พิกัดที่ตั้ง
บ้านหนองสาหร่าย ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

ภาพรวม
ชุมชนตำบลหนองสาหร่าย เป็นต้นแบบของชุมชนเข้มแข็งของภาคกลาง-ตะวันตก ภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบ ลักษณะดินปนทราย มีคลองชลประทาน ส่งน้ำทั่วถึงทุกหมู่บ้าน ถนนหนทางสะดวก มีสาธารณูปโภคพร้อมมูล เป็นตำบลขนาดเล็ก มี 9 หมู่บ้าน เนื้อที่ 26.95 ตารางกิโลเมตร ประชากรรวม 859 ครัวเรือน 3,622 คน
ประวัติศาสตร์การบุกเบิกก่อตั้งตำบลหนองสาหร่าย เริ่มมาจากผู้นำชุมชนกลุ่มหนึ่งรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมในด้านงบประมาณการพัฒนาหมู่บ้าน จึงได้ต่อสู้ดิ้นรนขอแยกตัวออกมาจากเขตการปกครองเดิม คืออำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี จนกระทั่งประสพผลสำเร็จ ได้รับประกาศจัดตั้งเป็นตำบลใหม่ของอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ ปี 2535
ด้วยพื้นฐานของชุมชนหมู่บ้านที่เกิดมาจากการต่อสู้และมีผู้นำที่เข้มแข็งเช่นนี้ เมื่อประกอบกับภายในชุมชนมีสายสัมพันธ์เป็นแบบเครือญาติ ทำให้ชุมชนมีความรักสามัคคีเป็นปึกแผ่น มีกระบวนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง กลุ่มผู้นำเลือกใช้เทคนิคกระบวนการแผนแม่บทชุมชนเป็นเครื่องมือ มี “สภา 79” เป็นกลไกเวทีของผู้นำที่เข้มแข็ง เคียงคู่กับ “สภาท้องถิ่น”ตามรูปแบบ
นอกจากนั้นยังมีระบบการประชุม “ผู้นำระดับคุ้ม”ที่มีลักษณะเป็นเนืองนิจ ใช้แนวทางการเมืองเชิงสมานฉันท์ในการทำงานและคัดสรรตัวบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร ทั้งในระดับตำบลและชุมชนหมู่บ้าน จึงสามารถป้องกันความขัดแย้งแตกแยกทางสังคมได้อย่างน่าชื่นชม
สังเคราะห์บทเรียนรู้
ช่วงก่อตั้งชุมชน (ปี 2535-2540) เป็นช่วงบุกเบิกบ้านใหม่ บอกลาความเหลื่อมล้ำ กลุ่มผู้นำต้องบุกเบิกสร้างชุมชน ท้องถิ่น-ท้องที่ กันขึ้นมาใหม่ ปัญหาท้าทาย คือ ทรัพยากรน้ำการเกษตร ไม่มีคลอง ไม่มีน้ำชลประทาน แต่ความยากลำบากและการต่อสู้ไม่ได้ทำให้ชุมชนท้อถอย แต่กลับยิ่งมีความรักสามัคคีเป็นปึกแผ่นกันยิ่งขึ้น ได้รับงบประมาณการพัฒนามาเท่าไร ก็สามารถแบ่งสันปันส่วนกันทั่วถึงทุกหมู่บ้านด้วยความเป็นธรรม
ช่วงก่อตั้งกลไกจัดการ “งานพัฒนา” ของชุมชน (ปี 2541- 2551) เมื่อตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ได้ใช้ “สภาตำบลหนองสาหร่าย”เป็นกลไกในการพัฒนาหมู่บ้านและตำบลของตนอย่างจริงจัง นำแนวคิด “การเมืองเชิงสมานฉันท์”เข้ามาใช้ในการสร้างความเป็นเอกภาพ โดยจัดให้มีเวทีการประชุมในระดับชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เคียงคู่กัน ฝึกฝนผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่มาของกลไกสภาผู้นำชุมชน เรียกชื่อกันว่า “สภา 79”
กลุ่มผู้นำริเริ่มนำเทคนิค “การสำรวจข้อมูลครัวเรือน” และ “การจัดทำแผนชีวิตชุมชน”มาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาชุมชน มุ่งพัฒนาศักยภาพของพลเมืองและสร้างความเป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างจริงจัง และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
ในกระบวนจัดทำแผนชีวิตชุมชนหรือแผนแม่บทชุมชนนี่เอง ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของชาวบ้านกันขึ้นมาอย่างหลากหลาย ปัจจุบันมีองค์กรชุมชนเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 42 กลุ่ม มีสมาชิก 8,536 คน หรือเฉลี่ย 203 คน/กลุ่ม
ช่วงยกสถานะเป็นเทศบาลตำบล (ปี 2551- ปัจจุบัน) วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ชุมชนหนองสาหร่ายได้รับผลกระทบจากแรงงานคืนถิ่นเช่นเดียวกัน แต่ผู้นำได้ผลิกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาหันมาสู่วิถีเกษตรทฤษฎีใหม่และเน้นการดูแลสุขภาพ จนสามารถแก้ไขฟื้นฟูชุมชนขึ้นมาได้ ด้วยพื้นฐานการเกษตรกรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
จากฐานทุนความรักสามัคคี มีเอกภาพ เป็นปึกแผ่นของชุมชน ทำให้สามารถจัดการกับปัญหาทางเศรษฐกิจสังคม การทำมาหากินและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ดีขึ้นเรื่อยมาตามลำดับตลอดระยะเวลา 30 ปีของการบุกเบิกสร้างสรรค์ตำบลที่เกิดใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 10 ปีล่าสุด ตำบลหนองสาหร่ายได้นำแนวคิดด้าน “สังคมคุณธรรม” มาสร้างสรรค์แนวทางในการจัดการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มการออม พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยวิถีแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเกษตรเพิ่มมูลค่า ท่องเที่ยววิถีเกษตรกรรมชุมชน
รวมทั้งจัดระบบสวัสดิการชีวิตชุมชน ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และนำแนวคิด “ความสุขมวลรวมประชาชาติ”(GDH-Gross Domestic Happiness)มาสร้างสรรค์พัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ใช้ลักษณะ “ความดี 22 อย่าง 63 ตัวชี้วัด”เป็นเครื่องมือ มี“ธนาคารความดี” ที่ดำเนินงานจริง สามารถเป็นต้นแบบได้
รูปแบบการจัดการตนเองเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของชุมชนท้องถิ่นของตำบลหนองสาหร่าย กล่าวได้ว่าเป็น “5G Model” เป็นหนองสาหร่ายโมเดลที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วน คือ Good Leader. Good Team. Good Planning.Good Participation. Good Quality of Life.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 27 ก.ค. 2564