พิกัดที่ตั้ง
บ้านวังบาล ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์

ภาพรวม
ชุมชนตำบลวังบาล เป็นต้นแบบของชุมชนเข้มแข็งของภาคเหนือตอนล่าง ภูมิประเทศเป็นพื้นที่เชิงเขาที่มีความสูงสลับซับซ้อนเป็นทิวยาว เศรษฐกิจหลักคือข้าว ยาสูบ มะขาม เลี้ยงสัตว์ ประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ส่วนที่เหลือมีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย บริการและรับราชการ
วังบาลโมเดล เป็นต้นแบบของชุมชนเข้มแข็ง ที่เกิดจากการขับเคลื่อนกิจกรรม-โครงการงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างแข็งขันของ “เครือข่าย บ-ว-ร” โดย 5 หน่วยงานหลักในพื้นที่ คือ รพ.สต.วังบาล อบต.วังบาล ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน โรงเรียนวังบาลและวัดศรีฐาน จึงเกิดการขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั่วทุกหมู่บ้าน ทั้งตำบล
ประกอบกับชาวบ้านมีฐานะทางเศรษฐกิจและมีการศึกษา มีข้าราชการเกษียณอายุมาพักอาศัยอยู่จำนวนมาก เศรษฐกิจท้องถิ่นอยู่ในระดับที่ดี มีมะขามหวาน มะขามเปรี้ยว และยาสูบเป็นผลผลิตหลัก มีการท่องเที่ยวชุมชนที่มาพร้อมกับกระแส “ท่องเที่ยวภูทับเบิก-เขาค้อ-ภูหินร่องกล้า” มีโรงงานแปรรูปในชุมชน ชาวบ้านมีที่ดินทำกิน น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ยึดมั่นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีวัดและโรงเรียนผู้สูงอายุเป็นฐานในการอบรมด้านจิตใจ ทำให้ทั้ง 16 หมู่บ้านในตำบลมีความเข้มแข็งมั่นคง
สังเคราะห์บทเรียนรู้
ปัจจัยความสำเร็จของตำบลวังบาล ได้แก่ ความเข้มแข็งของภาคีบ้าน-วัด-โรงเรียนและรพ.สต. ฐานเศรษฐกิจการเกษตรที่มีศักยภาพ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความเป็นกลุ่มก้อนของพลเมืองในระดับชนชั้นกลาง และความรักสามัคคีในชุมชน
หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อปต.) เป็นหน่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาตัวอย่างในระดับตำบลของคณะสงฆ์ กลายเป็นฐานสำคัญในการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของประชาชน ทำเป็นชุมชนที่มีศีลธรรมดี มีความสามัคคี สงบสันติ
ชาวบ้านมีฐานะทางเศรษฐกิจดีและมีการศึกษา มีข้าราชการเกษียณอายุมาพักอาศัยอยู่มาก เศรษฐกิจท้องถิ่นอยู่ในระดับดี มีมะขามหวาน มะขามเปรี้ยว และยาสูบเป็นผลผลิตหลัก มีการท่องเที่ยวชุมชนที่มาพร้อมกับกระแสเที่ยวภูทับเบิก-เขาค้อ-ภูหินร่องกล้า มีโรงงานแปรรูปในชุมชน ชาวบ้านมีที่ดินทำกิน น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ยึดมั่นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีวัดและโรงเรียนผู้สูงอายุเป็นฐานในการอบรมด้านจิตใจ ทำให้ทั้ง 16 หมู่บ้านในตำบลมีความเข้มแข็งมั่นคง
การมีฐานเรียนรู้ชุมชนที่หลากหลายเป็นรูปธรรม ทั้งด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ โรงงานแปรรูปมะขามระดับ SME มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ วัฒนธรรมและการเกษตร หัตถกรรมพื้นบ้านผ้ามัดหมี่ รวมทั้งมีการสนับสนุนยกย่องจากหน่วยงานภายนอกทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด ก็ยิ่งทำให้ชุมชนท้องถิ่นต้องรักษาระดับมาตรฐานของตนเอาไว้ ทั้งส่วนที่ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูจากองค์กรภายนอกและสถาบันเบื้องสูง
รพ.สต. และสถานีอนามัยวังบาล เป็นผู้ที่ริเริ่มนำเทคนิคการทำงานแบบ Problem Based Learning(PBL) และ Future Search Conference(FSC) มาใช้ ในกระบวนการแก้ปัญหาชุมชนและสร้างเครือข่าย เริ่มต้นจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก-ดินโคลนถล่ม ในพื้นที่ 5 หมู่บ้านที่ตั้งตามลำห้วยวังบาล ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
จากเหตุการณ์พิบัติภัยธรรมชาติในครั้งนั้น คณะกรรมการพัฒนาตำบลวังบาลได้นำพาประชาชนจำนวนหนึ่งไปศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อกลับมาจึงร่วมกันทำข้อมูลชุมชนและกำหนดอนาคต ทำกระบวนการแผนแม่บทการพัฒนาชุมชนทั้งตำบลแบบมีส่วนร่วม สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการประกอบอาชีพ จากทำไร่ข้าวโพด ไร่ฝ้าย มาเป็นการปลูกพืชสวนโดยเฉพาะมะขามหวาน มะขามเปรี้ยว นำมาสู่การแปรรูปสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น ก่อนที่การท่องเที่ยวภูทับเบิกและท่องเที่ยวชุมชนจะมาบูมในช่วงหลัง.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 14 ก.ค. 2564