รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 70) “พุ่งเป้าขจัดความยากจน อำเภอด้อยโอกาส”

พื้นที่ยากจนและด้อยโอกาสเรื้อรัง

จากเกณฑ์เส้นความยากจนของประเทศไทย (รายได้เฉลี่ย/หัวประชากร ต่ำกว่า 88.90 บาท/วัน) ข้อมูลระหว่างปี 2550-2562  มีจังหวัดยากจนเรื้อรัง ในกลุ่มที่ 1 (ติดอันดับ 13 ครั้ง ในรอบ13 ปี)  กลุ่มที่ 2 (ติดอันดับ 5-12 ครั้ง ในรอบ13 ปี)  กลุ่มที่ 3 (ติดอันดับ 3  ครั้ง ในรอบ13 ปี)  และกลุ่มที่ 4 (เคยติดอันดับยากจน 2 ครั้งในรอบ 13 ปี)

มีจำนวนรวม 19 พื้นที่ ได้แก่  1.ปัตตานี 2.แม่ฮ่องสอน 3.ตาก 4.กาฬสินธุ์ 5.นราธิวาส 6.บุรีรัมย์ 7.นครพนม 8.ศรีสะเกษ 9.สระแก้ว 10.ชัยนาท 11.พัทลุง  12.น่าน  13.ยะลา 14.สระแก้ว  15.อ่างทอง  16.อำนาจเจริญ  17.กาญจนบุรี  18.มุกดาหาร  19.ชัยภูมิ

พื้นที่ยากจนเหล่านี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ “ด้อยโอกาส” กล่าวคือขาดโอกาสในการพัฒนาตามกระบวนการปกติ จึงถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลัง นับว่าเป็น “ความยากจนในเชิงโครงสร้าง”ประการหนึ่ง ดังนั้นในการแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าจึงควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณและโครงการพัฒนาที่มีลักษณะเฉพาะ พุ่งเป้าลงสู่พื้นที่เหล่านี้

อย่างไรก็ตาม การพุ่งเป้าแก้ปัญหาพื้นที่ยากจนในเชิงโครงสร้างและระบบพื้นฐานเหล่านี้ควรดำเนินการกันในระดับอำเภอ เพราะจังหวัดเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่เกินไปและมีงบประมาณโครงการพัฒนาในลักษณะทั่วไปของทั้งจังหวัดอยู่แล้ว  

ส่วนระดับตำบลนั้นก็เล็กเกินไป ทั้งยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลรับผิดชอบโดยตรง  นอกจากนั้นที่ระดับอำเภอยังมีกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นกลไกการทำงานแบบบูรณาการที่คอยรองรับอยู่ 

พื้นที่แล้งซ้ำซาก

จากสถิติข้อมูลการเฝ้าระวังพื้นที่ภัยแล้งในระดับตำบลทั่วประเทศของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระยะเวลา 10 ปี จนถึงปี 2562  แบ่งพื้นที่แล้งซ้ำซากในระดับตำบล แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่  

1. รุนแรงมาก (เกิน 6 ครั้งในรอบ 10 ปี)  2.รุนแรงปานกลาง ( 4-5 ครั้งในรอบ 10 ปี)  3.รุนแรงน้อย (ไม่เกิน 3 ครั้งในรอบ 10 ปี)  

ซึ่งสามารถระบุพื้นที่แล้งซ้ำซากในระดับรุนแรง ในภาคเหนือ 17 จังหวัด 135 อำเภอ และภาคอีสาน 20 จังหวัด 165 อำเภอ คิดเป็นพื้นที่รวมกันประมาณ 2,570,506 ไร่

พื้นที่เหล่านี้ต้องแก้ปัญหาด้วย “กระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยชุมชน” อันเป็นฐานทุนทางภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่น โดยภาครัฐสามารถหนุนเสริมกระบวนการดังกล่าวได้ด้วยการสนับสนุนงบประมาณแบบ “Block Grants”  จัดสรรผ่านจังหวัดเป้าหมายเพื่อกระจายลงไปยังอำเภอที่แล้งซ้ำซากแบบพุ่งเป้า มอบหมายให้นายอำเภอและคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ(พชอ.)เป็นกลไกดำเนินงานแบบบูรณาการ.

พื้นที่ขัดแย้งยืดเยื้อ

ยังมีพื้นที่ยากจนอีกประเภทหนึ่ง เป็นพื้นที่ที่มีจุดขัดแย้งเรื้อรังด้านที่ดินทำกินของชาวบ้าน รอคอยการจัดการปัญหาการใช้ประโยชน์จากที่ดินและการอนุรักษ์ป่า-เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งระบบ

ในปัจจุบัน ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  กำหนดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินและการเข้าถึงทรัพยากร โดยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างเขตพื้นที่ป่าทับซ้อนพื้นที่ทำกินของประชาชน รับรองสิทธิชุมชนในการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์อย่างเป็นธรรมและกระจายการถือครองที่ดินในขนาดที่เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน

รัฐบาลได้จัดให้มีกลไกคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.)และออกพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562  โดยมีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันในการจัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรในลักษณะ“แปลงรวมเป็นชุมชน” แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ ซึ่งเป็นรูปแบบการปฏิรูปการจัดที่ดินแบบครบวงจร และเป็นนวัตกรรมใหม่ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558 คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินส่งพื้นที่เป้าหมายให้คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน 552พื้นที่ 70 จังหวัด สามารถดำเนินการจัดคนลงในพื้นที่ได้ 275 พื้นที่ 65 จังหวัด จำนวน 57,105 ราย 70,542 แปลง เนื้อที่ 384,065 ไร่ และส่งต่อให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด229 พื้นที่ 63 จังหวัด จำนวน 46,525 ราย 58,273 แปลง เนื้อที่ 306,203 ไร่

ขอเพียงมีงบประมาณสนับสนุนกระบวนการทำงานอย่างเพียงพอเท่านั้น กลไกอนุกรรมการ คทช.ระดับจังหวัดและคณะทำงานในพื้นที่จะสามารถแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอที่มีปัญหาเหล่านี้ได้ทันต่อสถานการณ์.

นพ.พลเดชปิ่นประทีป / 20 เม.ย. 2564

“พุ่งเป้าขจัดความยากจน อำเภอด้อยโอกาส”