“ ปฏิรูปโรงเรียนขนาดเล็ก ในวิถีร่วมพัฒนา ” รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 128)

ในขณะที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. กำลังถกกันเรื่องทางออกทางเลือกสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 15,000 แห่ง ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ว่าควรเป็นเช่นไร

คณะทำงานแก้ปัญหาความยากจน ชุดเล็กๆ ของเราได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียนขนาดเล็ก 2 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ตามนโยบาย Sand Box ที่รัฐบาลมอบหมายให้คุณมีชัย วีระไวทยะ เป็นแม่งาน มาตั้งแต่ปี 2561

“ ปฏิรูปโรงเรียนขนาดเล็ก ในวิถีร่วมพัฒนา ” รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 128)

โรงเรียนบ้านสันดาบ สมุทรสาคร

โรงเรียนบ้านสันดาบ ตั้งอยู่ที่ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2496 เป็นโรงเรียนขนาดเล็กสังกัด สพฐ. สอนชั้นอนุบาล 1 ถึง ป. 6  ปัจจุบันมีนักเรียน 75 คน ครู 10 คน ประกอบด้วย ผอ. 1, ครูประจำการ 4, ครูผู้ช่วย 1, และครูอัตราจ้าง 4 คน ในจำนวนนี้ จ้างโดย อบจ. 3 คนและโดยโรงงานสินสาคร 1 คน

สภาพทั่วไป เป็นโรงเรียน สพฐ.ขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ท่ามกลางเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ทำรายได้เข้าประเทศมากที่สุดในอันดับต้น รายรอบไปด้วยความเจริญในทางวัตถุ อีกทั้งมีโรงเรียนและสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงมากมายเป็นทางเลือกสำหรับครอบครัวที่มีฐานะ  

แต่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมทางสังคมแบบนี้ ยังมีครอบครัวของผู้ใช้แรงงานและชุมชนที่ยากจนอาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายขอบและบุกรุกเข้าไปอยู่อาศัยในเขตป่าชายเลนอีกมาก นักเรียนส่วนใหญ่จึงมาจากครอบครัวที่ยากจน ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน รวมถึงงบดูแลด้านอาหารกลางวัน

โรงเรียนบ้านสันดาบเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโรงเรียนไอซียูของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อแก้ไขปัญหาโรงเรียนที่ขาดโอกาส เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ มุ่งให้ความช่วยเหลือและพัฒนาโรงเรียนที่ขาดความพร้อมและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ตามสภาพปัญหาของโรงเรียน จากวิกฤติ 6 ด้านคือ ด้านกายภาพ อาคาร ห้องเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน  ด้านคุณภาพ มาตรฐานการศึกษา ด้านบุคลากร ครูผู้สอน ประสิทธิภาพ ด้านบริหารจัดการ การสอน อบรมและพัฒนา ด้านโอกาสทางการศึกษา ฐานะของครู นักเรียน ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สถานที่ตั้ง ยาเสพติด อบายมุข 

ปัจจุบันได้มีภาคเอกชนหลายส่วนเข้ามาช่วยเหลือดูแล โดยเฉพาะเมื่อโรงเรียนได้ตัดสินใจเข้าร่วม “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” มุ่งเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน เตรียมสมรรถนะเพื่ออนาคตเด็กนักเรียนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ปกครองไปด้วยกัน 

คณะครูทุกคนได้ผ่านการอบรมทุกหลักสูตรตามโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มีการทำแปลงเกษตรขจัดความยากจน ทั้งปลูกพืชที่เน้นการปลูกพืชในกระถาง ใช้พื้นที่น้อย ใช้น้ำน้อย  ใช้แรงน้อย เลี้ยงสัตว์ แปรรูป ค้าขาย มีฐานการเรียนรู้รวม 6 ฐาน โดยโรงงานและชุมชนกลายเป็นตลาดสำหรับขายผลผลิตและผลิตภัณฑ์อาหารแปรูปของโรงเรียน

นักเรียนมีโอกาสไปเรียนรู้นอกห้องเรียนและศึกษาดูงานธุรกิจชุมชนนอกสถานที่  ดึงความร่วมมือจากโรงงานมาจัดอีเว้นท์ โรงเรียนอัสสัมชัญมาช่วยสอนภาษาอังกฤษ และโรงพัก สภอ.โคกขาม มาร่วมทำกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ ทำให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์ได้ดีขึ้น นำเอาความรู้ไปประกอบอาชีพได้ด้วย จนได้รับรางวัลระดับประเทศในปี 2563

 โรงเรียนบ้านหนองป่าก่อ จังหวัดเชียงราย

โรงเรียนบ้านหนองป่าก่อ ตั้งอยู่ที่อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นโรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ.อีกแห่งหนึ่ง ก่อตั้งในปี 2516 บนที่ดินบริจาค เนื้อที่ 12 ไร่ ปัจจุบันสอนตั้งแต่ อนุบาล 2 ถึง ป. 6 นักเรียนรวม 55 คน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 9 คน

โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ภายใต้การสนับสนุนและเป็นเครือข่ายของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) ในปี 2563  ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะและบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยจำกัด มีการปรับปรุงสวนเกษตรและจัดตั้งโรงเรือนสำหรับปลูกเมล่อน เพื่อพัฒนาการศึกษาและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียน บุคลากร รวมไปถึงผู้ปกครองและชุมชนในเขตบริการของโรงเรียน นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนเมื่อปี 2564 ปัจจุบันมีสมาชิก 115 คน เป็นนักเรียน 60 คน บุคลากรครู 10 คนและชุมชนชาวบ้าน 45 คน

โรงเรียนบ้านสันดาบและโรงเรียนบ้านป่าก่อ นับเป็นตัวอย่างของโรงเรียนรัฐขนาดเล็กที่ไม่ยอมจำนนหรือตั้งรับต่อนโยบายการควบรวมหรือยุบทิ้งของกระทรวงศึกษาธิการ ตรงข้ามพวกเขากำลังลุกขึ้นมาทำการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโรงเรียนของตน จากเดิมเป็นโรงเรียนที่สอนเด็กให้อ่านออกเขียนได้ มาสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนทุกวัยของชุมชน.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา / 2 พ.ค. 2565