ประเมินการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยพิจารณาจากรายงานของรัฐบาล เมื่อสิ้นปี 2563 ในภาพรวมมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 เศรษฐกิจและการแข่งขันในโลกใบนี้ ทำให้เราไม่อาจยืนอยู่กับที่หรือดำเนินไปแบบเรื่อยเปื่อย
เพราะว่า การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี การแข่งขันทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมทางสังคม บทบาทการเมืองระหว่างประเทศ พลังของข้อมูลข่าวสาร การเรียนรู้ ความเชื่อ แบบแผนและวิถีการดำเนินชีวิตของพลเมืองทั่วโลก ทำให้ทุกประเทศต้องปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่ มีบางประเทศที่สะดุดล้มคว่ำลงไป บางประเทศสามารถทะยานขึ้น หลายประเทศทรงตัวอยู่ด้วยความยากลำบาก.
เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด 19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทุกประเทศในโลก ทำให้สถานภาพและลำดับความสามารถในกระดานการแข่งขันของประเทศทั่วโลกเปลี่ยนไป และจะเปลี่ยนโฉมมากยิ่งขึ้นไปอีกตามปัจจัยความสามารถในการฟื้นคืนสภาพ (resilient) และสมรรถนะการบริหารจัดการปัญหาภายในของแต่ละประเทศในอนาคต
ประเด็นที่ 2. ความท้าทายในอนาคตระยะใกล้
มีประเด็นปัญหาอุปสรรคที่ควรกล่าวถึง อย่างน้อย 5 เรื่อง ได้แก่ 1) โรคอุบัติใหม่ ในขณะที่โควิดยังไม่เบาบาง มีความเสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่อื่น รอจ่อคิวอยู่ 2) การตลาดเชิงรุกที่ทุกประเทศต้องเร่งประชันขันแข่ง 3) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย ถ่วงรั้งขีดความสามารถของประเทศ 4) การสร้างและรักษามาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าและบริการ 5) แผนการจัดการทรัพยากรคนและแผ่นดินเพื่อรองรับสถานการณ์แนวโน้มที่อยู่ข้างหน้า
มีปัญหาท้าทายสำหรับปี 2564/2565 ทีควรกล่าวถึงอย่างน้อย 5 เรื่อง คือ 1) ประเด็นประสิทธิภาพและผลิตภาพของเราที่ลดลง 2) การที่ประเทศยังขาดนวัตกรรมและงานวิจัยที่ตอบโจทย์ 3) ปัญหาโรคอุบติใหม่และภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยแล้งและภาวะโลกร้อน 4) ปัญหาการกระจุกตัวของความเจริญในบางพื้นที่ และความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาที่ถ่างขยาย 5) ปัญหาหนี้สินครัวเรือนและหนี้ส่วนบุคคลที่อยู่ในระดับที่สูง
ในขณะเดียวกัน ปัญหาที่โลกปั่นป่วนผันผวน หรือ VUCA World จากปัจจัยหลายด้านที่ควบคุมได้ยาก ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตา เรียนรู้และปรับตัวอย่างทันสถานการณ์ เช่น ด้านเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคดิจิทัล พลวัตรของสังคมสูงวัย แนวโน้มความเป็นเมือง ปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อม และอิทธิพลจากนโยบายการเมืองและความร่วมมือระหว่างประเทศ.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 8 ก.ย. 2564