“ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ : คนจนข้ามรุ่น ”  รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 153)

ในกระบวนการจัดทำสมุดปกขาว “ข้อเสนอการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ”  ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ส.ว. ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ 

รองประธานกรรมาธิการฯ ในอดีตท่านเคยเป็นเลขาธิการสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ก.ป.ร.) และ เคยดำรงตำแหน่งประธาน ป.ป.ช.

ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ท่านมองว่าความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ชี้ว่าความยากจนของประเทศลดลง จากร้อยละ 8.6 (ปี 2559) เหลือ 6.8 (ปี 2563) แต่ว่ารายได้ต่อหัวที่ตั้งเป้าหมายให้เพิ่มปีละ 15% ยังได้แค่ 4.6 เท่านั้น แผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 13 มีเป้าหมายทำให้ครอบครัวที่มีแนวโน้มยากจนและครอบครัวยากจนข้ามรุ่น สามารถขยับฐานะเศรษฐกิจและสังคมจนหลุดพ้นจากความยากจนไปได้อย่างยั่งยืน ภายในปี 2570

ท่านมองว่าความยากจนเป็นปัจจัยทางด้านโครงสร้าง โดยเฉพาะการกระจายผลประโยชน์จากความเจริญทางเศรษฐกิจที่ไปไม่ทั่วถึง ไม่ได้ถูกจัดสรรให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างพอเพียง เป็นการเติบโตเฉพาะกลุ่มข้างบน ข้างล่างไม่เติบโตด้วย ยิ่งมาเจอวิกฤติการณ์โรคระบาด เศรษฐกิจชะลอตัว ผลกระทบก็ไปตกอยู่ที่กลุ่มผู้เปราะบาง คนกลุ่มนี้จะหลุดไป เป็นปัญหาโครงสร้างของสังคม

ยากจนข้ามรุ่น 

ประเด็นความยากจนข้ามรุ่น ท่านอธิบายว่า เมื่อรุ่นพ่อยากจน ลูกขาดโอกาสทางการศึกษาและโอกาสทางสังคม ก็ยากจนต่อไป โจทย์คือทำอย่างไรความยากจนจะหลุดไปให้ได้ ท่านบอกว่าลักษณะของ 6 แสนครอบครัวที่มีความยากจนข้ามรุ่น คือ 70% ขาดเงินออม และ 80% มีการศึกษาต่ำ หัวหน้าครอบครัวเรียนถึงประถมแล้ว อยู่ในอาชีพเกษตรมากที่สุด และมีอาชีพรับจ้าง  ลูกหลานวัย 6 – 14 ปี ไม่ได้รับการศึกษาก็ยิ่งยากจน เพราะความยากจนทำให้เขาต้องออกโรงเรียนไป เข้าไปสู่ตลาดแรงงาน เป็นแรงงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะ รายได้ไม่พอ เป็นโครงสร้างที่ทำให้ยากจน

ความยากจนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา แม้มีระบบการศึกษาภาคบังคับ ก็ยังเข้าไม่ถึง แม้เข้าถึง โรงเรียนส่วนใหญ่ก็สอนแต่ท่องจำความรู้ ไม่เหมือนตัวอย่างโรงเรียนของท่านอาจารย์มีชัย วีระไวทยะ ที่ให้การศึกษาและพัฒนาทักษะต่างๆ ไปด้วย เด็กเรียนจบหรือไม่ ก็ทำงานเป็น มีสัมมาชีพ เอาตัวรอดได้ โรงเรียนทั่วไปไม่มีเลย ประโยชน์ที่คนจนจะได้จากบริการสาธารณะอื่นก็เข้าไม่ถึงอีก ขาดหลักประกันด้านสวัสดิการที่เพียงพอต่อความมั่นคงให้ชีวิต อันนี้เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ

ปัญหาการกระจายทางเศรษฐกิจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของรายได้ต่างกันประมาณ 16 เท่า กระทบมาที่การศึกษาของเด็ก ยังมีเรื่องหนี้ครัวเรือน เรื่องเงินออม ผู้ที่มีรายได้สูงย่อมมีโอกาสในการออมเงินและการลงทุนในสินทรัพย์มากกว่า  โดยร้อยละ 10 ถือครองสินทรัพย์มูลค่า 1 ใน 3 ของสินทรัพย์รวมทั้งประเทศ

ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่

ท่านชี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ความเจริญกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล รายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการค้า ส่วนภาคอีสานและภาคเหนือซึ่งมีจำนวนประชากรมากประมาณหนึ่งในสามของประเทศนั้น สัดส่วนรายได้มาจากภาคการเกษตร มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสองเท่า ต่ำกว่า กทม. 3-4 เท่า มีพื้นที่ยากจนซ้ำซาก เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติการระบาดของโควิดจึงยิ่งกระทบ

ตอนที่อยู่โครงการพระราชดำริฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ท่านทรงตั้งศูนย์ศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ให้แต่ละแห่งเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและให้ความรู้ให้ชาวบ้านได้เห็นจริง มีการฝึกอบรม พัฒนาและความรู้ทุกสาขา เรื่องข้าว ปศุสัตว์ ประมง ท่านเน้นเรื่องการเกษตร และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะองค์ความรู้และศักยภาพชาวบ้านในด้านเทคโนโลยี

อีกอย่างหนึ่งคือแหล่งทุน รวมทั้งความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจฐานราก ต้องใช้พลังเครือข่าย  บ้าน วัด โรงเรียน สร้างองค์ความรู้ให้ชุมชน พัฒนาศักยภาพและมูลค่าให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์สังคมและวัฒนธรรม ส่งเสริมกลไกการตลาดของท้องถิ่น สร้างความสมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภคในพื้นที่ สร้างรายได้จากตลาดภายนอกและสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลในการกระจายสินค้า 

คอร์รัปชั่นซ้ำเติม

สุดท้ายท่านฝากเรื่องคอร์รัปชั่นว่ายังเป็นปัญหาที่ซ้ำเติม ต้องสร้าง Integrity ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ แผนปฏิรูปประเทศให้ความสำคัญกับการป้องกันทุจริต จะต้องมีการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกระดับ ให้แจ้งทรัพย์สินทุกตำแหน่งไว้ที่หัวหน้าส่วนราชการ เก็บเอาไว้อ้างอิง ถ้ามีปัญหาหยิบมาดูได้ หรือส่งให้ ป.ป.ช. คล้ายเป็นการป้องปราม.

โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป, 12 พ.ย. 2565

 รายงานประชาชน (ฉบับที่ 153)