ในกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืน บทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมและกระบวนการมีส่วนร่วมในเชิงคุณภาพเป็นที่คาดหวังจากองค์การสหประชาชาติและทุกประเทศทั่วโลก ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเป้าหมายที่ 17 (SDG17)

แต่ประเทศไทยในปัจจุบัน บทบาทของภาคประชาสังคมยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างเป็นกิจลักษณะ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังขาดการจัดตั้งรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนและไม่มีองค์กรตัวแทนที่ได้รับการยอมรับและสามารถติดต่อประสานงานกับกลุ่มสมาชิกได้
ผิดจากองค์กรตัวแทนของภาคธุรกิจ เช่นสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมและสมาคมธนาคาร หรือตัวแทนองค์กรวิชาชีพ เช่น สภาทนายความ แพทยสภา สภาวิศวกร ฯลฯ
จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบสภาวิชาชีพและกลุ่มอาชีพต้นแบบ 14 องค์กร ที่ละม้ายใกล้เคียง ได้แก่
1) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 2) สภาองค์กรชุมชน 3) สภาการเกษตรกรแห่งชาติ 4) สภาประชาสังคมชายแดนใต้ 5) สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย 6) สภาพยาบาล 7) คุรุสภา 8) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 9) สหพันธ์แรงงาน 10) สภาผู้สูงอายุแห่งชาติ 11) แพทยสภา 12) สภาทนายความในพระบรมราชูถัมภ์ 13) สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 14) สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค พบว่า
ด้านสถานภาพขององค์กร
- กรณีศึกษาทั้ง 14 องค์กร เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยมี พ.ร.บ.หรือกฎหมายเฉพาะรองรับจำนวน 9 องค์กร ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาองค์กรชุมชน,สภาเกษตรกรแห่งชาติ, สภาการพยาบาล, คุรุสภา, แพทยสภา, สภาทนายความ, สมัชชาสุขภาพแห่งชาติและสภาสมาคมผู้สูงอายุแห่งชาติ
- ส่วนที่เหลืออีก 5 องค์กร เป็นการจัดตั้งรวมตัวกันขึ้นมาเอง เป็นการใช้สิทธิภายใต้กฎหมายทั่วไป เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้แก่ สภาประชาสังคมชายแดนใต้, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ,สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และสมาพันธ์แรงงาน
ด้านความเป็นนิติบุคคลและการสนับสนุนจากภาครัฐ
ในกลุ่มองค์กรสภาหรือสมาคมประเภทที่จัดตั้งขึ้นมาโดยมีพ.ร.บ.หรือกฎหมายเฉพาะรองรับ นอกจากจะมีสถานะเป็นองค์กรนิติบุคคลด้วยตนเองแล้ว ยังมักจะได้รับการสนับสนุนในด้านนโยบาย การบริหารจัดการและงบประมาณดำเนินงานอย่างเป็นระบบต่อเนื่องและมีความมั่นคง
ส่วนองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเองซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรภาคประชาสังคมนั้น มักจะไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆจากภาครัฐเลย นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงที่จะถูกมองด้วยทัศนคติเชิงลบว่าเป็นคู่แข่งกับภาครัฐหรือเป็นองค์กรที่ต้องการเข้ามาตรวจสอบการทำงาน จึงทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน นับเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการทำงานแบบ “พันธมิตรร่วมพัฒนา” หรือ สิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นประชา-รัฐ”
ด้านลักษณะเฉพาะขององค์กร
องค์กรสภาหรือสมาคมที่มีลักษณะกึ่งหรือคาบเกี่ยวกับภาครัฐและภาคเอกชน แบบ “พันทาง” หรือ “พันธุ์ผสม” (Hybrid) เช่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์แรงงาน, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มักจะมีระบบการสนับสนุนทางการเงินที่มั่นคงสำหรับการดำเนินการตามภารกิจ
ส่วนองค์กรสภาหรือสมาคมที่มีลักษณะเป็นภาคประชาสังคมแบบ “พันธุ์แท้” (Pure Line) เช่น สภาประชาสังคมชายแดนใต้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ซึ่งมักจะทำงานแบบอิสระและโดดเดี่ยว รวมทั้งมีภาระต้องพึ่งตนเองในด้านการเงินและการบริหารจัดการเป็นอย่างมาก ทำให้องค์กรมีศักยภาพ-การแสดงบทบาทที่ค่อนข้างจำกัด
ด้านการทำงานแบบ “ความร่วมมือ”
- ในกรณีที่หน่วยงานภาครัฐในระดับชาติหรือรัฐบาลประสงค์จะสรรหาตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วมเป็นกรรมการขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนาในด้านต่างๆ ตามหลักการ “Collaboration” องค์กรสภาหรือสมาคมที่มี พ.ร.บ. เฉพาะรองรับ หรือเป็นองค์กรประชาสังคมแบบ “พันทาง” (Hybrid)มักจะได้รับโอกาสมากกว่าและมาก่อน พวกองค์กรภาคประชาสังคมแบบ “พันธุ์แท้” (Pure Line)
ด้านความเป็นตัวแทนขององค์กรภาคีพัฒนาพื้นที่
ในกรณีหน่วยงานภาครัฐในระดับจังหวัดหรือหน่วยงานระดับพื้นที่ มีความประสงค์จะสรรหาตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าไปร่วมเป็นกรรมการขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนาแบบ Collaboration มักจะนึกถึงหน่วยงานสาขาขององค์กรสภาหรือสมาคมที่มี พ.ร.บ. เฉพาะรองรับและองค์กรภาคประชาสังคมแบบ “พันทาง” เช่นกัน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังไม่แข็งแรงพอที่จะมี กลไกหรือสาขาที่เป็นตัวแทนอยู่ในระดับจังหวัดหรือพื้นที่อย่างทั่วถึง.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 12 พ.ย. 2563