การสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนทุกระดับในวงกว้าง สร้างบรรทัดฐานและค่านิยมของสังคม

ปัจจุบันสื่อสารมวลชนของประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง มีสถานการณ์และแนวโน้มที่สำคัญ อาทิ
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อโดยรวมที่ต้องแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพให้สอดรับกับเทคโนโลยีดังกล่าว ทั้งในแง่คุณภาพ เนื้อหาสาระ ต้นทุนและรายได้จากการดำเนินการ
การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคสื่อกลายเป็นผู้ผลิตสื่อ สามารถเป็นทั้งผู้รับ ผู้คิด ผู้ผลิต และสื่อสารส่งต่อข้อมูลออกไป การเปลี่ยนแปลงจริยธรรมในการทำหน้าที่ของสื่อ บางครั้งมีการนำเสนอข่าวสารที่อาจไม่เหมาะสม หรืออาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน รวมทั้งประเด็นความรู้เท่าทันสื่อของประชาชน ความสามารถในการแยกแยะคุณภาพของสื่อและข้อมูลข่าวสารที่เป็นโทษ
ในแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ มีเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ 2 ประการ คือ 1)สร้างดุลยภาพระหว่างเสรีภาพของการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนบนความรับผิดชอบ กับ การกำกับที่มีความชอบธรรม และ การใช้พื้นที่ดิจิทัลเพื่อการสื่อสารอย่างมีจรรยาบรรณ 2) สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมในการให้ความรู้แก่ประชาชน สร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ ปลูกฝั่งวัฒนธรรมของชาติและทัศนคติที่ดี
ส่วนตัวชี้วัดเป้าหมาย เขาใช้คะแนนประเมินสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ (MIL – Media and Information Literacy) จะมีการวัดทุก 2 ปี โดยใช้เครื่องมือประเมินของ UNESCO เขาตั้งเป้าหมายปี 2565 ไว้ที่ระดับ 76% ขึ้นไป
สำหรับกิจกรรมโครงการปฏิรูปที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสำคัญ (Big rock) มี 3 เรื่องและตัวชี้วัดเป้าหมายที่ประชาชนควรจับตา ดังนี้
1.พัฒนาระบบคลังข้อมูลข่าวสารเพื่อประชาสัมพันธ์เชิงรุกและจัดการเฟคนิวส์
– มีหน่วยงานเชี่ยวชาญเฉพาะรับผิดชอบพัฒนาระบบคลังข้อมูลข่าวสาร ระบบ big data และ AI จัดการปัญหาเฟคนิวส์
– ทุกหน่วยงานรัฐมีระบบฐานข้อมูลถูกต้อง ทันสมัย ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจง่าย
2.กำกับดูแลสื่อออนไลน์
– บังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 และ สถิติผลงานด้านการจัดการปัญหาเฟคนิวส์ในรอบปี
– ผลักดัน(ร่าง)พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…
3.ยกระดับการรู้เท่าทันสื่อ
– สถิติการสำรวจรายการที่มีเนื้อหาสาระสร้างสรรค์มีประโยชน์
– รายงานผลการประเมินระดับความรู้เท่าทันสื่อของประชาชน
– หลักสูตรสื่อศึกษาได้รับการบรรจุในการศึกษาภาคบังคับและอุดมศึกษา
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีปสมาชิกวุฒิสภา / 17 พฤศจิกายน 2564 .