได้อย่างยาวนาน ต่อเนื่อง ผิดกับกลุ่มที่เกิดจากความปรารถนาดีขององค์กรภายนอกที่มักจะมาด้วยความมุ่งมั่นที่อยากเห็นผลงานเร็วด้วยข้อกำหนดระยะเวลา กลุ่มนี้มักบังเกิดผลสำเร็จที่สามารถนำมาประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานของหน่วยงานได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อพี่เลี้ยงจากไป ผลงานก็กลายเป็นอดีต
ส่วนการจับคู่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนแบบโมเดลของประเทศจีน ในกรณีโครงการคู่เสี่ยวเกี่ยวก้อย แก้จนคนขอนแก่น นับเป็นความริเริ่มที่น่าสนใจ แต่เนื่องจากเพิ่งเริ่มโครงการ จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง
คณะผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ๓ ประการ
1.ประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวเรื่องชุมชนเข้มแข็งและเศรษฐกิจพอเพียงมาอย่างยาวนานร่วม 4 ทศวรรษ
จึงมีรูปแบบการแก้ปัญหาความยากจนในระดับจุลภาคที่สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาอย่างหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ในทุกภูมิภาคของประเทศ นับพันนับหมื่นตัวอย่าง แต่กลไกที่ไปสนับสนุนส่งเสริมยังขาดความเข้าใจและความตั้งใจมุ่งมั่น โดยหน่วยงานราชการมักเข้าไปทำงานตามภารกิจขององค์กร มีข้อจำกัดด้วยเงื่อนไขเวลาตามปีงบประมาณและตัวชี้วัดจากหน่วยเหนือ ในที่สุดจึงทำแบบฉาบฉวยเพื่อนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในการรายงานสำหรับหน่วยงาน มิได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ลองผิดลองถูก ไม่เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ ไม่เกิดองค์ความรู้จากการปฏัติด้วยตนเอง ในที่สุดจึงไม่ยั่งยืน
จึงควรที่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะได้ทบทวนในเรื่องแนวคิด แนวทางและหลักการทำงานสนับสนุนชุมชนเข้มแข็งกันอย่างจริงจัง
2.หน่วยงานรัฐมีจุดแข็งในเรื่องอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ทรัพยากร องค์ความรู้เทคโนโลยี และงบประมาณ
สามารถทำงานในลักษณะวงกว้าง เป็นระบบแบบแผนและในภาพรวมแบบมหภาค แต่มีข้อจำกัดในด้านขอบเขตที่กว้างมากจนไม่สามารถดูรายละเอียดในเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะในจุดเล็กๆที่มีปัญหาความละเอียดอ่อนและเข้าถึงยาก ส่วนองค์กรภาคประชาสังคม หรือองค์กรพัฒนาเอกชนอิสระ (เอ็นจีโอ) มีจุดแข็งในการทำงานเชิงคุณภาพในจุดเล็กๆซึ่งมีลักษณะเฉพาะและต้องการเวลา ความอดทนและความละเอียดอ่อน
จึงน่าจะถึงเวลาที่ต้องสร้างกระบวนการทำงานแบบ “พันธมิตรการพัฒนาที่ยั่งยืน” ระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยากจนและผู้รับผลกระทบจากสถานการณ์พิบัติภัยต่างๆรวมทั้ง COVID-19
3.รูปแบบการแก้ปัญหาความยากจนในระดับจุลภาคฬฯกรณีศึกษาทั้ง 9 นี้ เป็นตัวอย่างที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า “คนไทยทำได้” “ประชาชนทำได้”
ขอเพียงรัฐบาลและหน่วยราชการปรับเปลี่ยนมุมมอง เปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคประชาสังคมได้แสดงบทบาทอย่างเป็นอิสระและเต็มศักยภาพ
ถึงเวลาที่ภาครัฐควรเปลี่ยนบทบาท แทนที่จะผู้ทำเองหรือเป็นคุณพ่อรู้ดี หันไปเล่นบทเป็นพี่เลี้ยง เป็นครูฝึกและเป็นเพื่อน เพื่อบรรลุเจตนารมณ์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติกำหนดไว้ “SDG 17 : Partnership for the Goals.”
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 9 ตุลาคม 2563