โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป คำอภิปราย ติดตาม เสนอแนพและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ วันที่ 8 กันยายน 2563
เนื่องจากได้รับมอบหมายให้จัดกระบวนการ “ซาวนด์เสียง” จากเพื่อนวุฒิสมาชิก ค้นหาประเด็นการปฏิรูปที่คนส่วนใหญ่มองเห็นร่วมกันว่ามีความสำคัญเร่งด่วน กลั่นกรองมาได้ 20 เรื่อง
เมื่อนำมาประกอบเข้ากับข้อเสนอประเด็นปฏิรูปสำคัญที่รวบรวมมาจากคณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภา 26 คณะ จึงปรากฏเป็นรายละเอียดในรายงานของคณะกรรมาธิการ ต-ส-ร หน้า 28-35
ขออนุญาตนำบางส่วนมากล่าวขยายความ ผ่านสไลด์ 3 ภาพ
ภาพแรก เป็น Mind Map แสดงภาพรวม “เรื่องสำคัญการปฏิรูปประเทศไทย สำหรับปี2563-2565” ประกอบด้วย 14 ด้าน 69 ประเด็น และ 42 โครงการปฏิรูปสำคัญ อาจเรียกว่าเป็นแนวข้อสอบที่ กมธ. ของวุฒิสภาจะใช้ในการ ต-ส-ร ก็ได้
ประเด็นที่มีเครื่องหมาย ** กำกับไว้ข้างท้าย หมายถึงเรื่องที่ได้รับ Rating คะแนนสูงสุด 20 อันดับแรก ดังที่จะได้กล่าวต่อไป

ภาพที่ 2 แสดงเฉพาะเรื่องสำคัญเร่งด่วน 20 ประเด็น ที่ ส.ว.เห็นร่วมกันว่าควรจะใช้เป็นเป้าหมายในการประสานพลังสติปัญญาและทรัพยากรจากทุกฝ่าย เร่งสร้างผลงานให้เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อภาพลักษณ์ของกระบวนการปฏิรูปประเทศในภาพรวม เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับประโยชน์และสัมผัสผลลัพธ์การปฏิรูปได้ง่าย.
ไม่ได้เรียงตามลำดับคะแนน แต่จัดเป็นกลุ่ม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ดังภาพ

ด้านความมั่นคง มี 6 เรื่อง
1. เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นประเด็นการปฏิรูปประเทศในด้านการเมืองการปกครอง เนื่องจาก 7-8 ปี ที่กระบวนการใช้สิทธิ์เลือกตั้งตัวแทนเข้าไปบริหารท้องถิ่นหยุดชะงักมานั้น ยาวนานเกินไปแล้ว ถ้าหากทิ้งให้เนิ่นนานต่อไป รังแต่จะเป็นผลเสียต่อขบวนใหญ่การปฏิรูปประเทศ
2. เรื่อง Regulatory Guillotine คือ การทบทวนและยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ การประกอบอาชีพของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ เป็นประเด็นร่วมของแผนปฏิรูปหลายด้าน การทำเรื่องนี้ให้สำเร็จจะส่งแรงสะเทือนทางบวกต่อการปฏิรูปในวงกว้าง
3.เรื่องประชาชนเฝ้าระวังทุจริต – ชะลอยเพื่อน ส.ว. คงมองเห็นตรงกันว่า ที่ผ่านมาการเชิดชูบทบาทภาคประชาชนเป็นเพียงแค่วาทกรรมเท่านั้น ภาครัฐ ส่วนราชการและองค์กรอิสระยังไม่ได้ทำเรื่องนี้ด้วยจิตสำนึกและวิธีคิด ขาดรูปธรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง จึงถึงเวลาที่ต้องขุดเอาพลังคนไทยทั้งสังคมเข้ามาร่วมเขยื้อนภูเขาใหญ่ลูกนี้
4. เรื่องกฎหมายและกลไกดำเนินคดีทุจริต – คดีทุจริตที่คั่งค้างอยู่ใน ปปช. และ ปปท. นับวันยิ่งเพิ่มพูนเป็นดินพอกหางหมู ศาลคดีทุจริตและพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาคเอกชน เป็นมาตรการสำคัญที่ถูกกำหนดไว้ในแผนปฏิรูป แต่ทว่ายังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
5. เรื่องปฏิรูปตำรวจ – คดีลูกเศรษฐีขับรถหรูชนตำรวจตายแต่คดีถูกปล่อยให้หมดอายุความอย่างน่ากังขา ได้ปลุกกระแสความต้องการของสังคมอย่างแรงกล้า ต่อการปฏิรูปตำรวจและกระบวนยุติธรรม “ขั้นต้นน้ำ” ถึงเวลาต้องนำ (ร่าง) พ.ร.บ.ปฏิรูปตำรวจ พ.ศ. …. ที่อยู่ในขั้นตอนการทำงานของ ครม. เผยแพร่สู่การเรียนรู้ของสังคมและเร่งรัดกระบวนการเข้าสู่รัฐสภาโดยเร็ววัน
6. เรื่อง พ.ร.บ.กระบวนการสอบสวนคดีอาญา – นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คาบเกี่ยวกัน ครม. ควรนำร่างกฎหมายออกมาเผยแพร่สู่การเรียนรู้ของสังคมและเร่งรัดกระบวนการเข้าสู่รัฐสภาด้วยเช่นกัน
ด้านความสามารถในการแข่งขัน มี 4 เรื่อง
1. เรื่องท่องเที่ยวชุมชน/ท่องเที่ยวสุขภาพ – สถานการณ์ COVID 19 สร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อระบบสาธารณสุขไทยและบริการทางการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตามนโยบาย “ไทยเที่ยวไทย” “ท่องเที่ยวเมืองรอง” “ท่องเที่ยวชุมชนท้องถิ่น” ในช่วงการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ จะเสริมสร้างมาตรฐานใหม่และความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยวของประเทศในทุกระดับ
2. เรื่องการเกษตรสร้างมูลค่า – เกษตรกรรมทำให้ประเทศฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจมาได้ทุกครั้ง เรามีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดของโลก การเกษตรสร้างมูลค่ามุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพ ประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากที่ดิน การเกษตรอัจฉริยะ เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรเชิงอุตสาหกรรม และเกษตรพรีเมียม
3. เรื่องอุตสาหกรรมสำคัญ – บทเรียนจากโควิด 19 ตอกย้ำความสำคัญของอุตสาหกรรมเพื่อการพึ่งตนเองของทุกประเทศ อาจเรียกว่าเป็นอุตสาหกรรมที่จำเป็นยิ่งยวด อาทิ อาหาร ยา วัคซีน อุปกรณ์การแพทย์ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม พลังงาน เครื่องจักรกล และยุทธปัจจัย
ส่วนอุตสาหกรรมใหม่และนโยบายอีอีซีก็ยังมีความสำคัญต่อการยกระดับประเทศให้หลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง”
4. เรื่องการพาณิชย์/บริการมิติใหม่ – นโยบายส่งเสริมสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะส่วนที่รองรับอุตสาหกรรมสำคัญและบริการมิติใหม่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วน ทั้งในด้านโลจิสติกส์ เทคโนโลยีชีวภาพ BCG Economy เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งการอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียน การขออนุมัติ อนุญาตต่างๆ และการจดสิทธิบัตร.
ด้านทรัพยากรมนุษย์ มี 2 เรื่อง
1. เรื่อง “กฎหมายแม่บท” การศึกษาแห่งชาติ – พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเป็นกุญแจดอกแรกที่จะไขไปสู่การขับเคลื่อนกลไกและกฎหมายลูกบทอื่นๆ แต่ปัจจุบันยังไม่คืบ ทำให้ “กฎหมายลูกบท” หลายฉบับต้องออกนำไปก่อนแล้ว จึงควรมีการเร่งรัด (ร่าง) พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ให้เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาเร็วขึ้น
2. เรื่องระบบสนามกีฬาและการแข่งขันกีฬานานาชาติขนาดใหญ่ – โครงสร้างพื้นฐานด้านสนามกีฬาที่ได้มาตรฐานและระบบการบริหารจัดการ จะเอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมกีฬาทุกประเภท ทั้งกีฬาสุขภาพ นันทนาการ กีฬามวลชน กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ กีฬาอาชีพ และอุตสาหกรรมกีฬา
ส่วนงานมหกรรมการแข่งขันกีฬานานาชาติขนาดใหญ่จะช่วยจุดประกายความบันดาลใจ ขับดันการพัฒนากำลังคนของประเทศ ปลูกฝังสปิริตของนักกีฬา เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ความมีระเบียบวินัย อดทนอดกลั้น รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย สร้างความสุขและสามัคคีของคนในชาติ.
ด้านเพิ่มโอกาสทางสังคม มี 4 เรื่อง
1. เรื่องระบบรับมือโรคอุบัติใหม่และโรคอันตราย – เพื่อน ส.ว. ลงความเห็นว่า ในภาวะโลกร้อนเสี่ยงต่อโรคอุบัติใหม่และโรคติดต่ออันตราย โชคดีประเทศไทยอยู่ในฐานะจะต่อยอดจากพื้นฐานที่แข็งแรงด้านสาธารณสุขและด้านการแพทย์ สามารถสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับประชาชนและประเทศชาติได้.
2. เรื่องการพึ่งตนเองด้านยา วัคซีน อุปกรณ์การแพทย์ – เรื่องนี้มีความสำคัญ ทั้งในมิติของความมั่นคง มิติคุณภาพชีวิต และมิติทางด้านเศรษฐกิจการแข่งขัน เหตุการณ์โควิด 19 ได้ทำให้เราต้องหันกลับมาสำรวจตรวจตราศักยภาพของประเทศและความพร้อมของสังคมไทยกันอย่างจริงจัง เพราะเมื่อเกิดภาวะสงครามและพิบัติภัยขนาดใหญ่ จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโกลาหล สามารถจัดการกับสถานการณ์เชิงซ้อนได้ง่ายขึ้น
3. เรื่องตำบลเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน – ในเรื่องนี้เพื่อน ส.ว. เกือบทั้งสภา เห็นว่า ผลลัพธ์การปฏิรูปประเทศ แท้จริงคือปฏิรูปเพื่อทำให้ชุมชนเข้มแข็ง-สังคมเข้มแข็ง เพราะรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงตามแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง12 ด้าน จะแสดงผลสัมฤทธิ์ให้ประชาชนได้เห็นประโยชน์ที่ในระดับพื้นที่และระดับองค์กร เพราะที่นั้นเป็นจุดที่จะนำเอาแนวคิดและแนวทางใหม่ๆตามแผนปฏิรูปที่เกี่ยวข้องมาลงสู่การปฏิบัติจริง
4. เรื่องเศรษฐกิจฐานราก – ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคมตลอดมา เนื่องจากสร้างความรู้สึกเปรียบเทียบว่านโยบายของประเทศจะมุ่งทางไหน ระหว่างการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยของประเทศและคนกลุ่มน้อย หรือ การมุ่งกระจายรายได้ แก้ไขความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำสำหรับคนส่วนใหญ่
แต่เรื่องนี้กลับไม่มีแผนปฏิรูปรองรับโดยตรง เพื่อน ส.ว. จึงอยากเห็นโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูวิกฤติ 1 ล้านล้านบาท มีการบูรณาการการแก้ปัญหายากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โปร่งใส มีประสิทธิภาพ
ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 2 เรื่อง
1. เรื่องทรัพยากรทางบก คนอยู่กับป่า – แผนปฏิรูปประเทศด้านนี้มีความก้าวหน้ามากที่สุดเรื่องหนึ่ง มีการปฏิรูปกฎหมายสำคัญและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายระดับรองทั้งชุด มีกระบวนการปรับจูนวิธีคิดของเจ้าหน้าที่ให้มีทัศนคติและแนวทางการทำงานแบบใหม่ ต่อจากนี้ไปจึงคาดหวังว่ากลไกการแก้ปัญหาระดับจังหวัดและระดับชาติที่ตั้งขึ้นมา จะสามารถจัดการปัญหาคนกับป่าที่ยืดเยื้อเรื้อรัง จนสำเร็จผลครบทุกพื้นที่
ทำให้คนยากคนจนที่มีปัญหาที่ดินทำกินและคนชั้นกลางที่ต้องการอนุรักษ์พื้นที่ป่า สัมผัสความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ด้วยตัวเขาเอง
2. เรื่องแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็ก แก้ภัยแล้งยั่งยืน – ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ปีละ 4 เดือน กระทบต่อวิถีชีวิตเกษตรกรและคนยากคนจนในชนบท
การจัดการทรัพยากรน้ำที่รวมศูนย์งบประมาณและอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและพึ่งพาเทคโนโลยี่ชั้นสูง
ทางเลือกการจัดการปัญหาแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน่าจะเป็นคำตอบ เพราะสามารถดำเนินการได้อย่างตรงจุด รวดเร็ว ในงบประมาณที่น้อยกว่ามาก
ด้านความสมดุลภาครัฐ มี 2 เรื่อง ได้แก่
1. เรื่องระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ – Big Data และ การพัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นประเด็นร่วมที่ทุกแผนปฏิรูปต่างเรียกร้องต้องการ หน่วยงานและกระทรวงต่างๆได้ลงทุนพัฒนาแบบของใครของมัน ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ขาดการบูรณาการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ร่วมกัน
2. เรื่องระบบแพล็ตฟอร์มบริการดิจิทัลแห่งชาติ – ในยุคเศรษฐกิจการค้า การลงทุนยุคใหม่ ระบบพื้นที่กลางสำหรับการทำธุรกิจซื้อขายออนไลน์และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร หรือ National Digital Platform เป็นเครื่องมือที่ทุกฝ่ายต่างต้องการ รัฐบาลควรจะต้องลงทุนในเรื่องนี้อย่างชาญฉลาดและทันต่อสถานการณ์
ในภาพที่ 3 แสดงภาพรวมของกฎหมายปฏิรูปที่สำคัญ


จากจำนวนกฎหมายตามแผนปฏิรูปประเทศ ทั้งหมด 216 ฉบับ เมื่อนำ 20 เรื่องสำคัญเร่งด่วนข้างต้นมาเป็นกรอบพิจารณา จะพบว่ามีอยู่เพียง 56 ฉบับ
ในจำนวนนี้ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นและประกาศใช้แล้ว 19 ฉบับ
ยังคงเหลือค้างอยู่ในขั้นตอนต่างๆ อีก 37 ฉบับ กล่าวคือ
ส่วนที่อยู่ในขั้นตอน “ก่อน ครม.” มี 19 ฉบับ ส่วนนี้อยากให้รัฐบาลติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะตรวจพบว่ากว่าครึ่งยังไม่ได้ยกร่างกฎหมายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
อีกส่วนหนึ่ง อยู่ที่ขั้นตอน “ใน ครม.” มีจำนวน 15 ฉบับ ในส่วนนี้อยากให้ช่วยเร่งรัดให้เข้าสู่ขั้นตอนการทำงานของรัฐสภาโดยเร็ว
สำหรับอีก 3 ฉบับที่อยู่ในขั้นตอน “รัฐสภา” ในขณะนี้ พวกเราในฝ่ายนิติบัญญัติจะช่วยกันดูแล ขออย่าได้เป็นห่วง.