ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (17) “รัฐสภาแก้กติกาเลือกตั้ง”

ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด.

ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (17) “รัฐสภาแก้กติกาเลือกตั้ง”

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม  กองทัพตอลีบานบุกเข้ายึดกรุงคาบูลได้  ขับไล่รัฐบาลและกองกำลังต่างชาติออกไป  ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศ  มุ่งการปกครองแบบรัฐอิสลามอย่างเต็มรูปแบบ

ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์  16 สิงหาคม  นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ชาห์  เพื่อถวายหนังสือลาออกของรัฐมนตรีทั้งคณะ  ภายหลังเผชิญความวุ่นวายทางการเมืองมาหลายเดือนจนขาดเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ในรัฐสภา

ในกรุงเทพมหานคร  รัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศกำลังเผชิญปัญหาที่หนักหน่วง ในเรื่องการระบาดของโควิด 19 มีผู้ป่วยสะสมใกล้หลักล้าน  ผู้ป่วยใหม่เกิน 20,000  ตายเกิน 200 คนต่อวัน  ส่วนการฉีดวัคซีนพยายามเร่งรัดกันอย่างเต็มที่ ได้จำนวนถึง 24 ล้านโด้สแล้ว

ขณะเดียวกัน ตามท้องถนนในกรุงเทพฯ ย่านดินแดง  อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  แยกราชประสงค์  มีการชุมนุมและก่อความรุนแรงอยู่ทุกวัน โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเจ้าประจำ ในหลากหลายชื่อเรียก  ต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม  มุ่งทำบั่นทอนประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลทุกวิถีทาง  ประสานกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกหลายคน  หวังทำลายเครดิต ให้เกิดภาพพจน์เป็น “รัฐที่ล้มเหลว”และกดดันเรียกร้องให้รัฐบาลยอมแพ้และลาออกไป

ในการแก้ปัญหาการชุมนุมและการก่อเหตุร้ายรายวัน  คงต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องจัดการกับม็อบก่อกวนที่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเหล่านี้  ด้วยยุทธวิธีที่เหมาะสมและจริงจัง  เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและระบบนิติรัฐ ให้เป็นขื่อแปของบ้านเมือง

ขณะเดียวกัน  ที่รัฐสภาก็ถึงเวลาที่จะต้องมีการพิจารณาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 และ 3 อันสืบต่อมาจากการพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน  ซึ่งคราวนั้นรัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดหนึ่งไปทำการศึกษาและจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม  บัดนี้กำลังจะนำกลับมาเสนอให้ที่ประชุมใหญ่รัฐสภา พิจารณาลงมติให้จบสิ้นกระบวนการทางนิติบัญญัติ

เท่าที่อ่านรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ  พบว่ายังมีประเด็นที่ไม่ลงตัวอีกมาก  โดยสังเกตุได้จากการมีผู้ขอแปรญัตติและสงวนคำแปรญัตติเป็นจำนวนมาก ร่วม 20 ราย  ซึ่งก็หมายความว่า ในการประชุมใหญ่ของรัฐสภาในวันที่ 24-25 สิงหาคมนี้  น่าจะมีการต่อสู้ทางการเมืองในสภากันอย่างดุเดือด  ทั้งการอภิปราย โต้เถียงและหักล้างกัน  และการลงมติ ที่จะโหวตเป็นรายมาตราในวาระที่ 2   รวมทั้งการแสดงจุดยืนและตัดสินใจของ ส.ว. 250 คน ในวาระที่ 3 ว่าจะเห็นชอบให้ผ่านร่างฯทั้งฉบับ หรือไม่

เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ของตัวผมเองและเพื่อน  ส.ว. อย่างทันต่อสถานการณ์  จึงใคร่ขอความคิดเห็นจากทุกท่านในเครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด รวมทั้งผู้สนใจภายนอก  ช่วยกรุณาให้ข้อมูลตามความคิดเห็นมุมมองส่วนตัว   มี 3 คำถาม  ดังนี้

1. ท่านเห็นด้วยกับสัดส่วน  สส.เขต/สส.บัญชีรายชื่อ  แบบใด.

      1) 350/ 150  (แบบปัจจุบัน)              

      2) 400/100   (แบบที่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 1 )   

      3) 375/ 125  (แบบที่มีผู้สงวนคำแปรญัตติเอาไว้)

2. ท่านเห็นด้วยกับระบบบัตรเลือกตั้งแบบใด

      1) บัตร 1 ใบ 2 ระบบ (เป็นระบบคะแนนเสียงไม่ทิ้งน้ำ แบบปี 2562)

      2) บัตร 2 ใบ 2 ระบบแยกกัน (เป็นแบบเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ใช่ เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540,2550)

      3) บัตร 2 ใบ 2 ระบบแบบผสมผสาน (ระบบจัดสรรปันส่วนผสม, Mixed-Member Proportional, MMP)

3. ท่านเห็นด้วยกับการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบใด.

        1) เขตขนาดเล็ก มี ส.ส. 1 คน/ 1 เขต  (แบบที่ใช้มาตั้งแต่ 2540 จนถึงปัจจุบัน)

        2) เขตขนาดใหญ่  มี ส.ส. 2-3 คน/ 1 เขต (แบบที่เคยใช้ในอดีต ก่อนรัฐธรรมนูญ 2540)

นายแพทย์พลเดช  ปิ่นประทีป

สมาชิกวุฒิสภา /  19 สิงหาคม 2564.