ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (1) : ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ

โดย พลเดช  ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา

เมื่อพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข มีบางประเด็นที่ต้องทบทวนให้เกิดความเข้าใจในทางวิชาการและข้อเท็จจริงให้ตรงกันเสียก่อน โดยเฉพาะในเรื่อง ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรม

ความยากจน (poverty) หมายถึง ความขาดแคลนในเชิงเศรษฐกิจซึ่งพิจารณาที่ระดับรายได้หรือฐานะทางเศรษฐกิจของบุคคลว่ามีรายได้ไม่เพียงพอกับการดํารงชีพได้ตามมาตรฐานขั้นตํ่า หรือมีรายได้ตํ่ากว่ามาตรฐานคุณภาพชีวิตขั้นตํ่าที่ยอมรับได้ในแต่ละสังคม 

นอกจากนั้น ในปัจจุบันความหมายของความยากจนยังได้รับการพิจารณาครอบคลุมไปถึงมิติอื่นที่มิใช่ตัวเงินอีกด้วย กล่าวคือการขาดแคลนที่อยูอาศัย ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ขาดโอกาสด้านการศึกษา ไม่มีงานทํา การไร้ซึ่งอํานาจต่อรอง ตลอดจนการตกอยู่ในความเสี่ยงและความหวาดกลัว 

ความยากจนสัมบูรณ์ (absolute poverty) หรือความยากจนข้นแค้น (destitution) หมายถึง บุคคลขาดแคลนสิ่งที่เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งโดยทั่วไปได้แก่น้ำดื่มและอาหารที่สะอาด ถูกโภชนาการ สาธารณสุข การศึกษา เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัยและยารักษาโรค มีการประเมินว่า ปัจจุบันยังมีประชากรทั่วโลกราว 1,700 ล้านคนอาศัยอยู่ในภาวะความยากจนสัมบูรณ์ 

ส่วนความยากจนสัมพัทธ์ (relative poverty) หมายถึง การขาดแคลนทรัพยากรหรือรายได้หรืออำนาจต่อรองตามปกติที่สังคมยอมรับ เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลอื่นในสังคมหรือประเทศ จนนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำในโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรหรือบริการสาธารณะ 

ในทางปฏิบัติ ความยากจนมักถูกวัดจากระดับรายได้หรือระดับการบริโภคของบุคคล โดยจะถือว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนจน ต่อเมื่อระดับรายได้หรือระดับการบริโภคของบุคคลนั้นๆ ตํ่ากว่าระดับรายได้หรือระดับการบริโภคขั้นตํ่าที่จะสามารถบริโภคสินค้าและบริการจําเป็นพื้นฐานได้ โดยจะเรียกระดับรายได้หรือระดับการบริโภคขั้นตํ่าดังกล่าวว่า “เส้นความยากจน” (World Bank, 2008) 

ทั้งนี้ เส้นความยากจน (poverty line) จะแสดงระดับรายได้หรือรายจ่ายขั้นตํ่าซึ่งเพียงพอต่อการซื้อหาสินค้าและบริการขั้นพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีพของประชาชน ดังนั้นคนจนจึงหมายถึงคนที่มีระดับรายได้หรือระดับรายจ่ายเพื่อการบริโภคตํ่ากว่าเส้นความยากจนนั่นเอง  

ในกรณีของประเทศไทย สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่ทําหน้าที่คํานวณเส้นความยากจน โดยจะคํานวณเส้นความยากจน ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปทุกๆ 2 ปี เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ.2531

สำหรับประเด็นของความเหลื่อมล้ำ (Inequality) ส่วนใหญ่มักเป็นการกล่าวถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ที่มีโอกาสกับผู้ที่ขาดโอกาส ซึ่งโอกาสในที่นี้คือโอกาสในการเข้าถึง ต่อรองและจัดการทรัพยากรต่างๆ ในสังคม 
 

ภาพรวมการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา เราสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ประชาชนมีงานทําและมีความมั่นคงในอาชีพมากขึ้น รายได้เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาความยากจนลดลงและประชาชนเข้าถึงบริการทางสังคมและสาธารณูปโภคอันเป็นปัจจัยจําเป็นพื้นฐานในการดํารงชีวิตได้มากขึ้น 

อย่างไรก็ดี ยังมีความไม่เท่าเทียมกันของประชาชนในกลุ่มและพื้นที่ต่างๆ เช่นคนในเมืองกับชนบทยังมีช่องว่างในการเข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ รวมทั้งการเข้าถึงสิทธิต่างๆของกลุ่มประชากรเฉพาะในสังคมที่ยังไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมไทย 

        จากสภาพปัญหาดังกล่าว อาจสรุปรูปแบบของความเหลื่อมล้ำในภาพรวมได้เป็น 3 รูปแบบ คือ 
          1.) ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งและรายได้ (Wealth & Income Inequality) ซึ่งเกิดจากการพัฒนาที่มีลักษณะไม่สมดุลหรือกระจุกตัวในบางพื้นที่หรือบางสาขาการผลิต ส่งผลให้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนากระจายไปไม่ทั่วถึง ทั้งในเชิงพื้นที่และกลุ่มบุคคล 
          2.) ความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายโอกาส (Opportunity Inequality) ของการเข้าถึงโครงสร้าง พื้นฐานและบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านการศึกษา การสาธารณสุข สวัสดิการสังคม และการเข้าถึงแหล่งทุนหรือปัจจัยการผลิต 
          3.) ความเหลื่อมล้ำด้านอํานาจ (Power Inequality) ทั้งด้านสิทธิทางการเมือง อํานาจต่อรองในการเข้าถึงทรัพยากรและการมีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบายและทิศทางในการพัฒนา ทั้งใน ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมและอาจเกิดการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ต่อกลุ่มที่มีอํานาจน้อยในสังคม

Credit Photo by https://www.nationweekend.com/content/columnist/9?news=106