รายงานประชาชน ฉบับที่ 3 “แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ บริการสาธารณสุข ปี 2562”

โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุข

ในปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย มี 4 ระบบใหญ่  มีสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่แตกต่างกัน  ได้แก่

  1. ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการให้ความคุ้มครองแก่ข้าราชการและครอบครัวประมาณ 5 ล้านคน 
  2. ระบบประกันสังคมให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างหรือผู้ประกันตนประมาณ 10 ล้านคน 
  3. ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนที่นอกเหนือจาก 2 ระบบดังกล่าว ซึ่งมีเป็นจำนวนมากถึง 48 ล้านคน 
  4. ระบบซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทเอกชน จำนวนกรมธรรม์มากกว่า 4 ล้านฉบับ

ประสิทธิผลการจัดการปัญหาของประเทศ

ดูจากจำนวนสมาชิกและงบประมาณต่อหัวที่รัฐอุดหนุนในกองทุนแต่ละระบบ จะพบว่า

1) สมาชิกกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

  • ปี 2561 งบเหมาจ่ายรายหัวดูแลประชากร 48.79 ล้านคน จำนวน 111,179.08 ล้านบาท อัตราเฉลี่ยอยู่ที่จำนวน 3,197.32 บาทต่อคน
  • ปี 2562 งบเหมาจ่ายรายหัวดูแลประชากร 48.58 ล้านคน จำนวน 119,130.27 ล้านบาท อัตราเฉลี่ยอยู่ที่จำนวน 3,426.56 บาทต่อคน
  • ปี 2563 งบเหมาจ่ายรายหัวดูแลประชากร 48.26 ล้านคน จำนวน 123,917.82 ล้านบาท อัตราเฉลี่ยอยู่ที่จำนวน 3,600 บาทต่อคน

ทั้งนี้เงินงบประมาณที่ใช้จ่าย มาจากภาษีประชาชน ผ่าน“กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ภายใต้การดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยคำนวณเป็นงบประมาณต่อคนต่อปี เรียกว่างบเหมาจ่ายรายหัว  ในแต่ละปี สปสช.จะมีการจัดทำคำของบประมาณไปยังคณะรัฐมนตรี โดยประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีนั้นๆ และเมื่อได้รับมาก็จัดจ่ายไปยังสถานพยาบาลที่อยู่ในโครงการทั่วประเทศ

2) สมาชิกกองทุนประกันสังคม

  • ปี 2561 งบเหมาจ่ายรายหัวดูแลผู้ประกันตน  3,399.69บาท /คน/ปี จำนวน 11,599,338คน
  • ปี 2562 งบเหมาจ่ายรายหัวดูแลผู้ประกันตน3,399.69บาท /คน/ปี จำนวน 11,686,393 คน
  • ปี 2563 งบเหมาจ่ายรายหัวดูแลผู้ประกันตน 3,959 บาท /คน/ปี จำนวน 11,686,393 คน 

ทั้งนี้เงินที่ใช้จ่าย มาจากเงินสมทบจาก 3ส่วน คือ ผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล

3) สมาชิกสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (กรมบัญชีกลาง)

เป็นการจ่ายตามรายการรักษาที่หน่วยบริการเรียกเก็บกรณีผู้ป่วยนอก และจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมกรณีผู้ป่วยใน

  • ปี 2560 เบิกจ่ายรวม 73,658.86 ล้านบาท ทั้งนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 มีจำนวนข้าราชการพลเรือนสามัญ รวม 1,384,653  คน ( เฉลี่ย 53,376 บาท/คน/ปี)
  • ปี 2561 เบิกจ่ายรวมประมาณ 80,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีจำนวนข้าราชการพลเรือนสามัญ รวม 1,334,893 คน (เฉลี่ย 60,150 บาท/คน/ปี)

4) สมาชิกประกันสุขภาพระบบเอกชน

  • สถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556–2560) พบว่า ธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราเติบโตของเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละ 11.31 %  ในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2561 ธุรกิจประกันภัยมีเบี้ยประกันสุขภาพรวม 41,087.395 ล้านบาท และเบี้ยประกันสุขภาพจากการประกันชีวิต 36,060.35ล้านบาท 
  • ยอดเบี้ยประกันสุขภาพเติบโตถึง 11 % สูงกว่าประกันทั่วไป  และถือเป็นหนึ่งในประเภทของการประกันภัยที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด ณ สิ้นปี 2562 มีเบี้ยประกันสุขภาพประมาณ 8.2 หมื่นล้านบาท และจำนวนกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่มีผลบังคับใช้มีจำนวนมากกว่า 4 ล้านฉบับ  
  • ปัจจุบันคนไทยที่ทำประกันสุขภาพ มีสัดส่วน 7 % ของจำนวนคนไทยทั้งหมด

ข้อสังเกต  

  • ประเทศไทยอาจยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่อีกหลายประการ แต่ในด้านสาธารณสุขนับว่าประชาชนสามารถเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพที่หลากหลายทั้ง 4 ระบบอย่างครอบคลุม เกือบร้อยละ 100 จึงเป็นได้รับการยอมรับในหมู่ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ 
  • อย่างไรก็ตาม ยังมีความเหลื่อมล้ำในด้านการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนดำรงอยู่บ้างระหว่าง 3 กองทุนแรก รวมทั้งความแตกต่างในด้านคุณภาพการบริการ ซึ่งต้องการการปฏิรูปในด้านการบริหารจัดการต่อไป.