เชียงราย ถิ่นชาติพันธุ์

รายงานประชาชน (ฉบับที่ 33/2566)

เมื่อกลางเดือนมิถุนายน คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติของวุฒิสภา(ชุดใหญ่) ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายเพื่อดูสภาพปัญหาและแนวโน้มการฟื้นตัวในด้านต่างๆของพื้นที่ ภายหลังการระบาดของโควิด 19

” เชียงราย ถิ่นชาติพันธุ์ ” รายงานประชาชน ฉบับที่ 33/2566

แผนพัฒนาจังหวัด

จังหวัดเชียงรายได้รายงานว่า เชียงรายมีเศรษฐกิจขนาดกลาง คิดเป็นลำดับที่ 4 ของภาคเหนือ และลำดับที่ 29 ของประเทศ สาขาเศรษฐกิจสำคัญเป็นภาคบริการ ส่วนประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคการเกษตร  โครงสร้างแรงงานในจังหวัดมีแรงงานสูงอายุเพิ่มมากขึ้น แม้ในขณะนี้การท่องเที่ยวจะยังชะลอตัว แต่เศรษฐกิจฐานรากกลับมีแนวโน้มขยายขึ้น การค้าชายแดนเริ่มปรับตัวได้  มีสัญญาณการนำเข้าการส่งออกสินค้ามีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2566-2570 วางวิสัยทัศน์และตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาเอาไว้ว่า “เชียงรายเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์ วิถีถิ่นร่วมสมัย เกษตรกรรมมูลค่าสูง สิ่งแวดล้อมสมดุล มุ่งสู่ความยั่งยืน”   โดยมีแนวทางสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1)เมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์อารยธรรมล้านนา ที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน บนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือเชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง  2)เมืองเกษตรกรรมปลอดภัยและเกษตรมูลค่าสูง  3) เมืองชายแดนน่าอยู่ ท่ามกลางความหลากหลายด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ชาติพันธุ์หลากหลาย

พื้นที่ของจังหวัดเชียงรายมีกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ ทั้งตามที่ราบและบนดอยสูง รวมไม่ต่ำกว่า 30 ชาติพันธุ์ ชนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ล้วนมีศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปตามวิถีดั้งเดิมที่บรรพบุรุษได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา

“ศูนย์การเรียนรู้ 30 ชนเผ่า” หรืออาคารแสดงศิลปะการแต่งกาย 30 ชนเผ่าในเชียงราย ตั้งอยู่ภายใน “สวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ 75 พรรษา” ซึ่งในอดีตคือที่ตั้งของเรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย โดยเทศบาลนครเชียงรายได้ปรับภูมิทัศน์ให้เป็นสวนสาธารณะและพื้นที่ทางวัฒนธรรม อาคารเรือนคุมขังนักโทษหญิงซึ่งเป็นอาคารไม้เก่าแก่ถูกบูรณะและปรับให้เป็นอาคารที่รวบรวมศิลปะการแต่งกายของ 30 ชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

ด้วยความหลากหลายของชนเผ่า ทำให้ประชากรในจังหวัดเชียงรายมีความแตกต่างกันในด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม แต่ก็อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในผืนแผ่นดินไทยภาคเหนือตอนบน  เป็นฐานทุนสำคัญทางวัฒนธรรมวิถีชีวิต ทั้งสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวชุมชน

สามารถจำแนกออกเป็นชนชาติต่างๆ ได้แก่

1) ลื้อเชียงรุ้ง ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสาย อำเภอแม่สาย 

2) มูเซอดำ อยู่ในเขตดอยตุง ดอยจ้อง อำเภอแม่สาย

3) จีน มีหลายพวกหลายภาษา เช่น จีนแคระ ไหหลำ แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน  

4) ลัวะหรือละว้า อยู่ในเขตตำบลบัวสลี ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมือง  

5) ฮ่อ คือคนจีนจากมณฑลยูนนาน อยู่กระจัดกระจายในอำเภอแม่สาย เชียงของ ดอยช้าง ดอยผาหมี 

6) ไตยอง หรือ ยอง อาศัยอยู่อำเภอแม่จัน  

7) ลื้อเชียงคำ เดิมอพยพมาจากเมืองพง เมืองหย่วน เมืองมาง เมืองฮ้ง เมืองเชียงคาน เขตมณฑลยูนนานตอนใต้ มาอยู่ในเขตอำเภอเชียงคำ

8) ยางหรือกะเหรี่ยง อยู่ในเขตอำเภอเมือง แม่จัน แม่สรวย และเวียงป่าเป้า

9) ลาวอินโดจีน เป็นคนไทยเผ่าหนึ่ง อยู่ในเขตอำเภอเชียงแสน เชียงของ

10) อีก้อ หรือ อาข่า อาศัยอยู่ตามภูเขา อำเภอแม่จัน และแม่สรวย 

11) ลื้อห้วยเม็ง อยู่ในเขตอำเภอเชียงของ

12) ม้ง หรือ แม้ว อยู่ตามภูเขาต่างๆ เช่น ดอยช้าง ดอยผาหม่น ดอยหลวง

13) ไตหย่า อยู่บริเวณบ้านห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย

14) ต่องซู่ อพยพมาจากพม่ามาอยู่ที่อำเภอแม่สาย และแม่จัน

15) ไตเมืองเหนือ อยู่บริเวณหมู่บ้านสันมะแฟน ตำบลแม่จัน และอำเภอแม่สาย

16) ข่ามุ อยู่ที่บ้านห้วยข่อย ห้วยกอก และห้วยเอียน อำเภอเชียงของและเวียงแก่น  

17) ณวน อยู่ที่อำเภอเชียงของ

18) ลื้อแจ้ง อยู่บริเวณบ้านปอ ตำบลปอ บ้านท่าข้าม ตำบลม่วงยาย บ้านพร้าวกุด ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ 19) เย้า มาจากยูนนาน อยู่บนเขาอำเภอแม่จัน พาน เชียงของ

20) ยางแดง หรือกระเหรี่ยงแดง อยู่บริเวณบ้านโป่งพระบาท ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย

21) ม่าน ม่านคือชาวพม่าที่ชาวเหนือเรียก เข้ามาอยู่บริเวณอำเภอแม่สาย

22) ยางขาว หรือกระเหรี่ยงขาว พบได้บริเวณบ้านห้วยขม อำเภอเมืองเชียงราย

23) ลื้อน้ำอู อยู่บ้านท่าข้าม อำเภอเวียงแก่น

24) ไทยใต้ คือคนไทยที่เคยอาศัยอยู่ในภาคใต้ ขึ้นมาอยู่ที่เชียงราย โดยเป็นพ่อค้าหรือข้าราชการ

25) แขก คือแขกมลายู และแขกอินเดีย ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมือง 

26) ข่าฮอก เป็นชาวเขาเผ่าหนึ่งจากเชิงเขาในอินโดจีน อพยพมาอยู่ในเขตอำเภอเชียงของ

27) ไทใหญ่ หรือเงี้ยว อยู่ในเขตอำเภอเมือง แม่จัน และแม่สาย

28) ลีซอ อยู่ในเขตอำเภอแม่จัน (บ้านห้วยมะหินฝน) และอำเภอเมือง  

29) กุ่ย อยู่แถวอำเภอแม่สาย

30) เขิน หรือ ไตเขิน มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตสหรัฐไทใหญ่ มาอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สาย กระจายแต่ละหมู่บ้าน มีจำนวนมากที่ได้รับสัญชาติเป็นคนไทย.

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 11 กันยายน 2566