บ้าน ปัจจัยดำรงชีพของคนจน

รายงานประชาชน (ฉบับที่ 36/2566)

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปร่วมกิจกรรมและเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมสัมมนา The First Thailand Housing Forum 2023 ที่โรงแรมปรินซตัน พาร์ค สวีท ย่านดินแดง จัดโดยมูลนิธิที่อยู่อาศัย ประเทศไทย (Habitat for Humanity Thailand) ร่วมกับ การเคหะแห่งชาติ บริษัทอีโค่เฟรนด์ลี และ Platform CSO ZONE 

การประชุมสัมมนามุ่งประเด็นการพัฒนาชุมชนเมืองเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีนักพัฒนาสังคม นักวิชาการ ผู้นำชุมชน และนักการเมืองหนุ่มสาวจากหลากหลายพรรค เข้าร่วมอภิปราย เสนอแนวคิดแนวทาง และแลกเปลี่ยนทัศนะกันอย่างคึกคัก

บ้านและที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญพื้นฐานสี่ประการสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ อันประกอบด้วย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย  ในการจัดตั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงกำหนดให้มีภารกิจในงานพัฒนาบ้านและที่อยู่อาศัยของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและคนยากคนจน ทั้งในเมืองและชนบท

” บ้าน ปัจจัยดำรงชีพของคนจน ” รายงานประชาชน (ฉบับที่ 36/2566)

ในโครงสร้างของกระทรวง พม. นอกจากงานสังคมสงเคราะห์และการช่วยเหลือดูแลปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนเป็นการทั่วไปแล้ว ยังมี 2 หน่วยงานที่มีภาระหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้ ได้แก่

  1. การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นหน่วยงานประเภทรัฐวิสาหกิจ มี พรบ.เฉพาะในการจัดตั้ง ที่ผ่านมาจะทำหน้าที่ในการพัฒนาและจัดหาบ้านและที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะชนชั้นกลางระดับล่าง ทั้งในรูปแบบของการซื้อแบบผ่อนชำระในระยะยาวและการเช่าอยู่อาศัยในราคาถูก  โดยมีวิสัยทัศน์ว่า “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี”
  2. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นหน่วยงานประเภทองค์การมหาชน  จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกา ภายใต้ พรบ.องค์การมหาชน ที่ผ่านมามีบทบาทในการแก้ปัญหาและพัฒนาบ้านและที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มประชากรยากจน โดยเฉพาะคนในสลัม ชุมชนแออัด ผู้มีปัญหาบุกรุกที่ดินของเอกชน วัด ราชการ และพื้นที่สาธารณะต่างๆ  พอช. มีวิสัยทัศน์ในการสร้างบ้านให้มั่นคงและสร้างชุมชนที่เข้มแข็งไปด้วยกัน จึงมีกระบวนการและขั้นตอนการทำงานที่ละเอียดพิถีพิถันและเข้าใจธรรมชาติของความเป็นชุมชนเป็นพิเศษ

ในการทำงานที่วุฒิสภา คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานและประชุมทวิภาคีเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศจีน  พบว่าจีนเองก็ให้ความสำคัญต่อประเด็นบ้านและที่อยู่อาศัยเช่นกัน กล่าวคือ 

สองไม่กังวล  1)ไม่กังวลว่าจะอดตาย 2)ไม่กังวลว่าจะหนาวตาย   

สองอย่างนี้เป็นหน้าที่ที่ประชาชนต้องพึ่งตนเอง จะรอให้ใครมาช่วยไม่ได้ รัฐไม่มีนโยบายประชานิยมหรือสวัสดิการนิยมในเรื่องนี้ อยากมีเงินมีรายได้ มีอาหาร มีเสื้อผ้านุ่งห่ม ก็ต้องทำงานแลกมา จะไม่แจกเงินแจกของอย่างไร้หลักการ 

สามหลักประกัน  1)ระบบสาธารณสุข  2)ระบบการศึกษา  3)บ้านที่อยู่อาศัย  

สามอย่างนี้เป็นระบบสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐจัดหาให้  โดยเฉพาะในโครงการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า จีนมีนโยบายให้รัฐบาลท้องถิ่น สมาชิกพรรค และหน่วยงานรัฐดูแลประชาชนทุกครัวเรือนให้มีบ้านและที่อยู่อาศัยที่มั่นคงอย่างทั่วถึง เราจึงไม่เห็นผู้ไร้บ้านหรือคนเร่ร่อนในประเทศจีนเลย ไม่ว่าในเมืองใด

สำหรับประเทศทุนนิยมเสรีแบบเรา งานพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อความมั่นคงของมนุษย์มีข้อจำกัด เนื่องจากรัฐบาลของเรายังไม่แข็งแรงและมีเสถียรภาพมากพอที่จะดำเนินการได้ถึงขนาดนั้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆฝ่ายที่แข็งแรงกว่า ทั้งภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคท้องถิ่น และภาคการเมือง มาร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันทำงานแบบจิตอาสาและความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ที่ยากลำบาก

ผมรับทราบเรื่องราวขององค์การเพื่อที่อยู่อาศัยสากลมาช้านาน ตั้งแต่ครั้งที่ออกแคมเปญให้อดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ เป็นนายแบบ ปีนขึ้นบนหลังคา แอ็คชั่นจับค้อนตอกตาปู ทำหลังคาบ้านให้ผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งยังเคยแวะไปเยี่ยมชมกิจการของหน่วยงานสาขาของเขาที่เมืองเดย์ตัน มลรัฐโอไฮโอ แบบบังเอิญและเป็นการส่วนตัว 

สำหรับการจัดงานสัมมนาทางวิชาการในประเด็นบ้านและความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยนี้ ผมอยากเห็นการจัดให้มีกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของสังคมอย่างกว้างขวาง สร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างเครือข่าย ขยายพันธมิตรการทำงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรายงานสถานการณ์ปัญหาและความก้าวหน้าให้ประชาชนรับทราบเป็นระยะ.

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 2 ตุลาคม 2566