การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) ประสบการณ์จากเยอรมัน สู่การศึกษาเพื่อขจัดความยากจนในประเทศไทย

ทิพย์พาพร ตันติสุนทร[1]

ผู้อำนวยการ สถาบันนโยบายศึกษา

บทความนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปเพื่อแก้ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำฯ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2564 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (ส.ว.) หมายเลข 311 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา

อ่านในรูปแบบ PDF file

       การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง คือการเตรียมความพร้อมให้แก่พลเมืองเพื่อการรับผิดชอบต่อประเทศในอนาคต การสร้าง “คนเยอรมัน” ด้วยการศึกษาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แบบที่เรียกว่า Civic Education หรือการศึกษาเพื่อสร้างคนเยอรมันนั้น คือ การให้ความสำคัญทั้งการศึกษากับการเมือง ที่คนเยอรมันจะต้องมีความรู้และเรียนรู้ไปทั้ง 2 เรื่อง 

นั่นหมายถึง การนำเอาการศึกษากับการเมืองมาเชื่อมโยงกัน เพราะโดยปกติแล้ว กิจกรรมทั้ง 2 ด้าน มีอยู่แล้วในสังคม แต่มักไม่มีการเชื่อมโยงกัน แต่สำหรับสังคมเยอรมันซึ่งได้บทเรียนจากสภาวะของระบอบการปกครองแบบเผด็จการและระบอบเผด็จการนั้นก็นำประเทศสู่สงครามโลก ก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย เยอรมันจึงออกแบบระบบการศึกษาและการกล่อมเกลาทางสังคม 

เพื่อสร้างพลเมืองใหม่ให้มีความรู้และทักษะประชาธิปไตย รู้ทั้งเรื่องวิชาการ และรู้เรื่องการเมืองไปด้วย เพื่อไม่ให้ถูกครอบงำทางการเมือง เหมือนที่ผ่านมา 

เพื่อให้คนรุ่นใหม่หลังสงครามโลกมีลักษณะที่สอดคล้อง เอื้ออำนวยต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นโดยทั่วไปในสังคม

ซึ่งมีหลักการของการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองอยู่ที่ไม่ให้มีการครอบงำและการชี้นำผู้เรียน แต่สนับสนุนให้เกิดการคิดวิเคราะห์และแสวงหาข้อมูล ไม่ใช่ตามผู้สอน 

การศึกษาแบบ Civic Education ในแบบของเยอรมันจึงให้ความสำคัญกับเสรีภาพและอิสระทางความคิดให้เกิดในตัวผู้เรียน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียและในสังคม 

เพื่อให้เกิดความรู้ในตัวผู้เรียนมากกว่าการจำจากความรู้ของครูที่สอนแต่ฝ่ายเดียว 

การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองของเยอรมันจึงมุ่งสร้างความเป็นพลเมืองในตัวเด็กและเยาวชน เพื่อเติบโตไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นพลเมืองที่มีวินัย มีจิตสำนึกทางการเมือง และมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมสูง 

โดยมีเป้าหมายให้เกิดสังคมที่มีเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และมีความยุติธรรม พลเมืองชาวเยอรมันจึงมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมืองมาก เพราะการศึกษาและการเมืองถูกนำมาสอนอย่างเชื่อมโยง บูรณาการเข้าหากัน 

เยาวชนเยอรมันจึงมีความสามารถที่จะมีจุดยืนของตัวเอง รวมถึงการมีจุดยืนทางการเมืองด้วย พลเมืองของเยอรมันโดยทั่วไปจึงเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และยอมที่จะจ่ายค่าสมาชิก เพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบ 

อีกทั้งรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนจัดงบประมาณเพื่อให้มีมูลนิธิทางการเมืองในการให้การศึกษาทางการเมืองที่ไม่เป็นทางการ (Nonformal) แก่ประชาชนทั่วไปอีกด้วย ทำให้การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในแบบของเยอรมันนั้น คือ หัวใจของความสำเร็จในการสร้างชาติเยอรมันใหม่ให้ลุกขึ้นมาอีกครั้ง

         อย่างไรก็ดี พึงเข้าใจด้วยว่า การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองนั้น คือการศึกษาภายใต้ระบอบการเมืองประชาธิปไตยยุคใหม่ ซึ่งแต่เดิมก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันปกครองโดยระบอบเผด็จการ ยุคนาซีที่ผู้นำคือฮิตเลอร์ ได้ผ่านการเมืองแบบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง ในยุคดังกล่าวมีปฏิบัติการที่เรียกว่า

“การให้การอมรมสั่งสอนทางการเมืองแก่พลเมือง”

ซึ่งหมายถึงการอบรมสั่งสอนที่มิใช่การให้การศึกษา จึงทำให้ผู้ถูกปกครองมีทัศนคติมองโลกแบบนาซี ต่อเมื่อประเทศผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 จัดให้มีการสร้างแผนการศึกษาใหม่ (re-education) มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งในเยอรมันตะวันตก

ซึ่งการศึกษาในอดีตของเยอรมันพบว่า ผู้เรียนเปรียบเสมือนผู้รับฟังเพียงฝ่ายเดียว ส่วนผู้สอนเปรียบเสมือนผู้ให้ความรู้ความกระจ่างต่อผู้เรียนทุกๆ คน นี่คือภาพโดยรวมที่ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การศึกษาของเยอรมันก่อนสงครามโลก

         ความเข้าใจในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และในปัจจุบันของเยอรมันเกี่ยวกับการให้การศึกษาแก่พลเมืองนั้น เกิดจากประสบการณ์ด้านการเมืองและการศึกษาของเยอรมันเอง คือการสร้างความพร้อมตั้งแต่เด็กเล็กเพื่อให้เติบโตเป็นพลเมืองของสังคมประชาธิปไตย ที่ต้องการให้ผู้สอนและผู้เรียนเป็นหุ้นส่วนของการเรียนรู้ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย

ด้วยหลักการ 3 ข้อ คือ

  1. หลักการบรรลุนิติภาวะทางความคิด ห้ามไม่ให้ผู้สอนครอบงำ ชักนำ หรือชี้นำ แม้ในทางการเมือง โดยใช้กระบวนการทางด้านจิตวิทยา เพื่อให้ผู้เรียนเห็นหรือเข้าใจไปทางใดทางหนึ่งตามผู้สอน
  2. การเรียนการสอนต้องสัมพันธ์กับประเด็นทางสังคม ซึ่งต้องนำสู่ห้องเรียน (civic engagement) เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมทางสังคม
  3. ให้ความรู้ ข้อมูลทางการเมือง ปลูกฝังทัศนคติวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีวิจาณญาณ และมีความคิดเห็นของตนเอง ไม่อนุญาตให้องค์กรหรือสถาบันต่างๆ ชี้นำทางความคิดของบุคคล ความเชื่อ ความศรัทธาต่อสถาบันหรือองค์กรทางด้านการเมืองใดๆ จะต้องเกิดขึ้นจากวิจาณญาณของบุคคลนั้นๆ

ทั้ง 3 หลักการ เป็นที่ยอรับกันโดยทั่วไปทุกๆ สถาบันในเยอรมัน และหลักการนี้ยังเป็นหลักการปฏิบัติในกระบวนการการศึกษาของประเทศ ซึ่งหลักการนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่องทั้งในและนอกระบบการศึกษา

เพื่อยังผลให้เยาวชนและผู้ใหญ่เห็นความสำคัญในเรื่องการเมือง และเห็นความจำเป็นในทางกฎหมายของประเทศที่ต้องปฏิบัติ การสนับสนุนของรัฐในเรื่องดังกล่าวนี้ส่งผลให้เป้าหมายและผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ทำให้เกิดการตื่นตัวแก่งานการศึกษาด้านนี้ในเยอรมันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรต่างๆ การตื่นตัวทางวิชาการ วิจัยด้านรัฐศาสตร์ และการตื่นตัวในทุกรับดับบุคคลทางการเมืองด้วย

ทั้งนี้ การให้การศึกษาทางการเมือง (Political Education for Citizenship) เพื่อสร้างพลเมืองในแนวทางของการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) นี้ ต้องแบ่งแยกความเข้าใจระหว่างงานด้านการศึกษากับกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง

ซึ่งกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งลักษณะนี้ต้องแยกให้ชัดเจนว่าอะไรคือด้านการเมือง อะไรคืองานด้านการศึกษา หากเป็นการศึกษาที่มุ่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว จะไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐ และการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็มิได้บรรจุอยู่ในมาตรการทางการศึกษาเช่นกัน

จุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดสำหรับการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในเยอรมันคือ สนับสนุนให้พลเมืองตระหนักในทางประชาธิปไตยผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งได้บทเรียนที่ล้มเหลวจากระบบนาซี และต้องการแก้ไขด้วยความรับผิดชอบของพลเมืองเยอรมันที่จะไม่ให้เกิดลัทธิเผด็จการขึ้นซ้ำอีก

หลักการทั้ง 3 ประการดังกล่าวมาข้างต้น จึงเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการปกครองตนเองอย่างยั่งยืนผ่านการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (civic education) ซึ่งไม่เพียงจัดให้มีขึ้นในระบบโรงเรียน หรือระบบการศึกษาทุกช่องทาง

แต่หากยังขยายไปสู่การให้การศึกษาทางการเมืองแก่ภาคประชาสังคมอีกด้วย ซึ่งภาคส่วนที่ใหญ่นี้ มีมูลนิธิทางการเมือง ซึ่งอยู่ใต้สังกัดของพรรคการเมืองที่มีจำนวนที่นั่ง ส.ส. ในสภาตามกำหนดไว้ในกฎหมาย ให้ทำหน้าที่นี้ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล

ซึ่งระบุไว้ชัดเจนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของเยอรมันด้วย จึงทำให้การให้การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในเยอรมันเติบใหญ่และต่อเนื่อง เกิดขึ้นทุกภาคส่วนทั่วทั้งประเทศ ก่อให้เกิดความสำเร็จอย่างกว้างขวาง

เมื่อรัฐบาลที่นำโดย คอนราด อาเดนาวร์ ประกาศในกลางทศวรรษ 1960 ว่า เยอรมันประสบความสำเร็จในแบบแผนที่วางไว้ คือการให้การศึกษาใหม่ (re-education) 

ในแนวทางการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง ซึ่งกลายเป็นเสาหลัก (pillar) สำคัญของความสำเร็จในการสร้างชาติเยอรมันใหม่ กระทั่งก่อให้เกิดการมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะของการเป็นพลเมืองใหม่ที่สามารถเข้าร่วมทางการเมืองได้อย่างมีวิจารณญาณ

คือพลเมืองเยอรมันมีความฉลาดทางการเมือง ที่จะไม่ถูกครอบงำและชี้นำจากอิทธิพลใดๆ ได้อีกต่อไป ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง อันส่งผลดีในทางเศรษฐกิจของชาวเยอรมันอีกด้วย

การประกาศความสำเร็จดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับปรากฏการณ์ความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจ ที่ประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ คือ ความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ที่เรียกว่า เศรษฐกิจมหัศจรรย์ (Economic Miracle) ได้แก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่พอกพูนอยู่ในระบบสังคมอุตสาหกรรมของเยอรมัน และยังกัดกร่อนศักยภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในหมู่ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน หรือกรรมกรทั่วไปอีกด้วย การออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่โดยใช้ข้อดีของแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ และอดัม สมิธ ที่เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม (Social Market Economy) 

จึงทำให้ได้ระบบเศรษฐกิจที่สร้างดุลยภาพระหว่างผลประโยชน์ของปัจเจกและสังคม นั่นคือ สังคมจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากระบบเศรษฐกิจ โดยที่ไม่ทำลายเสรีภาพของปัจเจกในการสร้างเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช่แบบรวมศูนย์ หรือเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี แต่เป็นการประสานแนวคิดเศรษฐกิจการตลาดด้วยการผนวกหลักการของเสรีภาพ (Principles of Freedom) ให้เข้ากับความเท่าเทียม (Social Equality) คือการปรับปรุงเงื่อนไขเศรษฐกิจการตลาดให้เกิดความสมดุลทางสังคม (Social Balance) ไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกต่อไป

เพราะเป็นระบบเศรษฐกิจผูกขาดและทำลายโอกาสการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของคนที่มีความสามารถจำนวนมาก การทำลายกำแพงการผูกขาดทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจึงทำให้โอกาสเปิดสำหรับการคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่ได้ถูกปลูกฝังไว้อย่างดีแล้วในพลเมืองรุ่นใหม่

จากระบบการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง ทำให้เกิดการปลดปล่อยพลังอันสร้างสรรค์ (creative energies) 

คนเยอรมันมีคุณภาพในการทำงานและสามารถสร้างงานได้ด้วยตนเองอีกมาก ทำให้ระบบเศรษฐกิจใหม่นี้ประกาศให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่เกิดขึ้นมามากมายว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ (SME is the Back Bone of the Country)

จึงไม่เป็นที่ประหลาดใจว่าการสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและระบบเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคมนั้น ต้องการพลเมืองที่มีศักยภาพและความสามารถที่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนในระบบใหม่ของประเทศ ทั้งประชาธิปไตยทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพต่อเนื่อง และเศรษฐกิจของประเทศมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งจากคนจำนวนมากของประเทศ การจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง

โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตยในระบบการศึกษา จึงเป็นเสาหลักสำคัญทำให้เยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทั้งความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจมั่นคง ต่อเนื่อง ซึ่งใช้เวลาเพียงทศวรรษครึ่ง คือ คนเยอรมันไม่ถูกครอบงำทางการเมือง มีเสรีภาพที่จะเลือกพรรคการเมืองอย่างมีวิจารณญาณด้วยจุดยืนทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของประเทศ คนเยอรมันไม่ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสังคม

เมื่อคนส่วนใหญ่ในตลาดงานอุตสาหกรรมที่เป็นกรรมกร เป็นชนชั้นผู้ใช้แรงงานขนาดใหญ่ที่ตกเป็นเบี้ยล่างของสังคมซึ่งยากจนได้เปลี่ยนสถานะทางสังคม มีความเท่าเทียม

เมื่อในอดีตนั้น ลูกหลานกรรมกรเมื่อเติบโตขึ้นก็ต้องเป็นกรรมกรเหมือนรุ่นพ่อแม่ แต่การศึกษาที่ทำให้คนมีคุณภาพ เป็นนายของตนเองในทางความคิด ได้ปลดปล่อยอิสรภาพของความเป็นมนุษย์ เป็นผู้สร้างความคิดใหม่ๆ และสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ซึ่งเกิดจากการศึกษาที่ให้อิสระทางความคิด ลงมือปฏิบัติและฝึกทักษะการแก้ปัญหาจนค้นพบทางออกใหม่ๆ ในตัวผู้เรียน และเป็นการเรียนรู้ที่ยึดโยงอยู่กับสังคมชุมชนของผู้เรียน ดังคำกล่าวที่ว่า

“การเรียนโดยไม่รู้จักคิดและลงมือปฏิบัติคือความสูญเปล่า”

ดังนั้น จากแนวคิดการศึกษาเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่า “การศึกษาที่สำคัญยิ่งไม่ได้อยู่แต่ในโรงเรียน หากแต่อยู่ในสังคมใหญ่รอบตัว” ด้วยการกล่อมเกลาด้วยการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในแบบของเยอรมันนี้ จึงทำให้ได้พลเมืองที่ทำหน้าที่อยู่ในทุกสาขาอาชีพอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงยิ่ง ซึ่งเป็นการศึกษาที่ทั้งขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ

และทำให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน และแม้แต่ทหารก็ยังเรียกว่า พลเมืองในเครื่องแบบ (Citizen in Uniform) คือทุกคนถูกสร้างมาให้เป็น “พลเมือง” ผ่านการศึกษาที่เสมอภาค

การสร้างคนด้วยการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองที่มีทั้งวิธีคิดและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนทั้งในระดับการเมือง ภาคเศรษฐกิจ และประชาชน จึงได้เห็นการปลดแอกชนชั้นทางสังคมในเยอรมัน คือกรรมกรไม่เป็นผู้ยากไร้ และหรือถูกกดขี่อีกต่อไป แต่เป็นชาวเยอรมันที่ได้รับการยกระดับสู่ความเท่าเทียม เป็นอิสระและได้รับความยุติธรรม

จากระบบการศึกษาที่ให้คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายเบื้องต้น (Basic Law) หรือรัฐธรรมนูญ คือ การจัดการศึกษาให้ฟรีที่มีคุณภาพและเท่าเทียมแก่ทุกคน และการพัฒนาคนเยอรมันให้มีคุณภาพที่เพียงพอแก่การขับเคลื่อนประเทศทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ

เราจึงได้เห็นนักการเมืองที่มีคุณภาพจากการพัฒนาพลเมืองของประเทศและได้ผู้นำทางการเมืองที่อยู่ในตำแหน่งยาวนาน 3-4 สมัย สร้างเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจมาต่อเนื่อง และเมื่อเยอรมันรวมชาติในปี 1990

ก็ยังใช้ระบบการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในการรวมชาติ ทำให้เยอรมันยิ่งมีความแข็งแกร่งจากการอุทิศตนของชาวเยอรมันตะวันตกที่ร่วมกันอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการเสียภาษีในอัตราที่สูงในการผนึกกันรวมชาติ และช่วยกันยกระดับความสามารถของชาวเยอรมันตะวันออกซึ่งยากจนและล้าหลัง หลังจากตกอยู่ในสังคมเผด็จการของลัทธิคอมมิวนิสต์ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เพื่อให้มีเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับชาวเยอรมันตะวันตก ความสำเร็จของชาวเยอรมันทั้งมวลยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น เมื่อเยอรมันกลายเป็นผู้นำในสหภาพยุโรป และกลายเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งที่ในเวลารวมเป็นสหภาพยุโรปนั้น เศรษฐกิจของยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหา แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของเยอรมันทั้งการรวมชาติที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญพื้นฐาน (Basic Law) ที่ร่างขึ้นและประกาศใช้ในปี 1949

นั้นคือความมุ่งมั่นที่จะเห็นเยอรมันกลับมารวมกันเป็นปึกแผ่น และวิสัยทัศน์ของคอนราด อาเดนาวร์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 3 สมัยติดต่อกัน และเป็นรัฐบุรุษ ที่ต้องการเห็นเยอรมันเป็นหนึ่งในยุโรปที่ได้รับการยอมรับ

วันนี้เยอรมันประสบความสำเร็จทุกด้าน และเสาหลักที่สำคัญในการปลดปล่อยชาวเยอรมันให้พบกับความรุ่งเรืองไม่รู้จบก็คือ การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education)

รูปธรรมความสำเร็จในการใช้การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศเยอรมัน จึงเป็นตัวอย่างที่สำคัญ และทำให้ประเทศต่างๆ

หันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาในแบบฉบับของเยอรมันภายหลังการรวมชาติ ที่ราบรื่น และใช้เวลาไม่นานภายหลังการรวมชาติ ก็ทำให้เยอรมันประสบความสำเร็จและมีเศรษฐกิจที่รุดหน้า โดยไม่ละทิ้งการพัฒนาคนเยอรมันให้เป็น “พลเมือง” ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติในทุกสาขาอาชีพ

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ภายหลังเยอรมันรวมชาติอีกครั้ง ในปี 1990 มีหลายประเทศได้มีการพลิกตัวปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างพลเมืองของตนให้ฉลาดคิด ฉลาดทำ และฉลาดที่จะรับผิดชอบต่อส่วนรวมทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั้งในยุโรป เอเชีย และแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา

กล่าวคือ ประเทศในสหภาพยุโรปได้เอาแบบอย่างการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองเข้าสู่ระบบการศึกษา และทำให้การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองแต่ละรัฐนั้นผนวกทิศทางให้สอดคล้องกับการรวมยุโรปให้เป็นเอกภาพซึ่งมีเยอรมันเป็นผู้นำ นั่นคือ การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย (Democratic Citizenship Education) ของยุโรป

คือ การสร้างความเป็นพลเมืองของสหภาพยุโรป (European Citizenship) ซึ่งประเทศในสหภาพยุโรปต้องนำไปดำเนินการ

ประเทศในเอเชียที่เผชิญกับการปกครองเผด็จการมานาน เช่น เกาหลีใต้ เมื่อนำพาประเทศสู่ประชาธิปไตยด้วยการปฏิรูปการเมืองในปี 1987 ก็มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองเพื่อประชาธิปไตย (Korea Civic Education Institute for Democracy – KOCEI) 

ขึ้นในปี 1990 เพื่อพัฒนาพลเมืองเกาหลีให้อยู่ในกระบวนการประชาธิปไตยอย่างมีวัฒนธรรม และเกาหลีใต้ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม จวบจนปัจจุบัน และเมื่อเกาหลีมีการเลือกตั้งการรณรงค์ให้ไปใช้สิทธิก็ใช้คำขวัญว่า

“การเลือกตั้งสวยงาม ประเทศเกาหลีเป็นสุข” (Beautiful Elections – Happy Korea)

 ประเทศเกาหลีใต้จึงมีเสถียรภาพทางการเมืองอมาอย่างต่อเนื่อง[2] จากการมีพลเมืองที่สร้างขึ้นอย่างมีคุณภาพ

ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการจัดตั้ง Civic Education Center ขึ้นเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองอเมริกัน (Americanization) ในสังคมที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นที่รวมอยู่ของความหลากหลายเชื้อชาติที่เข้าไปแสวงหาโอกาสและตั้งรกรากอยู่ในอเมริกา ความจำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้สึกผูกพันต่อชุมชน สังคม ประเทศ (Civic Engagement) ด้วยความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก จึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งเริ่มอย่างจริงจังภายหลังการรวมชาติเยอรมันนั่นเอง

ยิ่งกว่านั้น องค์กรระดับโลก เช่น องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ก็เห็นความสำคัญในเรื่องการศึกษาในแนวทางนี้เช่นกัน และได้วางเป้าหมายในเรื่องการศึกษาเพื่อลดความยากจนไว้เป็นอันดับต้นเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วย การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) ซึ่งสอดรับกับประสบการณ์การสร้างคนเพื่อลดความยากจนและเหลื่อมล้ำในสังคมเยอรมันด้วยการศึกษาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

ในปี 2004 UN จึงได้มีแนวทางปฏิบัติด้านการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education Practical Guidance Note) เพื่อลดความยากจน อีกทั้ง ในปลายทศวรรษ 2010 UN ก็ได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goal) ไว้หลายเรื่อง แต่เรื่องที่สำคัญสุดและเป็นอันดับแรกคือ การแก้ปัญหาความยากจน นี่จึงเป็นความพยายามของประชาคมโลกที่ยังตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมและความยากจน จึงต่างเล็งเห็นว่าการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อการสร้างพลเมืองของแต่ละรัฐ คือ การเตรียมความพร้อมคนให้เป็นพลเมืองผ่านระบบการศึกษาในทุกช่องทางด้วยกระบวนการประชาธิปไตย

ซึ่งมีนัยในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวมนุษย์อย่างรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อให้พลเมืองที่ถูกสร้างโดยระบบการศึกษาที่วางแนวไว้มีบทบาทและมีส่วนตั้งแต่ต้นในการสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

         สาระหลักที่ UN ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเพื่อลดความยากจนด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพ และเป็นการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) เช่นนี้ก็เพื่อให้การศึกษาในแนวทางนี้ได้เป็นเครื่องมือเสริมสร้างอำนาจที่มีประสิทธิภาพสำหรับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคมในทุกมิติของพลเมืองในกระบวนการประชาธิปไตยและการพัฒนาทั้งในทางปัจเจกและในการรวมกลุ่ม การมีส่วนร่วมของพลเมืองผ่านการบ่มเพาะและกล่อมเกลาด้วยกลไกการศึกษา ก็เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคน ทุกพื้นที่ ต่างอยู่ในสังคม และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ตนเป็นเจ้าของในการได้รับประโยชน์และมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งการศึกษาเช่นนี้ไม่ทำให้การศึกษาแยกตัวออกจากสังคม แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องการผู้ดูแลปกป้องสังคมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และทรัพยากรทางศีลธรรม (Moral resources) 

         การประกาศภารกิจเรื่องการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองสำหรับทุกคน (Civic Education for All) ของ UN ในปี 2004 เมื่อเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 (the Millennium Declaration and UNDP’s Mandate) โดยเน้นย้ำภารกิจที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยงและผู้ยากจน ซึ่งจำเป็นที่จะสร้างการเพิ่มโอกาสให้คนเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมได้รับประโยชน์ต่างๆ ของสังคมอย่างเท่าเทียม ซึ่งการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองนี้จะมีบทบาทและเป็นเสาหลักสำคัญในการลดความยากจน (fundamental pillar to reduce poverty)

Table of Contents

การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองกับการลดความยากจน (Civic Education and Poverty Reduction)

         การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองจึงเป็นสาระสำคัญที่มีเป้าหมายชัดเจนในการลดทอนความยากจนอย่างยั่งยืน (Sustained Poverty Reduction) และยังจะก่อให้เกิดความสำเร็จของการพัฒนาตามเป้าหมายในสหัสวรรษ (the Millennium Development Goals – MDGs) ซึ่งจะเป็นบททดสอบ (Test) 

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา (Developing Countries) ในการปฏิรูปทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ (Political and Economic Reforms) เพื่อปลดปล่อยพลังอันสร้างสรรค์ (creative energies) ของประชาชน และสำหรับประเทศที่พัฒนา (Developed Countries) แล้วทั้งหลาย ก็จะต้องสนับสนุนก้าวย่างนี้ด้วยความช่วยเหลือและพันธกิจใหม่ (Neo Aid and Commitments) การบรรเทาหนี้และกฎกติกาการค้าที่ไม่เท่าเทียม[3]   

         การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง จึงเป็นการปฏิรูป “คน” ทุกระบบของสังคมไม่เพียงในระบบการศึกษาปกติ แต่ต้องอยู่ในทุกช่องทางของการให้การศึกษาทั้งที่เป็นทางการ (Formal Education) และไม่เป็นทางการ (Non-formal Education) 

เพื่อให้เข้าใจถึงการมีอำนาจที่สร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นในตัวของพลเมือง การมีความรู้ที่เพียงพอ การมีทัศนะและการมีทักษะที่จำเป็นในการที่จะอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการสร้างพลเมืองใหม่ในบริบทของสังคมและการเมืองประชาธิปไตย

         องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้วางเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองเพื่อลดความยากจนและขจัดความเหลื่อมล้ำให้ได้ประสิทธิภาพ คือ

  1. ความเต็มใจของรัฐบาลที่จะเป็นศูนย์กลางอำนวยการให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาสู่การถกเถียงให้เป็นประเด็นร่วมทางการศึกษาของสังคม
  2. รัฐบาลไม่เพียงเป็นหุ้นส่วนในกรณีนี้ แต่หากเป็นผู้แสดงสำคัญในการมีอำนาจในการจัดการให้เกิดขึ้นได้
  3. ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเข้าสู่กระบวนการนี้ด้วย
  4. ต้องจัดหาและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการริเริ่มในเรื่อง “การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง” นี้ ให้นำไปสู่การปฏิบัติต่อเนื่องในระยะยาว

การศึกษาเช่นนี้ จึงทำให้ทุกๆ คนเติบโตเพื่อเป็นพลเมืองจากการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งมีระยะเวลายาวนานอย่างน้อยเกือบ 2 ทศวรรษ สำหรับการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นประชาธิปไตย

การใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบต่อผู้อื่นและสังคม การแสดงออก การวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ และการแบ่งปันความคิด ข้อมูลความรู้ต่างๆ โดยปราศจากอคติและการครอบงำ ชี้นำใดๆ จากระบบการศึกษาที่มีครูเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) และเป็นตัวแบบ (Role Model) ของทั้งสังคมและตัวผู้เรียน

การขจัดความยากจน เป้าหมายแรกของการศึกษาไทย

         เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปอยู่แล้วว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญและเป็นต้นทุนจำเป็นในการสร้างความมั่นคงของแต่ละปัจเจก และในภาพรวมของสังคม แต่สิ่งที่จำเป็นยิ่งกว่านั้น คือ “คุณภาพ” ที่อยู่ในการศึกษา ซึ่งจะมีผลต่อชีวิตของพลเมืองทุกคน

ซึ่งการลงทุนทางการศึกษาจึงไม่เพียงการใส่เม็ดเงินลงในระบบ แต่หากต้องการความคุ้มค่าที่คงทนและมีประสิทธิภาพให้เกิดผลิตภาพในความเป็นมนุษย์ของผู้เรียนที่จะสามารถดำรงอยู่ แก้ปัญหาได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคมไทยและสังคมโลก

         การศึกษาของประเทศไทย ได้ถูกหยิบยกให้ขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติหลายครั้ง คือการปฏิรูปการศึกษา ตั้งแต่ทศวรรษ 2540 และ 2550 จนกระทั่งภายหลังรัฐประหาร 2557 ก็มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา แต่ผลข้อมูลจากการวิจัยในงานสัมมนาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มองว่าการศึกษาไทยลงทุนมาก แต่คุณภาพยังไม่ถึงเป้าหมาย[4] 

“และเรายังเห็นปรากฏการณ์จริงของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งด้านโอกาสและคุณภาพ ซึ่งแน่นอน คือภาพของความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ที่เกิดขึ้นมาทั้งในอดีต ปัจจุบัน และจะยังรุนแรงเป็นปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองต่อไป หากยังไม่ได้รับการแก้ไขด้วยแนวคิดและวิธีการปฏิบัติที่ถูกทาง โดยเฉพาะในการเตรียมคนไทยเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน”

กับโลกสมัยใหม่ที่เป็นโลกของความรู้ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจฐานข้อมูล (data economy) ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเตรียมสร้างตั้งแต่เด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมืองผู้เป็นเจ้าของความคิด ความรู้ ประเด็นทางสังคมการเมือง และอนาคตของประเทศ

นั่นคือ การปฏิรูป ด้วยการบ่มเพาะผู้เรียนให้เป็นผู้ที่สามารถที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง พึ่งพาตนเองในการเรียนรู้ เพื่อให้ผลของการขจัดความไม่รู้ทางการศึกษาจะนำไปสู่การขจัดความยากจน ซึ่งเป็นเป้าหมายของการศึกษาของทั้งโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย

         โดยตามปกติ ระบบการศึกษาไทยให้ความสำคัญกับการสร้างคนให้เก่งในทางวิชาชีพและวิชาการ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดเศรษฐกิจที่อยู่ทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งการเรียนการสอนตามหลักสูตรโดยทั่วไปยึดหลัก

“ผู้สอนเป็นศูนย์กลาง” จึงมีลักษณะของการผูกขาดทั้งความรู้ ความคิด และประสบการณ์ของผู้สอน ที่จะถ่ายทอดลงสู่ผู้เรียน จึงทำให้สภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ขาดการปฏิสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการถกเถียง ขาดอิสรภาพทางความคิดที่จะนำไปสู่การคิดวิเคราะห์และหาทางออกร่วมกัน

การศึกษาไทยจึงครอบงำทั้งความรู้และความคิดจากครูสู่ผู้เรียน จากผู้ใหญ่สู่ตัวเด็ก ซึ่งสะท้อนการจำกัดพลังอันมากล้นของเด็กและเยาวชน ที่จะแสดงออกมาอย่างสร้างสรรค์ อันจะก่อให้เกิดการค้นพบสิ่งใหม่ๆ

จากตัวผู้เรียน เกิดความมั่นใจและความภูมิใจในตัวเองที่จะมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดจากการค้นพบตัวตนของตนเองในแต่ละวัน และแต่ละช่วงวัย ซึ่งควรเป็นพัฒนาการของการหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ที่จะเติบโตทางความคิด ความรู้ และประสบการณ์ของผู้เรียนเอง มากกว่าจำจากครูเพื่อไปสอบ และเมื่อจบการศึกษาไปแล้วก็จำอะไรไม่ได้ และไม่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง 

         นอกจากนี้ การเรียนการสอนตามระบบการศึกษาไทยยังให้ความสำคัญกับคะแนนมากกว่าตัวความรู้ที่นำไปสู่ประสบการณ์จริง เด็กและเยาวชนไทยจึงสูญเสียเวลาไปกับค่านิยมที่ต้องเรียนให้ได้คะแนนสูงๆ เพื่อที่จะได้เรียนสูงๆ และสำเร็จการศึกษาดีๆ มีงาน มีเงินมากๆ

การบ่มเพาะเช่นนี้จึงทำให้เป็นการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นเร็วและมากมาย ความรู้ที่เกิดในห้องเรียนจึงกลายเป็นเพียงข้อมูลเก่าที่ล้าหลัง ขณะที่ผู้จบการศึกษาก็ล้าหลัง ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในทางสังคม ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ยิ่งกว่านั้น การเรียนการสอนที่ไม่ยึดโยงกับสังคมนอกห้องเรียน จึงทำให้ผู้เรียนขาดการปฏิสัมพันธ์กับสังคม ไม่เข้าใจและไม่มีชุดความรู้และข้อมูลที่ถูกต้อง ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในสังคมใหญ่นอกห้องเรียน ไม่รู้จักบริบทของสังคมตนและสังคมโลก

ผู้เรียนจึงถูกตัดขาดจากสังคมทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งที่โรงเรียนเป็นสังคมจำลองจากสังคมใหญ่ที่ระบบการศึกษาจะต้องคอยป้อนและหล่อหลอมให้ผู้เรียนเข้าใจ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคม

กระทั่งรู้และเข้าใจจนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขตั้งแต่ระดับชุมชนหมู่บ้าน และสังคมรอบตัวได้ จากการศึกษาไทยเน้นสนองต่อประโยชน์ของปัจเจกและละเลยประโยชน์ของสังคม การบ่มเพาะเช่นนี้ จึงทำให้คนไทยขาดจิตสำนึกต่อสังคม (Social Consciousness)

         ความล้าหลังในวิธีคิดและการปฏิบัติของระบบการศึกษาดังที่เป็นอยู่ จึงเป็นระบบการศึกษาที่ อาจกล่าวได้ว่า มีแต่ความล้าหลังและไร้คุณภาพ สร้างการแข่งขันที่เห็นแก่ตัว ซึ่งเกิดจากระบบอำนาจนิยมและเผด็จการทางความคิดในระบบการศึกษา

ซึ่งอยู่ในขั้วตรงข้ามกับกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งมีค่านิยมที่การแบ่งปันคุณค่าของความเป็นมนุษย์และความรับผิดชอบ ระบบการศึกษาเช่นนี้จึงยังสร้างความยากจนและความเลื่อมล้ำไม่สิ้นสุด

เพราะผลิตภาพของทรัพยากรมนุษย์ไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ของสังคมนอกโรงเรียนได้ ซึ่งไม่ว่าภาครัฐหรือธุรกิจล้วนต้องการทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ กล้าคิดริเริ่ม รับผิดชอบสูงและสามารถลงมือปฏิบัติได้ กระทั่งสามารถพึ่งพาตนเองและแก้ปัญหาได้

         การจะเป็นเช่นนี้ได้ ระบบการศึกษาจำเป็นที่จะต้องสร้างแนวคิดและกระบวนการจัดการเรียนรู้ใหม่ให้เป็นทั้งเครื่องมือและเป็นสิ่งแวดล้อมใหม่ของผู้เรียน ทำให้ห้องเรียนเป็นที่ๆ จะหล่อหลอมผู้เรียนให้เกิดความรู้จากการเป็นผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก ตั้งคำถาม และแสดงเหตุผลในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อให้ผู้เรียนกล้าคิด กล้าแสดงออก อย่างมีเหตุผล และกล้าที่จะประดิษฐ์คิดค้นตามความคิดและจินตนาการ และอยู่ในศีลธรรมของความเป็นมนุษย์

อันเป็นเสรีภาพที่จะสร้างการเติบโตอย่างมีวุฒิภาวะ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ และทำให้ผู้เรียนมีความมั่นใจและภูมิใจเมื่อได้รับการยอมรับในสิ่งที่คิดและทำจากการใช้เสรีภาพอย่างสร้างสรรค์ และจะเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้เรียน และสังคมประเทศชาติในอนาคต เพราะเราได้สร้างนักคิด ผู้นำ และนักประชาธิปไตยไว้ตั้งแต่เด็กไปจนโต ซึ่งจะช่วยให้เขาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีวิจารณญาณและรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจ เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพในทางธุรกิจและเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมได้จากความสามารถและความคิดริเริ่มของเขาเอง

         การใช้กระบวนการประชาธิปไตยในโรงเรียน จึงเป็นต้นทางของการปลดปล่อยให้ผู้เรียนมีอิสรภาพที่จะกล้าคิด กล้าแสดงออกอย่างมีเหตุผล ผู้เรียนจึงควรเป็น “ศูนย์กลาง” ของการศึกษาเรียนรู้และเป็นเครื่องมือให้เขาได้พบศักยภาพใหม่ๆ ในตัวของเขาเอง ซึ่งจะเป็นหน่ออ่อนของการสร้างนักคิดและนักวิทยาศาสตร์ที่สังคมไทยขาดแคลน

อันเป็นต้นทุนของการพัฒนาและวิจัย ซึ่งควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนที่จะนำไปสู่ความรู้อีกมากมาย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเศรษฐกิจ นวัตกรรมในระยะยาว ซึ่งการฝึกฝนเช่นนี้ผู้เรียนจะไม่ถูกครอบงำจากการสอนในวิธีเก่าๆ ที่ล้าหลังและปิดกันอิสรภาพของพลังอันสร้างสรรค์ที่เปี่ยมล้นของเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป

การศึกษา คือ โอกาสที่เท่าเทียมระหว่างเมืองและระหว่างภูมิภาค

         แม้ว่ารัฐจะระบุให้มีการจัดการศึกษา และการจัดกองทุนเพื่อช่วยเหลือทางการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ด้วยงบประมาณที่สูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ มาอย่างต่อเนื่องหลายรัฐบาลแล้ว แต่การบริหารการศึกษาที่มุ่งเน้นในส่วนกลาง และให้ความสำคัญกับเมืองหลวง เมืองใหญ่เป็นสำคัญ

นี่จึงเป็นประเด็นของการรวมศูนย์อำนาจในการใช้ทรัพยากรทั้งหมดของประเทศอันเป็นปัญหารากฐานในการแบ่งสรรทรัพยากรในการพัฒนาประเทศ ที่ได้สร้างความยากจนและเหลื่อมล้ำมาตั้งแต่แรกเริ่มแผนพัฒนาชาติ ซึ่งมีการนำเอาทรัพยากรของประเทศส่วนใหญ่ไปลงที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ทั้งในการเงินและทรัพยากรคน 

ในระบบการศึกษาก็เป็นไปเพื่อผลิตคนรับใช้ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และภาคราชการเป็นหลักใหญ่ 

ฉะนั้น ระบบการศึกษาของไทยก็เท่ากับว่าเอาทรัพยากรคนในชนบท ดึงเอาส่วนที่ดีที่สุดมา แทนที่จะสร้างส่วนที่ดีที่สุดเพื่อรับใช้ชนบท ก็เอามารับใช้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและราชการมากกว่า ทำให้ชนบทเสียเปรียบและถูกละเลยในการพัฒนาทำให้ภาคชนบทอ่อนแอ

เพราะทรัพยากรถูกแบ่งมาที่เมือง และทุ่มไปที่อุตสาหกรรม ไม่ใช่ภาคเกษตรและชนบท คนในชนบทจึงไม่มีอำนาจต่อรอง ภาคชนบทจึงขาดทรัพยากรคนที่มีความรู้และความสามารถ ทำให้ภาคชนบทและภาคเกษตรกลายเป็นภาคของคนยากจน

         การศึกษาจึงต้องออกแบบเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่นอกเมืองหลวงและเมืองใหญ่ ที่อยู่ในภาคเกษตรและแรงงานในอุตสาหกรรมที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ โดยจัดและออกแบบให้เป็นระบบการศึกษาที่สนองความต้องการของส่วนภูมิภาคและภาคชนบท เป็นการศึกษาที่สร้างคนให้สามารถทำงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ในชนบท

โดยการศึกษาต้องมีเป้าหมายที่จะมุ่งเป็นการศึกษาสำหรับส่วนภูมิภาคอย่างแท้จริง เพราะแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน ระบบการศึกษาของประเทศจะต้องมีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามสภาพภูมิประเทศ และทรัพยากร-ธรรมชาติ

รวมทั้งวัฒนธรรมต่างๆ ของแต่ละภูมิภาคซึ่งไม่เหมือนกัน เพื่อให้การศึกษาเป็นองค์รวมของการพัฒนาให้ชุมชนแต่ละพื้นที่สามารถที่จะมีฐานของความสามารถในการพึ่งตนเองอย่างแท้จริง 

การพึ่งตนเองได้ของคนชนบทจะทำให้เขาเป็นอิสระในทางเศรษฐกิจและปลอดจากการครอบงำและถูกเอาเปรียบจากคนภายนอกโดยเฉพาะ การถูกครอบงำจากเมืองใหญ่ หรือเป็นอาณานิคมของเมืองใหญ่

การจัดการศึกษาจึงมุ่งที่ลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองอีกด้วย คือ การศึกษาที่มุ่งสร้างโอกาสที่เท่าเทียมระหว่างเมืองและระหว่างภูมิภาค

การจัดการศึกษาแบบใหม่จึงควรนำเอาเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และคนจากเมืองใหญ่ได้มีส่วนไปช่วยคนชนบทพัฒนา จากความรู้ที่แตกต่างเพื่อเป็นการพัฒนาชาติให้ไปด้วยกัน

จะทำให้คนในทุกภูมิภาคมีความสามารถที่จะพัฒนาตนเองในการสร้างงานและพึ่งตนเอง ทำให้ชนบทสามารถรักษาระบบครอบครัวของตนเองได้ รักษาชุมชนท้องถิ่นตัวเองได้ไม่ต้องแยกย้าย อพยพหรือทิ้งบ้านทิ้งเรือนไปเหมือนที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

หากทำได้เช่นนี้ ชนบทที่กล้าแกร่งก็จะมีกำลังเงินซื้อ การพัฒนาชนบท ชุมชนท้องถิ่น ก็จะเป็นฐานที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้พัฒนาก้าวหน้า พึ่งตนเอง เพราะสามารถพึ่งตลาดภายในประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่สร้างคนในชุมชนท้องถิ่น

จึงทำให้เราต้องพึ่งตลาดภายนอก เน้นการส่งออก เพราะกำลังซื้อภายในมันขาด การพัฒนาในชุมชนท้องถิ่นจะเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดเล็ก อุตสาหกรรมครัวเรือนมากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ๆ ให้กระจายและขยายตัวให้มากและเร็วขึ้น

และจะเป็นการเพิ่มผู้ประกอบการในระดับฐานรากชุมชนท้องถิ่น มากกว่าจะเป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งสร้างคนไปเป็นแรงงานราคาถูก

ซึ่งประชากรส่วนใหญ่จากภาคเกษตรก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานไปหมด ไม่ว่าจะถูกจ้างในเมืองหรือในท้องถิ่น สร้างสภาพความเหลื่อมล้ำและยากจนไม่จบสิ้น

ซึ่งเป็นทิศทางในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ๆ ให้กระจายและขยายตัวให้มากและเร็วขึ้น และจะเป็นการเพิ่มผู้ประกอบการในระดับฐานรากชุมชนท้องถิ่น มากกว่าจะเป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งสร้างคนไปเป็นแรงงานราคาถูก ซึ่งประชากรส่วนใหญ่จากภาคเกษตรก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานไปหมด ไม่ว่าจะถูกจ้างในเมืองหรือในท้องถิ่น สร้างสภาพความเหลื่อมล้ำและยากจนไม่จบสิ้น

         เข็มมุ่งของการจัดการศึกษา จึงควรเป็นไปในทิศทางของการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ที่จะปลดปล่อยให้หลุดพ้นจากการครอบงำทางความรู้และทางเศรษฐกิจเพื่อให้มนุษย์ได้ดำรงชีพอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ไม่ใช่การศึกษาที่ลดทอนความเป็นมนุษย์

แนวทางการจัดการศึกษา ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ

1) การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปคนให้มีความเป็นพลเมือง 

ที่มีค่านิยมเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค และความยุติธรรม ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองนี้จะช่วยทำให้ผู้เรียนมีความรู้ มีทักษะ และมีความรับผิดชอบที่พร้อมพอสำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทุกมิติของสังคม ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง

อย่างรู้เท่าทันต่อระบบการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นการยกระดับคุณภาพคนให้มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมและความยุติธรรม มีความรู้และเข้าใจในสังคมของตน และความเป็นไปของโลก เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 

การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองจึงยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักก่อนส่วนตน การศึกษาในแนวนี้จะทำให้คนมีสำนึกในความเป็นเจ้าของท้องถิ่นตนและประเทศชาติที่พร้อมจะปกป้อง และเนื่องด้วยการศึกษานี้เน้นการปลดปล่อยจากการครอบงำและชี้นำ ทั้งจากอำนาจรัฐและกระแสสังคม 

ก็จะช่วยเป็นช่องทางให้ผู้เรียนได้แสวงหาความคิด การค้นคว้า การประดิษฐ์คิดค้น เพื่อให้เกิดปัญญาในการพึ่งตนเอง จึงเป็นการส่งเสริมเสรีภาพที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ซึ่งจะทำให้สร้างประโยชน์ในระดับชุมชนท้องถิ่น จนถึงระดับชาติได้

เพราะคนเหล่านี้จะสามารถรังสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำลงไปได้มาก จากความสามารถของพลเมืองเอง

2) การศึกษาฟรี มีคุณภาพถ้วนหน้าสำหรับเด็กทุกคน 

คือ การสร้างกลไกเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติ เด็กพิการ เด็กพิเศษ รัฐต้องทุ่มเทจริงจังให้เด็กทุกคนได้รับความสะดวกและให้ความพร้อมที่จะอยู่ในระบบการศึกษาให้นานที่สุด เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ ความสามารถ และวุฒิภาวะที่จะพึ่งพาตนเองและรับผิดชอบต่อสังคมได้

เด็กทุกคนต้องได้เรียนฟรีในทุกโอกาส และสถานที่ที่เด็กอยู่เป็นการเรียนฟรีที่มีคุณภาพตามรัฐธรรมนูญที่รับรองไว้ แต่ในความเป็นจริง เด็กหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก เพราะการศึกษาไม่ฟรีจริง ซ้ำยังขาดคุณภาพ ซึ่งผู้ยากจน ด้อยโอกาส ขาดความพร้อม เช่น เสื้อผ้า เครื่องเขียน การเดินทาง และอาหาร เป็นต้น 

3) การจัดการศึกษาบนหลักแห่งการกระทำที่ทัดเทียมกัน (Equalization System) หรือเสมอภาคกัน 

เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคน หรือพื้นที่ที่ยังอ่อนแอ หรือล้าหลังให้ตั้งตัว ตั้งไข่เพื่อคงอยู่และแข่งขันได้ หรือพัฒนาขึ้นมาให้ทัดเทียมกับกลุ่มคนหรือพื้นที่อื่นๆ ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ โดยนัยนี้ รวมถึงความเจริญก้าวหน้าหรือความเจริญของเมืองให้ใกล้เคียงกัน โดยมิให้เมืองต่างๆ เกิดความเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน

ไม่ว่าจะเป็นขนาดของเมือง ทั้งในแง่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง การคมนาคม ไฟฟ้า ประชากร ความเป็นอยู่ รายได้ และการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น การพัฒนาเมืองในแนวทางนี้จะเอื้อต่อการจัดการศึกษาในระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่นให้มีระดับทัดเทียมแต่ละเมือง ไม่เกิดช่องว่างทางการศึกษาและเศรษฐกิจ

4) การจัดการศึกษาควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่นเป็นสำคัญ 

การจัดการศึกษาจึงต้องการการออกแบบที่สนองตอบต่อความต้องการของพื้นที่เป็นสำคัญ คือ การศึกษาเพื่อท้องถิ่นสำหรับแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกัน เพื่อตระหนักในศักดิ์ศรี คุณค่า และอัตลักษณ์ของความเป็นมนุษย์ในทุกพื้นที่ที่จะทำให้คนในทุกๆ ที่ได้บรรลุถึงศักยภาพ และความสามารถที่จะปกครองตนเอง และจัดการตนเองได้

การศึกษาจึงควรเป็นไปตามสภาพภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้คนในชุมชนท้องถิ่นได้มีสถานที่เรียนที่เพียงพอ และได้เรียนตามภูมิสังคมของตนเอง และยึดโยงกับชุมชนของตน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการพัฒนาความสามารถที่เพิ่มมากขึ้นต่อไปได้ การศึกษาเช่นนี้จึงรักษาภูมิปัญญา อัตลักษณ์ และความแข็งแกร่งของพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศไว้ได้ โดยที่คนในท้องถิ่นต่างๆ ไม่ต้องอพยพไปเรียนในเมืองใหญ่ที่ห่างไกล และยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรส่วนตนมากขึ้น และทำให้เสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงการศึกษา หรือ ไม่สามารถที่จะอยู่ในการศึกษาอย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความยากจนและความเหลื่อมล้ำมากขึ้น การศึกษาเพื่อท้องถิ่น

ยังเป็นการรักษาความเป็นมาของท้องถิ่นที่มีที่มาทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ และภูมิศาสตร์ที่มั่นคง มีทุนทางสังคมที่มีความต่อเนื่อง คือมีการพัฒนาและปรับตัวในท้องถิ่น (Localization) ไม่ถูกกลืนสลายหายไปกับโลกสมัยใหม่ที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์ (Globalization)

5) การปฏิรูปครู คือ การปฏิรูปการศึกษาในการผลิตสร้างครูทั้งระบบ 

เนื่องจากครูคือต้นทางและตัวแบบ (Role Model) ของเด็กๆ และเยาวชนในระบบการศึกษา ที่รัฐมอบบทบาทให้ทำการกล่อมเกลาเยาวชนของชาติ ผ่านกระทรวงศึกษาธิการด้วยงบประมาณที่สูง และบุคลากรจำนวนมากที่ทำหน้าที่สนับสนุน กำกับ และควบคุมทิศทางการศึกษาที่ส่งลงไปที่ตัวเด็กในสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของเด็กว่ามีคุณภาพมากน้อยเพียงใด

เพราะเด็กและคนไทย คือผลผลิตทางการศึกษาที่รัฐจัดทำ ด้วยเหตุผลนี้ จำเป็นที่จะต้องปฏิรูปที่ตัวหลักสูตร การเรียนการสอนของครู เพื่อสร้างครูที่มีคุณภาพ เพื่อไปสร้างเด็กที่มีคุณภาพ สร้างการศึกษาที่มีคุณภาพให้เยาวชนสามารถที่จะมีความคิดริเริ่ม กล้าสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ และปรับตัวแก้ปัญหาร่วมกับสังคมได้ ไม่ใช่การศึกษาในแบบเดิมที่ต้องจำตามครูบอก คือสอนให้จำแล้วนำไปสอบ

แต่เปลี่ยนไปทางคุณภาพ คือ สอนให้ทำ นำให้คิด รู้จักดัดแปลงจึงจะปลดปล่อยทั้งครูและเด็กไทยให้หลุดจากการจองจำของระบบการศึกษาที่ผ่านมาและเป็นอยู่ ซึ่งเป็นระบบเผด็จการและอำนาจนิยมที่แฝงฝังอยู่ในการศึกษาไทย การปฏิรูปครูจึงเป็นการปลดปล่อย (decolonize) 

อาณานิคมทางจิตวิญญาณของครูที่เคยขึ้นกับระบบความคิดเดิม แต่ระบบการศึกษาต้องการความเป็นอิสระ และเป็นที่ฝึกฝนการใข้เสรีภาพในการแสดงออก การใช้ความคิด อย่างมีวิจารณญาณ มีเหตุผล จนเป็นวัฒนธรรมของสังคม

6) การพัฒนาการเรียนการสอนเสริมด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่สภาพพื้นที่ของผู้เรียน นอกจากการสอนในแบบปกติ (Offline) 

ซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบการสอนผ่าน TV ทางไกล การสอนผ่าน Online อันเนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ทั้งในพื้นที่ห่างไกล ครูขาดแคลน หรือเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ต่างๆ เหล่านี้ และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ระบบ internet (digital divide) และไฟฟ้าไม่ทั่วถึงก็ไม่เป็นข้อปิดกั้นโอกาสและสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และเสมอภาคกัน

โดยเฉพาะเมื่อจำนวนเด็กลดลง ทั้งจากโดยการเกิด และการย้ายถิ่นของพ่อแม่ รัฐก็มีหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษาให้ถึงเด็กทุกคนถ้วนหน้า แม้ในพื้นที่ห่างไกล โดยไม่จำเป็นต้องยุบโรงเรียนในชุมชนหมู่บ้าน

เพราะโรงเรียนเป็นสัญลักษณ์ของการศึกษาที่ทำให้คนเจริญงอกงาม (Education is Growth) การยุบโรงเรียนคือการลดทอนความสำคัญการศึกษาของท้องถิ่น รวมทั้งคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย

การสร้างการศึกษาในแนวทางที่จะลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างคนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถที่จะพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ และร่วมรับผิดชอบกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเมืองอย่างต่อเนื่อง

จำเป็นต้องลงทุนไม่เพียงด้วยงบประมาณ หากแต่ต้องลงแรงด้วยเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ของนักการเมือง ผู้นำทางการเมือง และรัฐบาล ร่วมด้วยเป็นสำคัญ เราจึงจะเห็นการพึ่งตนเองและเป็นอิสระได้ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของพลเมืองไทย 

การศึกษาในแนวทางใหม่จึงไม่เพียงสร้างให้ผู้เรียนเก่งในทางวิชาชีพและวิชาการเท่านั้น แต่หากยังจำเป็นต้องสร้างความเป็นพลเมืองร่วมด้วย เพื่อให้เกิดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ไม่เป็นเพียงคนเก่งและมีความสามารถในการหาประโยชน์ใส่ตัวแต่ลำพัง

หากแต่ต้องมีคุณลักษณะของความเป็นพลเมืองที่พร้อมที่จะลุกขึ้นมาปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติ และรู้จักแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างอารยะ (civilized conflict) เพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (solidarity) ในการรู้รัก สามัคคี ในการรักษาสังคมให้มั่นคงและให้การเมืองมีเสถียรภาพ

ซึ่งจะยังผลให้เศรษฐกิจไทยมีความก้าวหน้าต่อไปได้ด้วยพลังจากการสร้างพลเมืองใหม่ด้วยการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในแนวทางประชาธิปไตย

บรรณานุกรม

เกษม วัฒนชัย. ปาฐกถาพิเศษ การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตอย่างยั่งยืน, นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2549.

โกวิทย์ พวงงาม. มองมุมใหม่การบริหารท้องถิ่น ประสบการณ์เรียนรู้จากต่างประเทศสู่ไทย, 
(พิมพ์ครั้งที่ 2), กรุงเทพ: เสมาธรรม, 2556.  

ทวี แจ่มจำรัส. “การปรับปรุงคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือช่วยเหลือกัน”มติชน กรอบบ่าย, 18 มีนาคม 2564.

ทิพย์พาพร ตันติสุนทร. การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา, 2558.

ทิพย์พาพร ตันติสุนทร. ไปดู Civic Education ที่เยอรมัน. กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา, 2554.

ทิพย์พาพร ตันติสุนทร. พลเมือง สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา, 2558.

นักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 7 (พตส.7). รายงานประกอบการศึกษาดูงานต่างประเทศ, สาธารณรัฐเกาหลี. ระหว่างวันที่ 8-15 เมษายน 2559.

รายงานพิเศษ กสศ.รายงานความเหลื่อมล้ำภาคเรียนที่ 2/2563 ชี้โควิด-19 ยังส่งผลกระทบครัวเรือน”, สยามรัฐ, 18 มีนาคม 2564.

วิชัย ตันศิริ ชัยอนันต์ สมุทวณิช Canan Atilgan และทิพย์พาพร ตันติสุนทร. แนวทางการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย Civic Education. กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา, 2557.

สังศิต พิริยะรังสรรค์ และคณะ. สังคมธรรมาธิปไตย. ปทุมธานี : สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยรังสิต, 2560.

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. กฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี. กรุงเทพฯ : บริษัท พี.เพรส จำกัด, 2551.

Judith V. Torney, A. N. Oppenheim and Russell F. Farnen. Civic Education in Ten Countries. Stockholm : Almqvist & Wiksell International, 1975.

United Nations Development Programme Bureau for Development Policy Democratic Governance Group. Civic Education Practical Guidance Note. UNDP. April 2004.

Viola B. Georgi (ed.). The Making of Citizens in Europe: New Perspectives on Citizenship Education. Bonn : bpb Bundeszentrale für politische Bildung , 2008.


[1] ผู้อำนวยการ สถาบันนโยบายศึกษา

[2] นักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 7 (พตส.7). รายงานประกอบการศึกษาดูงานต่างประเทศ, สาธารณรัฐเกาหลี. ระหว่างวันที่ 8-15 เมษายน 2559, หน้า 16-17.

[3] United Nations Development Programme Bureau for Development Policy Democratic Governance Group. Civic Education Practical Guidance Note. UNDP,  p.6.

[4]  “การปรับปรุงคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน”. หนังสือพิมพ์มติชน, 18 มีนาคม 2564.