วัดห้วยปลากั้ง สายบุญวิถีเชียงราย

รายงานประชาชน (ฉบับที่ 35/2566)

วัดในวิถีล้านนาที่มีโอกาสได้ไปกราบไหว้โดยส่วนใหญ่ สิ่งที่ได้รับคือการสัมผัสความงดงามในศิลปะและสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย อ่อนช้อย อีกทั้งบรรยายกาศวัดที่สงบ ร่มรื่น สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย

ช่วยลดความเครื่องร้อนจากการงาน  เมื่อได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของวัด เรื่องราวของพระประธานในโบสถ์ และสนทนาธรรมกับหลวงพ่อเจ้าอาวาส ก็ยิ่งทำให้สงบเย็นและมีแรงบันดาลใจ

ในเชียงราย วัดที่มีผู้นิยมไปท่องเที่ยวแสวงบุญและชื่นชมดื่มด่ำในศิลปะและสถาปัตยกรรม อาทิ วัดพระธาตุดอยตุง (แม่สาย) วัดพระธาตุเจดีย์หลวง (เชียงแสน) วัดสันติคีรี (แม่ฟ้าหลวง)  รวมทั้ง วัดพระแก้ว วัดมิ่งเมือง วัดร่องขุ่น  วัดร่องเสือเต้น และ วัดกลางเวียง ในเขตอำเภอเมือง 

“วัดห้วยปลากั้ง สายบุญวิถีเชียงราย” รายงานประชาชน (ฉบับที่ 35/2566)

วัดห้วยปลากั้ง

ที่นี่เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีประวัติการฟื้นฟูและพัฒนาจนเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วด้วยภาวะการนำของพระครูกับพลังศรัทธาของชุมชนและประชาชนโดยรอบร่วมกับญาติโยมต่างถิ่น เป็นวัดที่สร้างให้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบผสมผสานระหว่างศิลปะจีนและล้านนา จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ นับเป็นพลังทางวัฒนธรรมที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนและดูแลสังคมท้องถิ่นไปพร้อมกัน

วัดห้วยปลากั้งตั้งอยู่บนเนินเขา สามารถมองเห็นมาแต่ไกล แม้ในขณะที่นั่งรถเดินทางไปๆมาๆอยู่ในตัวเมืองเชียงราย  โชคธรรมเจดีย์เด่นสง่า สูงขนาด 9 ชั้น หลังคาสีแดง มีรูปปั้นมังกรทอดยาวทั้งสองข้างบันได  ภายในเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระอรหันต์องค์ต่างๆ รวมทั้งเป็นที่ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมแกะสลักจากไม้จันทร์หอมองค์ใหญ่ 

นอกจากนั้นยังมีอุโบสถและรูปปั้นพระโพธิสัตว์กวนอิมสีขาวบริสุทธิ์ขนาดมหึมา ขนาดสูงถึง 69 เมตร หรือเกือบเท่าตึก 25 ชั้น ภายในองค์พระมีการติดตั้งระบบขึ้นลงด้วยลิฟต์เพื่อให้ญาติโยมและนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปดูทิวทัศน์ของเมืองเชียงราย

วัดห้วยปลากั้ง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเล็ก ๆ ตามประวัติเล่าว่า แต่เดิมที่แห่งนี้มีสภาพเป็นเพียงเนินเขา พงหญ้ารกชัฎและซากของวัดร้างอยู่เท่านั้น  ต่อมาพระอาจารย์พบโชคซึ่งเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดร่องธาร นำพาชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาทำการบูรณะขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2548  เริ่มต้นจากการตั้งเป็นสำนักสงฆ์ จนกระทั่งได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นวัดอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2552 โดยมีพระอธิการพบโชค ติสฺสวํโส เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

ปัจจุบัน วัดห้วยปลากั้งเป็นวัดที่มีผู้คนศรัทธาจากในจังหวัด ต่างจังหวัดและต่างประเทศ เดินทางมากราบไหว้นมัสการ และปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก ถือเป็นศาสนสถานที่ธำรงรักษาและสืบต่อพระพุทธศาสนาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย

ข้อสังเกตุบางประการ

ผู้นำชุมชนท้องถิ่น

พระครูเจ้าอาวาส เดิมท่านชื่อ พบโชค มาไพศาลกิจ เป็นบุตรพ่อค้าชาวจีนที่บ้านตลาดสำรอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี  ปัจจุบันอายุ 56 ปี มีศรัทธาในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่วัยหนุ่ม เห็นความวุ่นวายทางโลกเกิดความเบื่อหน่าย จึงตัดสินใจบวชและศึกษาพระธรรมวินัยใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เมื่ออายุ 38 ปี ที่จังหวัดราชบุรี  จนกระทั่งปี 2541 จาริกแสวงธรรมมาที่จังหวัดเชียงราย ได้ยินว่ามีวัดร้างจึงได้เดินทางเข้าจำพรรษา โดยมีคณะผู้ศรัทธาและสานุศิษย์มาส่งหลายร้อยคน ได้รับปากชาวบ้านไว้เพียงอย่างเดียวว่า “จะทำให้พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นที่นี่”

พระอาจารย์ พบโชค ติสสะวังโส เจ้าอาวาส

เปลี่ยนแปลงด้วยกระแสศรัทธา 

ภายหลังอยู่มาได้ 8 ปี ถึงคราวเกิดบารมี เมื่อมีลูกศิษย์ลูกหามาขอความเมตตาช่วยเหลือในเรื่องทุกข์เรื่องสุข ต่างได้รับผลสัมฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์ จนเกิดร่ำลือในเชิงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์  ญาติโยมยิ่งกระจายวงกว้างขวางออกไป บ้างก็ว่าเป็นพระหมอดู หลายคนดูถูกดูแคลน เคยท้อใจจะเลิกก็หลายหน แต่อดทนบำเพ็ญธรรมเพื่อไปสู่จุดหมายที่คิดไว้  รู้ดีว่าการดูดวงเป็นเพียงเปลือกกระพี้ของศาสนา แต่ตราบใดที่ต้นไม้ยังต้องมีเปลือกกระพี้หุ้ม แก่นจึงสามารถเติบโตได้ ศาสนาก็เช่นกัน และด้วยใจมุ่งมั่นรับใช้พระศาสนา เหน็ดเหนื่อยกับการรับแขก ช่วยศิษย์มากหน้าหลายตาให้ได้ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างมหัศจรรย์ และด้วยความมีวินัยทางการเงิน ซื่อสัตย์ต่อพระศาสนา เก็บเล็กผสมน้อยจากเงินขันครูดูดวง 5.25บาท ภายในเวลา 1 ปี สามารถเปลี่ยนจากสำนักสงฆ์ที่มีเพียงศาลาเล็กๆ เริ่มสร้างกุฏิ จาก1 เป็น 2 เรื่อยมาจนครบ 9 หลัง ให้เป็นที่พำนักของพระเณรและพราหมณ์

สร้างวัดสร้างชุมชน

เมื่อมีผู้ศรัทธาที่หลากหลาย ทุนทางวัตถุ ปัญญา ความรู้ความเชี่ยวชาญในเครือข่ายก็เพิ่มตามมา  นิมิตฝันที่เห็นดอยเก้าชั้นตั้งแต่วันแรกที่มาจำพรรษาที่นี่ ต่อมาลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นวิศวกรผู้ศรัทธาจากกรุงเทพฯได้ช่วยกันออกแบบและก่อสร้างเป็นเจดีย์รูปสามเหลี่ยม 9 ชั้น มีเจดีย์เล็ก 12 ราศีล้อมรอบ จากนั้นนักท่องเที่ยวสายบุญก็หลั่งไหลเข้ามาสู่วัดโดยตรง  จนเกิดเป็นองค์เจ้าแม่กวนอิมและอาคารอื่นตามมาจนเป็นภาพปัจจุบัน   อย่างไรก็ตาม นอกจากสิ่งก่อสร้างทางศาสนาแล้ว ทางวัดยังมีกิจกรรมโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ คนจนและผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งสร้างโรงพยาบาลทันตกรรมและจัดหาอาสาสมัครแพทย์และพยาบาลมาเปิดบริการแก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า.

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 25 กันยายน 2566