การกว้านซื้อที่ดิน จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใน EEC

มีเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนโครงการ EEC มายังวุฒิสภา คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำได้รับมอบหมายดูแล เป็นเหตุการณ์กว้านซื้อที่ดินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม บริเวณตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ช่วงต้นปี 2561 ชาวบ้านใน 4 หมู่บ้าน ตำบลเขาดิน ราว 57 ครอบครัว ได้ถูกยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินอย่างกะทันหันและกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยไม่ทันตั้งตัว เนื่องจากเจ้าขอผู้ให้เช่าได้ขายที่ดินให้กับเอกชนรายใหญ่ที่เข้ามากว้านซื้อ ชาวบ้านกลุ่มนี้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง บางครอบครัวเช่าที่ดินมาเป็นระยะเวลา 50-60 ปี ตั้งแต่นำที่ดินไปจำนองขายฝากกับนายทุนเงินกู้นอกระบบ ในที่สุดหนี้สินหลักหมื่นก็กลายเป็นหลักแสนจากค่าดอกเบี้ยที่ขูดรีด จนถูกยึดที่นา ลูกหลานกลายเป็นชาวนาไร้ที่ดินและต้องเช่าที่ดินทำกินจากนั้นเป็นต้นมา
นโยบาย EEC เป็นแรงกระตุ้นที่ทำราคาที่ดินพุ่งขึ้น นักลงทุนกว้านซื้อที่ดินไปสร้างนิคมอุตสาหกรรม แม้ในพื้นที่ที่ผังเมืองเดิมเคยกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี และพื้นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและน้ำล้นตลิ่ง ไม่เหมาะในการตั้งนิคมอุตสาหกรรม
เมื่อช่วงปี 2560 – 2561 บริษัทดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด (ผู้ทำธุรกรรมแทน) อ้างว่าจะรวมที่ดินสร้างเป็นศูนย์การค้าและมหาวิทยาลัย แต่ภายหลังจึงเปิดเผยว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ ของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ เอกสารทางราชการในพื้นที่ระบุว่ามีเป้าหมาย 4,500 ไร่ ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการไถปรับพื้นที่ ถมดินและก่อสร้างอาคาร โดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ไม่มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขัดต่อผังเมืองรวมซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2554
ชุมชนตำบลเขาดิน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำบางประกง สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มริมน้ำ อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลอ่าวไทยเพียง 20 กิโลเมตร เป็นระบบนิเวศสามน้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม สลับกัน ทั้งยังเป็นแหล่ง“ป่าจาก”ผืนใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำบางประกง เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านสามารถทำ“นาขาวัง”ในช่วงน้ำจืด และเพาะเลี้ยงสัตว์ในช่วงน้ำเค็ม บางส่วนทำประมงพื้นบ้าน บางส่วนทำ“ตับจาก”สำหรับมุงหลังคา ขายเป็นทั้งรายได้หลักและรายได้เสริม
กลุ่มชุมชนผู้เดือดร้อน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 ผู้ที่จะไร้ที่อยู่อาศัย ถูกไล่รื้อและให้ออกจากที่ดินทำกิน จำนวน 57 ครอบครัว
กลุ่มที่ 2 ยังคงมีที่ดินสำหรับอยู่อาศัยแต่กำลังจะกลายเป็นผู้ไร้ที่ดิน มีความกังวลผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 34 ครัวเรือน
และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่อยู่ตำบลข้างเคียง กังวลเรื่องจะเป็นพื้นที่เป้าหมายในการขยายนิคมอุตสาหกรรมในอนาคต เพราะยังไม่มีมาตรการรองรับหรือให้หลักประกันที่เป็นธรรมกับชาวบ้านแต่อย่างใด
ผลการแก้ไขปัญหาในช่วงที่ผ่านมา
1. บริษัทดับเบิ้ลพีแลนด์ จำกัด
ทางด้านเอกชนนักลงทุน ได้จัดหาพื้นที่จำนวน 12 ไร่ ในฝั่งตรงข้ามถนนของที่ดินเดิม จัดแบ่งพื้นที่แปลงละ 50 ตารางวา รวมทั้งสิ้น 50 แปลง ให้ชาวบ้านได้เช่าในอัตราวันละ 10 บาทหรือเดือนละ 300 บาท หรือผ่อนซื้อในราคาถูกในอัตรา 3 พันบาทต่อเดือน ระยะปลอดดอกเบี้ย 10 ปี กรณีไม่มีเงินสร้างบ้าน บริษัทฯจะสร้างให้ เงินในส่วนของค่าเช่าจะนำไปใช้ในการดูแลด้านสาธารณูปโภค โดยไม่นำเข้าเป็นรายได้โครงการ
ปัจจุบันมีเพียง 14 ครัวเรือนไปอยู่อาศัยแม้ว่าค่าเช่าจะถูก จากการสอบถามของสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาดิน พบว่ามีกฎระเบียบหลายประการที่ไม่เอื้อต่อวิถีชีวิตแบบเดิม บางครัวเรือนกังวลว่าตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่วางท่อแก๊สเกรงอันตราย
2. สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)
เป็นหน่วยงานรัฐ มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องที่ดินทำกิน สถาบันได้พบว่ามีครัวเรือนเดือดร้อนเร่งด่วนไม่มีที่ดินทำกิน จำนวน 20 ครัวเรือน ซึ่งกระทบมาจากต้องโยกย้ายออกจากที่เดิม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักทำประมงน้ำจืด คือ เลี้ยงกุ้ง ปู หอย จึงได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา
โดยสำรวจพบพื้นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่และเป็นตัวกลางจัดหาที่ดินให้ชาวบ้านผู้รับผลกระทบตามภารกิจของหน่วยงาน จำนวน 13 ไร่ มีแผนจัดสรรเฉลี่ยครัวเรือนละ 200 ตารางวา รวม 15 ครัวเรือน เมื่อชาวบ้านยอมรับการใช้ที่ดินผืนนี้ จะทำสัญญากับผู้ประสงค์จะเช่าที่ดิน ซึ่งคาดว่าในอัตราเฉลี่ยไร่ละ 800-900 บาทต่อปี ระยะเวลา 30 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 3
3. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. เป็นหน่วยงานรัฐ มีบทบาทในการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น โดยเน้นให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดการมีส่วนร่วมผ่านการรวมตัวกันเป็นองค์กร เพื่อปรึกษาหารือและแสวงหาทางออก ผ่านปฏิบัติการคลี่คลายปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน โดยใช้กลไกสภาองค์กรชุมชนและโครงการบ้านมั่นคงชนบทเป็นเครื่องมือ พอช. พบว่ายังมีพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ประมาณ 70 ไร่ ที่ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 6 ตำบลเขาดิน อยู่ในวิสัยที่จะประสานเจรจาให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของครัวเรือนที่เดือดร้อนได้อีกทางหนึ่ง.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 30 สิงหาคม 2563