รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 71) “นำพาครัวเรือนยากลำบากให้หลุดพ้น”

เป้าหมาย

พุ่งเป้านำพาครัวเรือนยากจนและถูกทอดทิ้งในทุกจังหวัดทั่วประเทศก้าวพ้นความยากจน. มีหลักประกันในด้านปัจจัยสี่ พลังงานไฟฟ้าและน้ำสะอาด. เข้าถึงสวัสดิการรัฐและสวัสดิการชุมชน. มีกัลยาณมิตรและชุมชนเข้มแข็ง.

“นำพาครัวเรือนยากลำบากให้หลุดพ้น”

ครัวเรือนยากจน

ครัวเรือนยากจน คนด้อยโอกาสและคนที่ถูกทอดทิ้งมิได้มีอยู่เฉพาะในพื้นที่ยากจนเท่านั้น  หากมีแทรกอยู่ในชุมชนท้องถิ่นและทุกพื้นที่ทุกอำเภอ จังหวัดทั่วประเทศ  

ประเด็นสำคัญอันดับแรก คือ จะค้นหาและระบุตัวคนจนและครัวเรือนยากจนอย่างแม่นยำได้อย่างไร

เครื่องมือวัดความยากจนที่ทางราชการมีและใช้อยู่ อันได้แก่มาตรฐานเส้นความยากจน (Poverty Line)  กชช.2ค. และดัชนีวัดการพัฒนามนุษย์ (Human Achievement  Index – HAI)  มีประโยชน์ในด้านการกลั่นกรองและวินิจฉัยความยากจนในระดับชุมชน ท้องถิ่นและพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ แต่ไม่สามารถวัดความยากจนในระดับปัจเจกบุคลหรือครัวเรือนได้

จปฐ.น่าจะเป็นเครื่องมือที่พอจะใช้ประเมินระดับความยากจนของครัวเรือนได้อยู่บ้าง แต่ปัญหามักอยู่ที่กระบวนการจัดทำซึ่งไม่พิถีพิถันพอ และคุณภาพของตัวข้อมูลที่ได้มา  รวมทั้งความไม่สะดวกในการใช้งานจริงในภาคสนาม

ส่วนการขึ้นทะเบียนคนจน และ  TPMAP  ซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ของรัฐบาล มีประโยชน์ในการคัดกรองอย่างหยาบๆว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ  มักมีกลุ่มคนที่รวบรวมมามาก เพราะขีดวงให้กว้างเอาไว้ก่อน  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การจัดการต้องไปพบกับอีกปัญหาหนึ่ง คือเรื่อง “คนอยากจน” ที่มีจำนวนมาก และที่สำคัญคือมากกว่า “คนยากจน” อันเป็นเป้าหมายตัวจริงไปมาก เพราะคนยากจนตัวจริงโดยส่วนใหญ่มักอ่อนแอเกินกว่าจะเข้าถึงเครื่องมือและกระบวนการเหล่านี้

ดังนั้นวิธีการที่ดี สร้างการยอมรับและน่าเชื่อถือได้มากกว่า คือการใช้กระบวนการทางสังคม โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม ในลักษณะเดินสำรวจไปด้วยกัน ทำงานกันในรูปแบบทีมจิตอาสาที่ผสมผสาน และทำไปอย่างพร้อมเพรียงกันในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ตัวชี้วัดเชิงปฏิบัติการ

ตัวชี้วัดและเกณฑ์วัด “ครัวเรือนยากจน” และ “ผู้ยากลำบาก” ที่ใช้เป็นประเด็นในการประเมินร่วมกันระหว่างการปฏิบัตงานของทีมจิตอาสาที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว รวมทั้งการใช้ในเวทีประชาคม(ถ้ามี) อาจเรียกว่าเป็น “ตัวชี้วัดขาเข้า” ได้แก่

  • ขาดแคลนปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค 
  • ที่พักอาศัยไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนในเมือง และ กทม.)
  • ไม่มีสันติสุข ขาดความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนชายแดนใต้)
  • มีรายได้สุทธิ** ต่ำกว่า 83 บาท/คน/วัน 
  • ขาดกัลยาณมิตร-ชุมชนเข้มแข็ง

หมายเหตุ  รายได้สุทธิ** หมายถึง 

รายได้ หักด้วยรายจ่ายประเภทชำระหนี้สินประจำวัน ซึ่งเป็นส่วนรายได้ที่คนจนกลุ่มเป้าหมายจะต้องใช้จ่ายในการยังชีพประจำวัน  ซึ่งทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่ตัวเงินแต่สามารถประเมินด้วยมูลค่าผลผลิตหรือการหาอาหารได้มาเพื่อการยังชีพสำหรับ 1 วัน

พื้นที่ 3 แบบในการบริหารจัดการ

ตามแนวคิดและแนวทางของโครงการนี้  ทั้งกระบวนการค้นหากลุ่มครัวเรือนเป้าหมายและการแก้ไขพัฒนาล้วนต้องอาศัยทุนทางสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก  ส่วนงานประมาณและทุนด้านเงินตราเป็นเพียงปัจจัยหนุนเสริม

ในการบริหารจัดการ อาจแบ่งพื้นที่ทั่วประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม ตามภูมิวัฒนธรรม สถานการณ์และฐานทุนทางสังคม ได้แก่ 

      1)ครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดทั่วไป มี 73 จังหวัด  

      2)ครัวเรือนยากจนกรุงเทพฯ มี 50 เขต 2,100 ชุมชน 

      3)ครัวเรือนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส

เป้าหมายโดยรวม มุ่งนำพาให้ทุกครัวเรือนเป้าหมาย สามารถก้าวพ้นภาวะยากจน-ยากลำบากได้ด้วยความมั่นใจ

การพ้นสภาวะครัวเรือนยากจน

“ตัวชี้วัดขาออก”  ที่ใช้เป็นประเด็นและเกณฑ์ประเมินความหลุดพ้นจากภาวะ “ครัวเรือนยากจน” ทั้งในระหว่างและภายหลังการปฏิบัตงานของทีมจิตอาสา ได้แก่

  • มีหลักประกันในด้านปัจจัย 4 (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค) 
  • ที่พักอาศัยมีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนในเมืองและกทม.)  
  • มีสันติสุข ขาดความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนชายแดนใต้)
  • มีรายได้สุทธิ*** มากกว่า 100 บาท/คน/วัน 
  • มีกัลยาณมิตร-ชุมชนเข้มแข็ง

นพ.พลเดชปิ่นประทีป / 29 เม.ย. 2564